บทความ

รากเหง้าปัญหาปาเลสไตน์-อิสราเอล


ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเกลียดชังที่นำไปสู่การเข่นฆ่าและการจองล้างจองผลาญซึ่งกันและกันไม่เว้นแต่ละวัน คงทำให้หลายต่อหลายคนอดที่จะนึกสงสัยไม่ได้ว่า ต้นเหตุความขัดแย้งระหว่างชาวอาหรับและชาวยิวนั้นมีความเป็นมาอย่างไร อะไรที่เป็นชนวนก่อให้เกิดเปลวเพลิงแห่งความเคียดแค้นที่ยังคงลุกโชนมาถึงทุกวันนี้ แม้เวลาจะผ่านไปแล้วกว่า 80 ปีก็ตาม

บางคนสรุปเป็นทฤษฎีง่าย ๆ ว่า ความอาฆาตพยาบาทระหว่างกลุ่มชนสองเผ่าพันธุ์นี้มีพื้นฐานมาจากความขัดแย้งทางศาสนา ซึ่งทำให้ยากต่อการเยียวยาแก้ไข แต่หากพิจารณาอย่างครอบคลุม โดยใช้รากฐานทางประวัติศาสตร์และความเชื่อทางศาสนาเป็นข้อมูลประกอบแล้ว จะพบว่าทฤษฎีความขัดแย้งทางศาสนาไม่น่าจะถูกต้องเสียทีเดียว

เพราะอย่างน้อยในทัศนะอิสลามถือว่า ทั้งชาวยิวและชาวคริสเตียนที่ยังคงนับถือศาสนาดั้งเดิมของตนโดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ล้วนเป็น “ชาวคัมภีร์” (People of the Book) หรือเป็นกลุ่มชนที่เชื่อในคัมภีร์ ซึ่งพระเจ้าประทานลงมาเป็นแนวทางให้แก่มนุษยชาติ ผ่านทางศาสนทูตในแต่ละยุคแต่ละสมัย ซึ่งชาวคัมภีร์เหล่านี้ย่อมได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพจากอิสลาม

แม้แต่ในประวัติศาสตร์อิสลามเอง หลังจากที่พิชิตนครเยรูซาเล็มได้ในศตวรรษที่ 7 ก็ปรากฏว่าผู้นำอิสลามในสมัยนั้น โดยเฉพาะ คอลีฟะฮ์ อุมัร อิบนฺ ค็อฏฏอบ ก็ได้ให้สิทธิอันเท่าเทียมแก่ชาวคริสเตียนและชาวยิว ทั้งในแง่ของการดำรงชีวิตและการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

เช่นเดียวกันกับวัฒนธรรมของชาวยิวในยุคก่อน ๆ ที่ไม่เคยอาฆาตมาดร้ายต่อชาวมุสลิม ยกเว้นก็แต่เฉพาะชาวยิวบางคนบางกลุ่มเท่านั้น ที่เชื่อในความเหนือกว่าทางชาติพันธุ์ของตนเอง โดยปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ด้วยความมีอคติ

เพราะฉะนั้น ความเชื่อที่ว่าความเกลียดชังซึ่งกันและกันในปัจจุบันเกิดจากความขัดแย้งที่มีพื้นฐานมาจากศาสนา จึงเปรียบเสมือนม่านบังตาที่ทำให้หลายฝ่ายเกิดความท้อแท้ที่จะหาทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

ความขัดแย้งในประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ที่เราเห็นความเป็นไปในปัจจุบัน อาจต้องย้อนรากเหง้ากลับไปดูที่ คำแถลงการณ์บัลโฟร์ (Balfour Declaration) ซึ่งมีชื่อเรียกตามนามของรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษสมัยนั้น คือ เซอร์ อาร์เธอร์ เจมส์ บัลโฟร์ (Sir Arthur James Balfour) คำแถลงการณ์บัลโฟร์นี้ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอังกฤษในเดือนตุลาคม 1917

ใจความของคำแถลงการณ์ตอนสำคัญมีความว่า

“รัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพิจารณาด้วยความเห็นชอบ ในการตั้งถิ่นฐานสำหรับพวกยิวขึ้นแห่งหนึ่งในประเทศปาเลสไตน์ และจะใช้ความพยายามจนสุดความสามารถที่จะอำนวยความสะดวกต่อการบรรลุถึงวัตถุประสงค์ข้อนี้ เป็นที่เข้าใจอย่างแจ้งชัดว่า จะไม่มีการปฏิบัติการใด ๆ อันเป็นผลร้ายต่อสิทธิพลเรือนและการนับถือศาสนา ของหมู่ชนที่มิใช่ชาวยิวในประเทศปาเลสไตน์ หรือสิทธิและสถานภาพทางการเมืองที่พวกยิวได้รับในประเทศอื่น”

เพื่อที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจมากขึ้น และเพื่อความเป็นกลางในการนำเอาบทแถลงการณ์บัลโฟร์ข้างต้นไปวิเคราะห์ต่อไป จึงมีความจำเป็นที่เราจะต้องสืบสาวราวเรื่องเหตุการณ์สำคัญๆ ก่อนที่แถลงการณ์บัลโฟร์จะถูกประกาศและมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย

ความมีอยู่ว่าเมื่อราว ๆ ค.ศ. 1915 มีการติดต่อกันทางจดหมายระหว่าง เซอร์ เฮนรี่ เมคมาฮอน (Sir Henry McMahon) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอียิปต์ กับ ชารีฟ ฮุสเซน (Sharif Hussein) ผู้ครองแคว้นฮิญาชและเป็นตัวแทนของชาวอาหรับทั้งผอง ข้อใหญ่ใจความของจดหมายระบุว่า เมคมาฮอนพยายามเกลี่ยกล่อมให้ชาวอาหรับสนับสนุนฝ่ายมหาอำนาจพันธมิตร สู้รบกับฝ่ายมหาอำนาจอักษะในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยสัญญาจะให้เอกราชแก่ชาวอาหรับในทุก ๆ ดินแดนหลังจากสงครามยุติลง รวมถึงปาเลสไตน์ด้วย ด้วยเหตุนี้ อังกฤษจึงได้ลงนามในข้อตกลงแองโกล-อาหรับในฤดูใบไม้ร่วงปี 1915 นั่นเอง

คำสัญญาดังกล่าวทำให้ ชารีฟ ฮุสเซน เข้าร่วมรบกับกองทัพฝ่ายพันธมิตร ขณะเดียวกัน ชาวอาหรับจากซีเรีย เลบานอน และปาเลสไตน์ ก็เข้าร่วมลุกฮือขึ้นก่อกบฎต่อต้านอาณาจักรออตโตมานที่ประกาศเข้าร่วมสงครามในนามฝ่ายอักษะ ชาวอาหรับยินดีต้อนรับกองทัพอังกฤษที่เข้ามาในปาเลสไตน์ เปรียบทหารอังกฤษเหล่านั้นเป็นเสมือนผู้มาปลดปล่อยให้พวกเขามีอิสรภาพหลังจากต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของตุรกีมานานเกือบ 500 ปี

แต่แล้วชาวอาหรับก็ถูกหักหลัง เพราะไม่เพียงแต่อังกฤษจะไม่รักษาคำมั่นสัญญาเท่านั้น แต่ยังไปสนับสนุนองค์กรยิวไซออนิสต์ให้จัดตั้งรัฐยิวขึ้นในปาเลสไตน์ โดยไม่ได้ปรึกษาหารือกับชาวอาหรับเจ้าของดินแดนแต่ประการใดทั้งสิ้น อีกทั้งยังออกมาตรการต่าง ๆ ขึ้นมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวยิวได้อพยพเข้ามาในแผ่นดินปาเลสไตน์แบบไม่จำกัดจำนวน

ในเวลานั้น ประชากรของประเทศปาเลสไตน์ทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 700,000 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 90 หรือประมาณ 600,000 คนเป็นชาวอาหรับมุสลิม ซึ่งครอบครองดินแดนถึงร้อยละ 90 ที่เหลืออีกร้อยละ 10 เป็นที่อยู่อาศัยของชาวยิว ซึ่งมีประชากรอยู่ประมาณ 70,000 คน

พอมาถึงปี1947 ที่รัฐยิวถูกสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการ ปรากฏว่าประชากรยิวเพิ่มขึ้นถึง 600,000 คน ซึ่งนับเป็น 1 ใน 3 ของประชากรในดินแดนปาเลสไตน์ทั้งหมด หรือมีการเพิ่มขึ้นของประชากรยิวถึงร้อยละ 725 เลยทีเดียว สัดส่วนของการครอบครองที่ดินก็เปลี่ยนไปมาก อันนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อชุมชนอาหรับท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายขององค์กรยิวไซออนิสต์ ที่ปฏิเสธการจ้างงานชาวอาหรับปาเลสไตน์

อย่างไรก็ตาม คำประกาศบัลโฟร์ไม่น่าจะมีผลบังคับใช้ในทางกฎหมายได้ด้วยเหตุผลสำคัญ 3 ประการ คือ

ประการแรก คำประกาศบัลโฟร์เป็นข้อความที่มีเนื้อหาตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับการรับประกันถึงเอกราชของชาวอาหรับที่ถูกสัญญาไว้ในการติดต่อระหว่าง เมคมาฮอน กับ ฮุสเซน (McMahon – Hussein Correspondence) ซึ่ง เมคมาฮอน เองเป็นผู้เชื้อเชิญชาวอาหรับให้เข้าเป็นพันธมิตรสู้รบในสงคราม คำประกาศบัลโฟร์จึงเท่ากับเป็นการหักหลังชาวอาหรับแบบซึ่ง ๆ หน้า

ประการที่สอง แถลงการณ์บัลโฟร์ มีการร่างขึ้นภายใต้การปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดกับองค์กรที่มีเป้าหมายหลักในการสถาปนารัฐยิวขึ้นมาในปาเลสไตน์ โดยใช้วิธีการบังคับให้ผู้ที่มิใช่ชาวปาเลสไตน์อพยพย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ในประเทศ ซึ่งเป็นการทำลายสิทธิของชาวปาเลสไตน์อย่างใหญ่หลวง และเป็นสิ่งตรงข้ามกับคำสัญญาของมหาอำนาจ (สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษ) ก่อนที่จะได้รับชัยชนะในสงครามโลก ที่ว่าจะยึดมั่นในสิทธิขั้นพื้นฐานในการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง (Right to Self Determination) ของประชาชนท้องถิ่นในแต่ละดินแดนที่เป็นอาณานิคมของตน

ประการที่สาม ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งคือ แถลงการณ์บัลโฟร์มีการประกาศใช้ในขณะที่ดินแดนปาเลสไตน์ โดยทางนิตินัยแล้ว ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออตโตมานอยู่ ดังนั้น อังกฤษจึงไม่มีสิทธิที่จะออกคำประกาศใด ๆ มาบังคับใช้ในดินแดนที่ยังไม่ได้อยู่ในเขตปกครองของตนเอง

ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ แผนการยึดครองดินแดนของขบวนการยิวไซออนิสต์ไม่ใช่ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากชาวยิวทั่วโลก ดังจะเห็นว่าเมื่อแถลงการณ์บัลโฟร์ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอังกฤษ คำแถลงการณ์นี้ถูกคัดค้านอย่างดุเดือดโดย Sir Edwin Montagu ซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษเชื้อสายยิวที่ประจำอยู่ในอินเดีย

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วแถลงการณ์บัลโฟร์ก็ถูกผนวกเข้าไว้ในระบอบการปกครองแบบอาณัติในปาเลสไตน์ ภายใต้อำนาจการอารักขาดูแลจากจักรวรรดินิยมอังกฤษตามมติที่ออกมาโดยองค์การสันนิบาตชาติ และจากจุดนี้เองที่พัฒนามาจนเป็นประเทศอิสราเอลในปี 1947 จนทำให้ตะวันออกกลางกลายเป็นดินแดนมิคสัญญีอย่างที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

บทความโดย : ดร.ศราวุฒิ อารีย์
ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย