บทความ

10 ปีหลังการตายของบินลาเดน: อัล-ไคดายังอยู่ดีหรือไฉน?

          2 พฤษภาคม 2011 เป็นวันครบรอบ 10 ปีการตายของ Osama bin Laden ผู้นำอัล-ไคดา จากปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯในเมืองอับบอตตาบัด ปากีสถาน สถานภาพของอัล-ไคดาเสื่อมทรามลงอย่างมาก แต่ยังไม่พ่ายแพ้ รายงานประมาณการข่าวกรองบางฉบับชี้ว่า กลุ่มก่อการร้ายนี้ยังคงมีนักรบในสังกัดประมาณ 40,000 คนทั่วโลก การถอนทหารสหรัฐฯออกจากอัฟกานิสถานอาจช่วยฟื้นชีวิตอัล-ไคดา เช่นเดียวกับที่สหรัฐฯถอนตัวออกจากอิรักในปี 2011 นำไปสู่การปรากฎขึ้นของกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ปัจจุบันอัล-ไคดายังคงเป็นภัยคุกคามและอาจกระจายตัวหลังการถอนทหารสหรัฐฯ[1]

          ปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯต่อเป้าหมายเจาะจงอย่างโจ่งแจ้งเมื่อ 2 พฤษภาคม 2011 ที่เมืองอับบอตตาบัด ปากีสถาน เพื่อสังหารบุคคลซึ่งรับผิดชอบการโจมตี 9/11 ก่อให้เกิดความรู้สึกมองโลกในแง่ดีอย่างมาก ในห้วงเวลาขณะนั้น การลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลซึ่งเรียกว่า “Arab Spring”[2] ได้แพร่ขยายไปทั่วแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง โดยเป็นสัญญาณความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยสงครามและความรุนแรง แต่การประกาศแผนการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานภายใน 11 กันยายน 2021 ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน[3] มีผลตอบรับในแง่ดีเพียงเล็กน้อย

          ประธานาธิบดีไบเดนประกาศว่า “เหตุผลที่เราคงอยู่ในอัฟกานิสถานเริ่มไม่ชัดเจน” อัล-ไคดา “ถูกทำให้เสื่อมลง แต่ยังไม่พ่ายแพ้” ลักษณะของอัล-ไคดาเป็นเพียงเครื่องเตือนใจถึงเหตุผลที่เรายังคงอยู่ในอัฟกานิสถาน การสูญเสียผู้นำซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษเมื่อทศวรรษก่อนไม่ได้ทำลายล้างกลุ่มที่คร่าชีวิตชาวอเมริกันเกือบ 3,000 คนและผู้บริสุทธิ์ทั่วโลกอีกนับไม่ถ้วนในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง

ผู้นำอัล-ไคดาถูกทำลายลงด้วยโดรนที่ตามล่าสังหารผู้ก่อการร้ายระดับสูงในโซมาเลีย ปากีสถานและเยเมน ความสามารถในการปฏิบัติการภายนอกและโจมตีที่น่าตื่นตลึงของอัล-ไคดาลดลงอย่างเห็นได้ชัด ความบาดหมางยาวนานระหว่างกลุ่มนักรบญิฮาดนำไปสู่การแยกตัวของอัล-ไคดาและรัฐอิสลาม อย่างไรก็ดี อัล-ไคดาได้พิสูจน์ตัวเองถึงความคงทนและการปรับตัวได้ดี ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจว่าพวกเขาพยายามเล่นเกมยาวมาโดยตลอด

          รายงานประมาณการข่าวกรองบางฉบับระบุว่า อัล-ไคดายังมีนักรบในสังกัด 30,000 – 40,000 คน ทั่วโลก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเครือข่ายพันธมิตรในภูมิภาค Sahel และจงอยแอฟริกาได้สร้างแรงผลักดันที่สำคัญ ในมกราคม 2020 กลุ่มก่อการร้ายอัล-ชาบับโจมตีค่ายซิมบาในมันดาเบย์ เคนยา สังหารกำลังพลสหรัฐฯ 1 นายและผู้รับเหมาชาวอเมริกัน 2 คน จากนั้นในธันวาคมปีเดียวกัน กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯประกาศว่าผู้ปฏิบัติการชาวเคนยาของกลุ่มอัล-ชาบับถูกจับกุมในฟิลิปปินส์ด้วยข้อหา “สมคบกันจี้เครื่องบินเพื่อโจมตีสหรัฐฯแบบ 9/11”

อัล-ดาในคาบสมุทรอาหรับ (AQAP) เครือข่ายก่อการร้ายในเยเมนถูกทำให้อ่อนเปลี้ยลง แต่ยังคงสามารถปฏิบัติการได้ AQAP แสดงเจตนาที่จะโจมตีเป้าหมายการบินอย่างต่อเนื่อง และรับผิดชอบการโจมตีระดับสูงหลายครั้งในซาอุดีอาระเบียในปี 2019 AQAP มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีสังหารทหารเรือสหรัฐฯ 3 นายที่ฐานทัพในเพนซาโคลา มลรัฐฟลอริดา ความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ในเยเมนเป็นโอกาสให้กลุ่มก่อการร้ายแสวงประโยชน์จากความไม่สงบ

          อัล-ไคดาได้ปรับกลยุทธ์ใหม่ โดยมุ่งเน้นการรุกคืบในกลุ่มชนเผ่าในท้องถิ่น ควบคุมและแสวงประโยชน์จากความทุกข์ยากในพื้นที่และรัฐที่ล้มเหลวรวมทั้งดินแดนที่ไม่สามารถควบคุมได้ เมื่อมีโอกาสก็จะนำเสนอวาระระดับโลก บรูซ ฮอฟฟ์แมน นักวิเคราะห์ด้านการต่อต้านการก่อการร้ายได้ตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่สหรัฐฯและพันธมิตรมุ่งเน้นการรื้อถอนรัฐคอลิฟะห์ของรัฐอิสลาม (IS) ส่วน อัล-ไคดา ดำเนินกลยุทธ์ “ซุ่มสร้างเครือข่ายใหม่ทั่วโลกอย่างเงียบ ๆ และอดทน”

การถอนทหารสหรัฐฯออกจากอัฟกานิสถาน อาจชุบชีวิตใหม่ให้อัล-ไคดา แบบเดียวกับที่สหรัฐฯถอนตัวออกจากอิรักในปี 2011 ตามกำหนดการและตารางเวลา (ไม่ใช่เพราะเงื่อนไขในพื้นที่) ซึ่งนำไปสู่การเกิดขึ้นของกลุ่ม IS รายงานล่าสุดของสหประชาชาติชี้ให้เห็นว่าอัล-ไคดามีนักรบในสังกัดหลายร้อยคนในอัฟกานิสถาน แต่หลังจากการถอนตัวของสหรัฐฯ กลุ่มตอลิบานมีศักยภาพเข้าครองพื้นที่ทางทหารขนาดใหญ่ของอัฟกานิสถานและอัล-ไคดาอาจฉวยโอกาสที่จำเป็นในการเติบโต

          กลุ่มตอลิบานไม่เคยแตกหักกับอัล-ไคดา ทั้งในทางเปิดเผยหรือส่วนตัว นักรบอัล-ไคดายังคงฝังตัวอยู่ในกลุ่มตอลิบาน นอกจากการเป็น “แกนกลาง” หรือ “ศูนย์กลาง” การดำเนินงานในอัฟกานิสถานและปากีสถาน อัล-ไคดายังมีสาขาอื่น ๆ ในเอเชียใต้รวมถึงอินเดีย หากอัฟกานิสถานเข้าสู่สงครามกลางเมืองอีกครั้ง กลุ่มตอลิบานจะต้อนรับนักรบต่างชาติเข้ามาหนุนหลัง เอเชียใต้จะดึงดูดนักรบญิฮาดทั่วโลก หากไม่มีกองกำลังสหรัฐฯปรากฏตัวอยู่ในพื้นที่ สหรัฐฯและพันธมิตรจะต้องพึ่งพากลยุทธ์ต่อต้านการก่อการร้ายจากนอกประเทศซึ่งมีข้อจำกัดอย่างมาก

          ข่าวลือแพร่สะพัดมาหลายเดือนว่า Ayman al-Zawahiri ผู้นำคนปัจจุบันของอัล-ไคดาเสียชีวิตแล้ว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมผู้นำระดับสูงของอัล-ไคดาถูกกำจัดรวมถึง Hamza bin Laden บุตรชายของ Osama และ Abu Muhammad al-Masri ผู้คร่ำหวอดมานาน หลายคนเชื่อว่า Saif al-Adel ว่าที่ผู้นำคนใหม่พำนักอยู่ในอิหร่าน ความตายของ Osama bin Laden ถือเป็นก้าวสำคัญของสหรัฐฯ แต่ชัยชนะทางยุทธวิธีไม่ควรสับสนกับวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์

            เราไม่ควรหลอกตัวเองว่าความตายของ bin Laden เป็นสัญญาณการสิ้นสุดของอัล-ไคดาหรือขบวนการญิฮาดทั่วโลก สหรัฐฯเข้าสู่สงครามอัฟกานิสถานในปี 2001 เพื่อทำลายกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่รับผิดชอบการโจมตีบนแผ่นดินอเมริกันที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ หนึ่งทศวรรษหลังการตายของ Osama bin Laden อัล-ไคดายังคงเป็นภัยคุกคามซึ่งอาจกระจายตัวหลังการถอนตัวของสหรัฐฯ ประธานาธิบดีไบเดนมุ่งหวังว่า อัล-ไคดาจะถูกจำกัดการเคลื่อนไหว แต่ประวัติศาสตร์มักพิสูจน์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น

ที่มา : https://www.ianalysed.com/2021/05/10.html


[1] 10 YEARS AFTER BIN LADEN’S DEATH: WHAT IS THE CURRENT STATE OF AL-QAEDA? INTELBRIEF Friday, April 30, 2021 Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/10-years-after-bin-ladens-death-what-is-the-current-state-of-al-qaeda?e=c4a0dc064a

[2] al-Thawrat al-Arabiyyah (ภาษาอาหรับ) หรือการปฏิวัติดอกมะลิ (Jasmine Revolution) เริ่มต้นขึ้นในปี 2010 ณ ประเทศตูนิเซีย (Tunisia) เมื่อพ่อค้าขายผัก-ผลไม้เร่ชื่อ มุฮัมมัด อัลบูอะซีซี (Mohamed Al-Bouazizi) ถูกตำรวจหญิงไล่ตี ด่าทอและยึดรถเข็นไป มุฮัมมัดเป็นคนจนหาเช้ากินค่ำ เมื่อถูกเจ้าหน้าที่รัฐรังแกจึงไปร้องทุกข์กับผู้พิพากษาแต่ไม่ได้รับการเหลียวแล ความคับแค้นทำให้มุฮัมมัดเผาตัวตายกลางถนน ผู้คนถ่ายคลิปวิดีโอและแชร์ผ่านโซเชียลมีเดียออกไปทั่ว นำไปสู่การล่มสลายของผู้นำเผด็จการในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ สืบค้นที่ เว็บไซต์แวววากย์วาที https://vaewvakyvadi.com/arab-spring/

[3] Biden will withdraw all U.S. forces from Afghanistan by Sept. 11, 2021 By Missy Ryan and Karen DeYoung Washington Post April 14, 2021 Available at: https://www.washingtonpost.com/national-security/biden-us-troop-withdrawal-afghanistan/2021/04/13/918c3cae-9beb-11eb-8a83-3bc1fa69c2e8_story.html