ปรัชญ์ พิมานแมน : ศิลปินหนุ่มที่หวังฟื้นคืนชีวิตให้เมืองนราธิวาสด้วยสุนทรียะและอาร์ตสเปซ
อ.ปรัชญ์ พิมานแมน เกิดที่กรุงเทพฯ แต่ย้ายตามครอบครัวไปอยู่นราธิวาสตั้งแต่เด็ก เรียนอนุบาล ประถม และมัธยมที่นราธิวาส ก่อนจะไปต่อปริญญาตรีด้านศิลปะที่ มอ.ปัตตานี ปัจจุบันกำลังทำปริญญาเอกด้านศิลปะอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ควบคู่ไปกับการเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่ มอ.ปัตตานี
นอกจากจะยึดอาชีพเป็นครูบาอาจารย์ถ่ายทอดวิชางานศิลป์ให้กับคนรุ่นถัดไปแล้ว อ.ปรัชญ์ยังมีความฝันที่จะทำอีกหลายอย่างที่หวังจะช่วยฟื้นฟูชีวิตให้กับเมืองนราธิวาสที่เขาเติบโตและอยู่อาศัย หนึ่งในนั้นคือการทำอาร์ตสเปซที่ชื่อ เดอลาแป อาร์ตสเปซ
อาร์ตสเปซแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองนราธิวาส โดยอ.ปรัชญ์ได้ปรับปรุงบ้านเก่าที่คุณพ่อของเขาสร้างเอาไว้นำมาทำเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่ประกอบไปด้วย พื้นที่จัดแสดงศิลปะร่วมสมัย พื้นที่จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ และคาเฟ่ที่เสิร์ฟกาแฟเกรดคุณภาพคู่กับขนมหวานพื้นบ้านขึ้นชื่อของเมืองนราธิวาสอย่างอาเก๊าะ ที่ช่วยสะท้อนภาพการอยู่ร่วมกันระหว่าง ความเก่า/ใหม่ และความเป็นนอก/เป็นใน ของอาร์ตสเปซแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
อาร์ตสเปซเป็นของใหม่ในสังคมไทยที่ใครหลายคนอาจยังไม่เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของมัน และยิ่งเข้าใจยากขึ้นไปอีกเมื่อมาตั้งอยู่ในเมืองนราธิวาสที่ถูกจัดอันดับว่าเป็นหนึ่งในเมืองยากจนที่สุดของประเทศ และนั่นยิ่งเป็นความท้าทายของคนทำ
“มันก็เป็นความท้าทายเหมือนกันว่าถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ ในเมื่อเราเรียนศิลปะมาแล้วเราจะอยู่กับมันให้ยาวได้ยังไง ถ้าเป็นเมื่อก่อนคนอาจจะคิดว่า คุณไม่เจ๋งจริงหรือเปล่า คุณไปที่อื่นไม่ได้หรือเปล่า คุณถึงกลับมาอยู่นราธิวาส กลับมาอยู่บ้าน มาทำอะไรง่ายๆ คือถ้าทุกคนคิดแบบนั้นนราธิวาสจะไม่เปลี่ยนไปเลย 20 ปีที่แล้วเป็นยังไงตอนนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น เพราะไม่มีใครกลับมาทำ แต่ถ้าคนที่มีศักยภาพกลับมาทำอะไรที่บ้าน มันอาจทำให้คนอื่นกลับมาทำด้วย ผมก็เลยกลับมาแสวงหาโอกาส โดยการสร้างคนดู(ศิลปะ)ในพื้นที่ก่อน”
อ.ปรัชญ์เข้าใจและยอมรับว่างานศิลปะร่วมสมัยเป็นของใหม่สำหรับนราธิวาส เขาจึงพยายามทำให้อาร์ตสเปซของเขาอธิบายศิลปะให้คนพื้นที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทิ้งตัวตนและความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน
“งาน (ศิลปะ) ที่นี่มันมีเอกลักษณ์ที่ค่อนข้างชัด เพราะศิลปินส่วนใหญ่ก็ยังสลัดคราบของการพูดถึงเหตุการณ์ (ความรุนแรง) ไม่หลุด ซึ่งมันก็เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียนะ ข้อดีก็คือมันบอกได้ชัดเลยว่ากลิ่นอายแบบนี้เป็นงานจากที่ไหน มันจะเป็นงานแบบคอนเทมโพรารี่ด้วย คือมันไม่ใช่แค่การเขียนลายสวยๆ แต่มันพูดถึงไอเดีย พูดถึงการสร้างสรรค์ ความน่าแปลกใจ แล้วมันก็พูดด้วยความรู้สึก คนข้างนอกดูที่ชอบจนถึงขั้นร้องไห้ก็มี อิน รู้สึกสงสาร รู้สึกเศร้า นั่นคือคนทำประสบความสำเร็จแล้ว แต่บางคนที่ไม่ชอบแล้วเดินออกไปเลยก็มี อาจเป็นเพราะมันให้ความรู้สึกลบ คือมันสีดำ มืดมน มันดูเศร้าหมอง แต่ที่จริงมันก็มีงานเศร้าที่ขาวสว่างเหมือนกันนะ เป็นงานออกแนวความหวังต่อเหตุการณ์ การภาวนาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อให้ตัวเองอยู่กับมัน และนำมันไปสู่สิ่งที่ดีกว่า”
อ.ปรัชญ์บอกว่าปัจจัยที่ส่งผลให้ศิลปินในพื้นที่มักสื่อสารเรื่องราวของเหตุการณ์ความรุนแรงนั้นไม่ได้มีแค่เพียงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความรุนแรงโดยตรงเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นจากบรรยากาศของความกลัวที่ปกคลุมพื้นที่ชายแดนใต้มานับสิบๆ ปี
“ความรู้สึกของคนในพื้นที่มันก็เกิดจากหลายปัจจัยนะ เช่นใครจะโดนตรวจบ้าง โดนตรวจด้วยอะไร ลองใส่กะปิเยาะห์(หมวกใส่ละหมาด) ไว้เคราแล้วเป็นยังไง ใส่สูทเป็นยังไง มันก็เคยมีคนลองดูนะ อีกด้านหนึ่งมันเหมือนเราอยู่กับมันจนชิน แต่ความชินก็ไม่ใช่เรื่องดีนะ พอโตขึ้นผมรู้สึกว่าความชินไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ความชินอย่างนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น เราไม่ควรชินกับการโดนตรวจโดนถามทุกวัน เราไม่ควรชินกับเรื่องไม่ปกติ”
“ที่จริงผมก็เพิ่งมารู้สึกตอนโตแล้วนะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันทำให้เราต้องเปลี่ยนอะไรไปหลายอย่าง ตอนเป็นเด็กเราก็ไม่ได้สนใจมัน ช่วงเกิดเหตุการณ์(ความไม่สงบ)ใหม่ๆ เราก็แค่หวาดกลัวตามข่าว ตอนนั้นอยู่ประมาณ ม.4 เริ่มใช้ชีวิตยากขึ้น เช่น ปกติเล่นสเก็ตบอร์ดกลับบ้าน 5 ทุ่ม เที่ยงคืน แต่นี่ 2 ทุ่มต้องรีบแยกย้ายกลับบ้าน ก่อนหน้านี้ก็เหมือนต่างจังหวัดทั่วไป ต้องขี่มอเตอร์ไซค์เล่นเป็นกิจวัตรประจำวัน 5 โมงเย็นขับวนรอบเมือง ไปกินขนม กินน้ำเต้าหู้ แล้วค่อยกลับบ้าน ถามว่าตอนนี้จะกลับไปทำแบบนั้นได้อีกไหม ก็ยังทำได้เป็นช่วงๆ แต่พอมีเหตุการณ์ปุ๊ปทุกอย่างก็จะดาวน์ก็จะเงียบๆ สักพักทุกอย่างก็กลับมาเหมือนเดิม วนไปวนมาแบบนี้ทุกครั้ง”
ถึงแม้จะอยู่ภายใต้บรรยากาศของความหวาดกลัวและความรุนแรง แต่อ.ปรัชญ์ก็ไม่คิดว่าอาร์ตสเปซของเขาจำเป็นต้องพูดเพียงแค่เรื่องสันติภาพและความรุนแรง
“เรื่องเหตุการณ์มันก็เป็นสิ่งที่ต้องพูดแต่ผมก็ไม่ได้ไปโฟกัสตรงนั้น ผมมองว่ามันยังมีเรื่องอื่นๆ อีก ถ้าเรามองแบบนี้ตลอดเมืองก็ไม่โต ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ที่รวมตัวกันทำอะไรด้านบวกก็สำคัญพอๆ กับการเรียกร้องสันติภาพนะ”
นั่นทำให้ เดอลาแป อาร์ตสเปซ ที่เขาปลุกปั้นมีงานและกิจกรรมที่พูดถึงประเด็นหลากหลาย เพื่อนำพาผู้คนก้าวข้ามบรรยากาศของความหวาดกลัวที่เกิดจากความรุนแรงและความไม่สงบในพื้นที่
“เราอยากทำอะไรที่มันสนุกไม่ตึงเครียด แล้วก็ทำให้เมืองมันโต ประเด็นหลักที่ผมคิดตอนนี้คือ ทำยังไงให้เมืองมันเดินไปข้างหน้าสักที โอเค ด้านเศรษฐกิจมันอาจไปได้ แล้วด้านอื่นล่ะมันจะเดินไปด้วยกันได้หรือเปล่า ทำไมต้องเรียนแค่หมอ ทั้งๆ ที่แฟชั่นก็เติบโตได้ เราพยายามทำให้สังคมเห็นว่าการเป็นศิลปินมันไม่ได้แย่กว่าการเป็นหมอ การเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ไม่ได้แย่กว่าการเป็นวิศวกร เราอยากให้สังคมเข้าใจว่า หากคุณเคารพในอาชีพที่คุณทำแล้วคุณจะทำมันได้ดีเอง”
ที่มา : https://www.facebook.com/halal.life.magazine/posts/4155744061149648