บทความ

อ่านกุรอานข้ามคืน ประเพณีเก่าแก่ที่ยังถูกสืบสานของชาวอินโดฯบนเกาะชวา

ที่มารูปภาพ : https://www.islammore.com/images/quran/quran-4567.jpg

เราต่างรู้กันดีว่ารอมฎอนเป็นเดือนที่อิสลามส่งเสริมให้อ่านอัลกุรอาน แต่เชื่อหรือไม่ว่าในอินโดนีเซีย ชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งจะยกระดับการอ่านอัลกุรอานยามค่ำคืนให้แอ๊ดวานซ์ขึ้น ด้วยการอ่านตั้งแต่หลังละหมาดตะรอเวียะห์ในช่วงค่ำ ไปจนถึงอาหารซะฮูรในตอนรุ่งสาง และเชื่อกันว่าทำอย่างนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ คริสต์ศตวรรษที่ 16

ประเพณีการอ่านกุรอานข้ามคืนนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ Miqran ซึ่งนิยมทำกันในหลายพื้นที่ของจังหวัดทางตะวันตกของเกาะชวา เชื่อกันว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในเซรัง (Serang) เมืองหลักของจังหวัดบันเติน (Banten) ที่ในอดีตเคยเป็นเมืองท่าสำคัญและเป็นที่ประทับของสุลต่านแห่งบันเติน ซึ่งก่อตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 16 โดย Sunan Gunungjati หนึ่งในนักเผยแผ่ศาสนาคนสำคัญที่นำศาสนาอิสลามมาสู่เกาะชวา
เชื่อกันว่าคำว่า Miqran นั้นมาจากภาษาอาหรับคำว่า iqra (อิกเราะอฺ แปลว่าอ่าน) ซึ่งเป็นคำแรกของอัลกุรอานที่พระผู้เจ้าประทานให้กับศาสนทูตมุฮัมมัด

ตูบากุส อะฮ์หมัด ไฟซอล อับบาส (Tubagus Ahmad Faisal Abbas) ลูกหลานของสุลต่าน เมาลานา ฮาซานุดดิน (Maulana Hasanuddin) ผู้ปกครองคนที่สองของรัฐสุลต่านบันเติน เล่าให้ฟังว่า “ในสมัยก่อนชุมชนใช้เสียงการอ่านอัลกุรอานจากมัสยิดเพื่อวัดเวลาที่เหลือสำหรับอาหารซะฮูร ตราบใดที่ยังมีเสียง Miqran นั่นหมายความว่ายังมีเวลารับประทานอาหาร”

อับบาสและสมาชิกในครอบครัวของเขาเป็นผู้ดูแลพื้นที่ขนาด 12 ไร่ของมัสยิดที่สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 และคณะกรรมการบริหารของมัสยิดจะเป็นผู้คัดเลือกชายหนุ่มที่ต้องการมีส่วนร่วมในพิธี Miqran แต่ละมัสยิดในย่านนี้จะเลือกชายหนุ่มคน 8 – 16 คนเพื่อผลัดเปลี่ยนกันอ่านอัลกุรอานตลอดทั้งคืน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงทักษะและความเชี่ยวชาญในการอ่านอัลกุรอาน

อย่างไรก็ตาม ไม่มีบันทึกชัดเจนว่าประเพณีนี้เริ่มต้นเมื่อไหร่ แต่อับบาสบอกว่าพิธี Miqran นี้มีมาหลายชั่วอายุคนแล้ว

ด้าน ลุกมานุ้ล ฮากีม (Lukmanul Hakim) หัวหน้าสำนักงานประจำจังหวัดบันเตินของกระทรวงศาสนา เล่าให้ฟังอีกเวอร์ชั่นหนึ่งว่า พิธี Miqran นี้อาจเกิดขึ้นมาในยุคสมัยปัจจุบันที่มัสยิดเริ่มใช้ไมโครโฟนแล้ว เพราะคำว่า Miqran นั้นอาจมาจากการผสมคำว่า Mic ที่หมายถึงไมโครโฟน กับคำว่า Quran ที่หมายถึงคัมภีร์อัลกุรอานก็เป็นได้

แต่ฮากีมก็ไม่ปฏิเสธคุณงามความดีของพิธีนี้ โดยเขาบอกว่า “เท่าที่รู้ประเพณีนี้มีมาตั้งแต่ผมยังเด็ก เป็นประเพณีที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมได้อ่านอัลกุรอานจบเล่มในช่วงเดือนรอมฎอน และบางคนก็สามารถอ่านจบได้ถึงสามหรือสี่ครั้งเลยทีเดียว

“ถือเป็นความดีที่ชาวมุสลิมทุกคนต้องการจะทำให้ได้ในช่วงเดือนแห่งความสุขนี้” เขากล่าวเสริม

ที่มา1 : https://arab.news/vhezc
ที่มา2 : https://www.facebook.com/halal.life.magazine/posts/3975273822530007