บทความ

ต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ “เพิ่มทางออก” หรือ “เพิ่มปัญหา”

จากที่ 16 มีนาคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรง ในทุกเขตท้องที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกเว้น อำเภอแม่ลาน อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และ อำเภอสุคิริน ศรีสาคร สุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ออกไป 3 เดือน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม – 19 มิถุนายน 2564 ในวันนี้ เรามาย้อนเหตุการณ์สู่การบังคับใช้ และผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

          ย้อนรอย “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” พ.ศ. 2548 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

          จากจุดเริ่มต้นที่มีกลุ่มคนร้ายเข้าปล้นอาวุธปืน จากค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กองพันพัฒนาที่4 อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งต่อมาได้มีการก่อเหตุความรุนแรงรายวันโดยใช้กำลังประทุษร้าย ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตร่างกาย ทรัพย์สิน และสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้บริสุทธิ์ตลอดจนเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2548 เวลาประมาณ 19.00 น. ได้เกิดเหตุการณ์วางระเบิดเสาไฟฟ้าแรงสูงที่หน้าสถานีจ่ายไฟฟ้าบ้านพงยือไร ตำบลบันนังสาเร็ง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ทำให้เกิดไฟฟ้าดับในเขตเมืองทั้งหมด จากนั้นกลุ่มผู้ก่อเหตุร้ายได้ก่อเหตุทั่วเมืองยะลา ทั้งการวางระเบิด ขว้างระเบิดเพลิง และโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนเป็นเหตุให้มีตำรวจเสียชีวิต 2 นาย

          ความจำเป็นของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

          จากเหตุการณ์ดังกล่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีฉุกเฉิน ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2548 มีมติผ่านร่าง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเวลาต่อมา

          โดย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กำหนดให้ผู้มีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคือ นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เพื่อบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักร หรือในบางเขตบางท้องที่ ตามความจำเป็น แต่ในกรณีที่ไม่อาจขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีได้ทันท่วงที นายกรัฐมนตรีอาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปก่อน แล้วจึงมาดำเนินการเพื่อให้ได้รับความเห็นชอบ จากคณะรัฐมนตรีภายใน 3 วัน

          การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ใช้บังคับตลอดระยะเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 3 เดือนนับแต่วันประกาศ เว้นแต่ในกรณีจำเป็นต้องขยายระยะเวลา จะสามารถขยายเวลาการใช้กฎหมายนี้ไปได้อีกเป็นคราวๆ คราวละไม่เกิน 3 เดือน

          เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จึงได้ให้อำนาจแก่ เจ้าหน้าที่รัฐสามารถกระทำการต่าง ๆ ได้มากกว่ากฎหมายปกติในการรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัย และการรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้กลับสู่สภาพปกติได้โดยเร็ว โดยไม่ถือว่าขัดต่อหลักนิติธรรมและ หลักสิทธิมนุษยชน ตราบที่ยังคงใช้เท่าที่มีความจำเป็น

          ผลกระทบ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” พ.ศ. 2548 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

          ห้วงเวลากว่า 15 ปี ที่ได้มีการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีหลายฝ่ายทั้งนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน รวมถึง ประชาชนในพื้นที่ตั้งข้อสังเกตว่ากฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวมีลักษณะให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐมากกว่ากฎหมายปกติในการรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อแก้ไขสถานการณ์ความรุนแรงให้ยุติลงโดยเร็ว อีกทั้งยังกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยเห็นได้จากงานวิจัยผลกระทบ ดังนี้

          วสันต์ ชมพูศรี (2559) ได้ทำการศึกษา เรื่อง “การบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน” พบว่า กระบวนการก่อนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แม้ว่ากฎหมายกำหนดให้มีกลไกที่ช่วยในการตรวจสอบและกลั่นกรองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่การใช้ดุลพินิจและใช้อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นของฝ่ายบริหารเพียงผู้เดียว โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการดังกล่าว ซึ่งอาจใช้ดุลพินิจในการพิเคราะห์ข้อเท็จจริงของสถานการณ์ รวมถึงประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์จากหน่วยงานด้านความมั่นคงไม่มากพอ ตลอดจนยังขาดการพิจารณาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอย่างรอบคอบเท่าที่ควร และการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนหลายประการตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ อีกทั้งยังให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัญหาข้อเท็จจริงของการบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมายังขาดมาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนสะท้อนให้เห็นถึงการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินความจำเป็น จนนำไปสู่การกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

          ธานัท มิ่งทองคำ (2557) ได้ทำการศึกษา เรื่อง “การจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548” พบว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นการให้อำนาจฝ่ายบริหารอย่างเต็มที่ เป็นการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจนบางครั้งการดำเนินการต่าง ๆ ตามกระบวนการยุติธรรมอาจไปกระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ เช่น การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้ในอำนาจรัฐและเป็นการให้อำนาจรัฐบาลไว้อย่างกว้าง ๆ ไม่ลงรายละเอียดอย่างชัดเจน รวมทั้งไม่ได้ระบุถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องสงสัยไว้อย่างชัดเจน ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอีกทั้งตามพระราชกำหนดฯ ฉบับนี้บทบัญญัติในเรื่องการจับกุมและการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยบังคับให้เป็นไปตามพระราชกำหนดฯ ฉบับนี้ โดยเฉพาะยกเว้นเข้ากรณีตามบทบัญญัติมาตรา 12 ในเรื่องการควบคุมตัวที่หากเกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดฯ ฉบับนี้ มีข้อยกเว้นให้บังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่นนี้จะถือเป็นการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาหรือไม่ และขาดการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในการออกหมายจับ อันเป็นมาตรการบังคับที่กระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพประชาชน

          อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินถือว่ายังคงมีความจำเป็น เนื่องจากเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ที่มีความร้ายแรงอันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ในบางสถานการณ์อาจมีความจำเป็นที่จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดในการที่จะรักษาความมั่นคง ของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งอาจเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และ

          และเพื่อเป็นการป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจจนเกินขอบเขต ควรมีระบบตรวจสอบและถ่วงดุล การใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ของฝ่ายบริหาร ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้น้อยที่สุด

——————————————————————-

อ้างอิง :

1. วสันต์ ชมภูศรี. (2559) “การบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน”. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย:กรุงเทพฯ.

2. ธานัท มิ่งทองคำ. (2557) “การจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยตามพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548”. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์:กรุงเทพฯ.