Uncategorized

2020: ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงถึงจุดที่ไม่มีวันเหมือนเดิม (tipping point)

ผู้เขียนตั้งใจว่าจะสรุปรายงานเรื่อง ความเสี่ยงในปี 2020 (TOP RISK 2020) ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่ด้วยภารกิจด้านอื่นและสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ได้หันเหความสนใจ จนเวลาล่วงเลยมาถึงกลางปี แม้รายงานดังกล่าวได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยเป็นฉบับ CORONAVIRUS EDITION แต่ยังมีประเด็นที่น่าสนใจ สำหรับการศึกษาเพื่อจัดทำนโยบายหรือกลยุทธ์ จึงขอนำเสนอโดยสรุปดังนี้

รายงานฉบับแรกของ Eurasia Group เผยแพร่เมื่อ 6 มกราคม 2020 สรุปว่า เราอยู่ในโลกที่ระดับความเสี่ยงทางด้านภูมิศาสตร์การเมือง (geopolitical risk) เพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลาเกือบทศวรรษ โดยไม่มีวิกฤติระหว่างประเทศที่แท้จริง (ดูภาพประกอบ) นอกจากนั้น แนวโน้มวัฏจักรเศรษฐกิจและกระบวนการโลกาภิวัตน์ก็เอื้อประโยชน์อย่างมาก แต่จนถึงขณะนี้ปัจจัยดังกล่าวได้เปลี่ยนไปแล้ว

กระแสโลกาภิวัตน์ (globalization) คือ กุญแจ ลักษณะสำคัญของภูมิทัศน์ในยุคหลังสงคราม – ผู้คน ความคิด สินค้าและเงินทุนเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนได้อย่างรวดเร็ว กระบวนการดังกล่าวสร้างโอกาส ความมั่งคั่งและความเท่าเทียมเพิ่มขึ้นทั่วโลก (แม้จะสร้างความไม่เท่าเทียมในหลายประเทศ) ลดความยากจน ยืดอายุขัยของมนุษย์ ส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง

การแยกตัว (เปลี่ยนขั้ว) การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของจีนและสหรัฐฯ (decoupling) ทำให้ชิ้นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 แยกเป็นสอง ประเทศพัฒนาแล้วแตกแยกเป็นขั้วมากขึ้นเช่นเดียวกับอิทธิพลความเชื่อเรื่องเผ่าพันธุ์ (เอเชียกับตะวันตก) การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจและเทคโนโลยีการผลิตสินค้าและบริการ ซ้ำเติมการหดตัวของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ส่งผลให้โลกาภิวัตน์มีลักษณะแปลกแยก

แนวโน้มวัฏจักรทางเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์การเมืองในปัจจุบันเป็นช่วงขาลง (downward) เศรษฐกิจโลกหลังฟื้นตัวจากภาวะถดถอยครั้งใหญ่ในปี 2008 ขยายตัวอย่างยาวนานและกำลังอ่อนตัวลง นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดการณ์ว่า ในปี 2020 หรือปี 2021 เศรษฐกิจโลกจะประสบภาวะถดถอย การผงาดขึ้นของจีนในฐานะตัวแบบทางเลือก (alternative model) ทางการเมือง เศรษฐกิจและเทคโนโลยี ประกอบกับการเสื่อมถอยและการแทรกแซงของรัสเซียเป็นแรงผลักดันให้ภูมิศาตร์การเมืองโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย

ปัจจุบันเรากำลังเผชิญวิกฤติระดับโลกเป็นครั้งแรกของการถดถอยทางภูมิศาสตร์การเมือง เศรษฐกิจและโลกาภิวัตน์ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทำให้การเดินทางจากสหรัฐฯไปยุโรปและจีนกับการเดินทางจากประเทศอื่น ๆ ไปยุโรปหยุดชะงักลง การรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสร้างปัญหาให้กับการขนส่งสินค้าและบริการรวมทั้งเร่งการถดถอยของภูมิศาสตร์การเมือง

ขณะที่สหรัฐฯไม่ค่อยสนใจทำหน้าที่ในตำแหน่งกองหลังระหว่างประเทศ ส่วนจีนก็มุ่งแสวงประโยชน์จากภาวะสูญญกาศหรือพูดแบบกว้าง ๆ คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา นอกจากทำให้ทุกประเทศหันกลับไปมองปัญหาภายใน ยังเร่งการถดถอยของวัฏจักรเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์การเมืองตลอดจนการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalization)

สุดท้าย การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) เริ่มเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ อีกทั้งมีความสำคัญต่อการเมืองโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน (ไม่เหมือนแนวโน้มทางเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์การเมืองที่เป็นวัฏจักร ซึ่งจะเป็นไปในทางบวกไม่ช้าก็เร็ว) ปี 2020 เป็นจุดเปลี่ยนที่ไม่มีวันเหมือนเดิม (tipping point) เนื่องจากการผสานของเส้นกราฟแนวโน้มเชิงลบที่เราไม่เคยประสบมาก่อนในหลายชั่วอายุคน

ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมจะก่อให้เกิดวิกฤติระดับโลก แม้ภาครัฐและเอกชนมีทรัพยากรมากพอในการตอบสนองวิกฤติได้อย่างง่ายดายมากกว่าในอดีต แต่ความท้าทายก็มีขนาดใหญ่กว่า รวมทั้งความร่วมมือในระดับโลกถูกบ่อนเซาะจากการถดถอยของภูมิศาสตร์การเมือง ข้อสำคัญคือ เราต้องยอมรับว่าสภาวะแวดล้อมในปัจจุบันเป็นสิ่งที่เราไม่เคยประสบมาก่อนในช่วงเวลานับทศวรรษ

อีกไม่กีสัปดาห์ข้างหน้า โลกคงจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้ดียิ่งขึ้น แต่ความอ่อนแอของระเบียบทางภูมิศาสตร์การเมือง อันเป็นผลจากความชอบธรรมทางการเมืองภายในประเทศ ความเปราะบางของพันธมิตรระหว่างประเทศและดุลอำนาจโลกที่ขาดการปรับศูนย์ (alignment) สะท้อนฉากหลังของวิกฤติที่เราไม่เคบประสบมาก่อน มองไปข้างหน้าก็เห็นแต่ระเบียบโลกที่เราจะรับรู้เมื่อเราก้าวออกไปในที่สุด