ข่าวในประเทศ

ไฟใต้และเมืองพัฒนา เปลี่ยน “โอรังอัสลี” จากป่าสู่วิถีคนเมือง

ที่มาของภาพ : สำนักข่าวอิศรา (https://www.isranews.org/article/images/2021/south/3/chanae140320.jpg)

หัวหน้าเผ่าโอรังอัสลี บอกอีกว่า ที่ผ่านมาในป่าหาของกินยากมาก พวกตนออกไปหาอาหารตั้งแต่เช้ากลับค่ำๆ แล้วแต่ว่าจะเจอหัวมันหรือยอดไม้ ถ้าเจอวันนั้นก็มีอาหาร เอากลับมาเผากินกันกับครอบครัว แต่ถ้าวันไหนออกไปหาของกินไม่เจออะไรเลย ก็ต้องพยายามหาให้ได้ แม้ค่ำมืดก็ตาม ถ้าหาไม่ได้ทุกคนก็ต้องอด ซึ่งชีวิตแต่ละวันแบบเดิมของพวกตนก็มีเวลาแค่หาของกินก็หมดวันแล้ว แต่เดี๋ยวนี้พวกเรามีเวลาทำอย่างอื่นเยอะขึ้น

“ตอนนี้พยายามติดต่อพูดคุยกับคนอื่นๆ ที่อยู่ข้างในป่า มีอีก 200 กว่าคน ให้ออกมาอยู่กับพวกเรา บอกพวกเขาว่าให้ออกมาเถอะถ้าอยากสบายแบบนี้ ทุกวันนี้พวกเรามีความสุขมาก อยากมีความสุขก็ออกมา ถ้าอยากลำบากก็อยู่ในป่าต่อไป” หัวหน้าเผ่า กล่าว

ความเป็นอยู่ของชาวโอรังอัสลีที่บ้านตราเตาะปากู ต่างจากคนที่อยู่ในป่ามาก ภาพที่ชัดเจนต้องไปรอดูวันเสาร์ เพราะจะมีคนในป่าลงมาเรียนกับพวกเขา คนในป่าเนื้อตัวมอมแมม เนื่องจากไม่อาบน้ำ ใส่เสื้อผ้าชุดเดิมๆ ส่วนกลุ่มที่อยู่ในหมู่บ้านจะอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ทุกวัน

นอกจากชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม พวกเขายังได้รับการเรียนการสอน ทั้งในเรื่องภาษาและศาสนา เนื่องจากชาวโอรังอัสลีกลุ่มนี้เข้ารับอิสลาม

นายมูฮัมหมัดยาแอะ มะ อีหม่ามบ้านมูบาแรแน ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ กล่าวว่า หลังจากเข้ารับอิสลาม ชาวโอรังอัสลีก็อยู่กับคนมุสลิม ขณะนี้ละหมาดเป็นแล้ว เรียนหนังสือ 3 วันต่อหนึ่งสัปดาห์ จะสอนเขาเป็นภาษายาวี สอนให้เขาเขียน 1 ชั่วโมง เรียนกุรอ่าน 45 นาที สอนวิธีละหมาด 40 นาที สอนเรื่องมารยาท 20 นาที

“สิ่งที่กังวลและหวังมากตอนนี้คือการให้อาชีพที่มั่นคงในระยะยาว ตอนนี้พวกเขากำลังทำสวนของตัวเอง 20 ไร่ ปลูกยาง ปลูกผลไม้ แต่ถ้ารัฐจะช่วยให้เขาเลี้ยงไก่ ถือเป็นสิ่งที่ดี เขาจะได้ไม่ต้องมากินปลากระป๋องและม่ามาทุกวัน อีกเรื่องที่กำลังดำเนินการและหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่รัฐทำบัตรประชาชนให้พวกเขา ทางกลุ่มคนโอรังอัสลีอยากใช้นามสกุล ‘ศรีช้างเผือก’ เหมือนที่โอรังอัสลีที่ อ.ธารโต จ.ยะลา มีนามสกุลศรีธารโต” อิหม่ามบ้านมูบาแรแน กล่าว

ด้าน นายซอบรี ลาเตะ อายุ 46 ปี ผู้บริจาคที่ดินให้ชาวโอรังอัสลีอยู่และทำกิน เล่าให้ฟังว่า แรกๆ เมื่อ 9 เดือนก่อน พวกเขาลงมาประมาณ 15 คน มาของานทำ บอกว่า จะขอแลกกับใบจากและยาเส้น ก็บังเอิญทำข้าวต้มเยอะ ก็ยกให้เขากินคนละถ้วย เมื่อได้ของเขาก็กลับเข้าป่า นานๆ ครั้งเขาจะลงมาอีก จนตอนหลังก็ลงมาบ่อยๆ กระทั่งพักค้างคืนและมาอยู่ด้วยกัน

ทุกวันนี้พวกเขาตัดยางในที่สวนของที่บ้าน เป็นสวนบนเขาไม่รู้กี่ไร่ เขากรีดยาง 10 วันก็จะได้ 1,000 บาท ทำขี้ยางราคาถูก เขากรีดยางกัน 4 ครอบครัว ก็จะได้ครอบครัวละ 1,000 บาท และจ้างถางป่าอีก รวมทั้งเก็บผลไม้ ก็ประมาณค่าจ้างแล้วจ่ายตามที่คุยกัน ส่วนเงินที่เขาได้ เขาก็เอาไปใช้จ่าย เอาไปกินก๋วยเตี๋ยว มีรถจักรยานยนต์ 2 คัน ใช้ขับออกไปตลาดบ้าง ไปข้างนอก แล้วแต่เขาอยากไป

นายชุมศักดิ์ นรารัตน์วงค์ นักวิจัยชุมชน กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดที่สำรวจโดยนักมนุษยวิทยาที่นราธิวาส พบว่า ชาวโอรังอัสลี ใน อ.จะแนะ กับ อ.ศรีสาคร รวมกันแล้วจะมีประมาณ 5 กลุ่ม ฝั่ง อ.เบตง อ.ธารโต จ.ยะลา มี 7 กลุ่ม รวมประชากรประมาณ 500 คน ส่วนฝั่งเทือกเขาบรรทัด ฝั่งนครศรีธรรมราช สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง รวมกันแล้ว 10 กว่ากลุ่ม ประมาณ 500 คน ซึ่งคนกลุ่มนี้เหลืออยู่โดยเฉลี่ยประมาณ 1,000 คน ประชากรจะขึ้นๆ ลงๆ เพราะคนกลุ่มนี้จะอายุไม่ยืนยาว เนื่องจากเขาใช้ชีวิตอยู่ในป่า มีเรื่องสุขภาวะ เรื่องสุขภาพหลายอย่าง

จากวิถีเก่าเขาอยู่ในป่า แต่ในทุกวันนี้วิถีเขากำลังได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของคนเมือง ไม่ว่าจะเป็นจากเอกชน ภาคประชาชน หรือภาครัฐ ป่าไม่ถูกทำลาย สัตว์ป่าถูกล่า ซึ่งคนเหล่านี้เคยดำรงวิถีชีวิตอยู่ด้วยการหาของป่า ล่าสัตว์ ทำให้ประสบปัญหาอาหารหายากขึ้น มีการรุกทำเป็นป่ายางพารา ทำให้เขาต้องหนีเข้าป่าลึกและหาอาหารยากขึ้น สุดท้ายเขาต้องปฏิสัมพันธ์กับคนเมืองเพื่อมาขออาหาร บางกลุ่มใช้วิธีแลกเปลี่ยนกัน หาของป่า น้ำผึ้งป่า สมุนไพรมาขาย บางคนก็รับจ้างกรีดยาง รับจ้างถางป่า

นักวิจัยชุมชน กล่าวอีกว่า สถานการณ์ความไม่สงบก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พวกเขาต้องหนีเข้าเมืองด้วย กลุ่มคนเหล่านี้มีตั้งแต่สมัยที่เกิดพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทาง จ.ตรัง มีปัญหาชัดเจน ทำให้คนเหล่านี้เสียชีวิต เหมือนโดนลูกหลง โดนเข้าใจผิด หน่วยงานความมั่นคงไปตรวจคิดว่าเป็นฐานของกลุ่มคอมมิวนิสต์ ก็ไปยิงเขา ทำให้เขาเสียชีวิตไปจำนวนหนึ่ง

“หลายครั้งจะเข้าไปเก็บข้อมูล มีการปะทะระหว่างแนวร่วมกับหน่วยงานกับความมั่นคง ทำให้เขาจำเป็นต้องหนี เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ ซึ่งถ้าไปดูข้อมูลก่อนหน้านี้ ทำไมหมู่บ้านซาไก ที่ อ.ธารโต ทุกวันนี้เหลืออยู่ครอบครัวเดียว ที่เหลือย้ายไปทางมาเลเซียหมด หนึ่งในเหตุผลนอกจากการดำรงชีวิตที่ไม่แน่ไม่นอน การดูแลจากภาครัฐไม่เต็มที่แล้ว ก็คือปัจจัยความไม่สงบที่ทำให้วิถีประจำวันของเขาได้รับผลกระทบ”

นักวิจัยชุมชน กล่าวทิ้งท้ายว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของคนกลุ่มนี้ คือการเลือกระหว่างการอนุรักษ์กับการพัฒนา เขาจะเลือกเอง ถ้าเขารับการพัฒนาสมัยใหม่ อัตลักษณ์วิถีดังเดิมของเขาจะถูกทำลาย ในขณะเดียวกันถ้าเขาจะรักษาอัตลักษณ์เก่า เขาก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เนื่องจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป นี่คือโจทย์สำคัญสำหรับคนกลุ่มนี้…

และอาจจะเป็นโจทย์ของคนกลุ่มอื่น สังคมอื่นด้วยเหมือนกัน เพียงแต่ปัจจัยแห่งการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันเท่านั้นเอง
—————————————————————-
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา (https://www.isranews.org/article/south-news/documentary/96801-orangaslichanae.html)