บทความ

Macramé จากภูมิปัญญาการถักเชือกของอาหรับในอดีตสู่ปัจจุบัน


โรคระบาดอย่างโควิด-19 ทำให้หลายคนต้องกักตัว งดออกจากบ้าน เปลี่ยนมา Work from Home หรือแม้แต่กระทั่งเรียนออนไลน์ เหล่านี้ย่อมส่งผลให้ด้านลบต่ออารมณ์และจิตใจไม่มากก็น้อย และนั่นทำให้หลายคนมองหางานอดิเรกที่จะช่วยแก้เบื่อและเพลิดเพลินจิตใจ

นอกจากการกระแสสีเขียวที่ทำให้หลายคนหันมาเลี้ยงต้นไม้สวยงามแล้ว งานอดิเรกคลาสสิคอย่างงานฝีมือก็ยังคงเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของคนที่มองหางานอดิเรกอยู่เสมอ และหนึ่งในงานฝีมือที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงเวลานี้คงหนีไม่พ้นการถักเชือกแบบ Macramé

Macramé (มาคราเม่) คือศาสตร์การถักหรือมัดเชือกให้เป็นลวดลายต่างๆ สามารถถักออกมาเป็น ของแต่งบ้าน เครื่องประดับ กระเป๋า หรือของตกแต่งแต่งอื่นๆ หรือจะถักเป็นกระถางไว้แขวนต้นไม้เก๋ๆ ควบคู่ไปกับเทรนด์การเลี้ยงต้นไม้ก็เข้ากันได้แบบไม่เคอะเขิน

ความนิยมใน Macramé เคยพุ่งขึ้นสูงสุดมาแล้วครั้งหนึ่งในช่วงทศวรรษที่ 70 ในยุคสมัยแห่งการแสวงหาเสรีภาพของเหล่าฮิปปี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านั่นคือจุดกำเนิดของศาสตร์การถักและมัดเชือกนี้ เพราะประวัติศาสตร์การถือกำเนิดของ Macramé นั้นย้อนหลังกลับไปถึงดินแดนอาหรับในศตวรรษที่ 13 โน่นเลยทีเดียว

ว่ากันว่า Macramé นั้นมาจากคำภาษาอาหรับว่า مكرمية (มักรอเมียะห์) ที่หมายถึงส่วน “ขอบ” หรือส่วน “ปลาย” ของผ้าทอ โดยชาวอาหรับถักส่วนปลายที่เหลือของเชือกหรือเส้นด้ายของผ้าเป็นปมและลวดลายต่างๆ ที่นอกจากจะให้ความสวยงามแล้วการถัก Macramé ของชาวอาหรับสมัยก่อนยังมีไว้สำหรับช่วยไล่แมลงที่มักมาตอมอูฐและม้าของพวกเขาอีกด้วย

ถึงแม้จะเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ความละเอียด แต่ในอดีต Macramé กลับได้รับความนิยมในหมู่ผู้ชายชาวอาหรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักเดินเรือทางทะเลที่ศาสตร์การผูก มัด และถักเชือก เป็นหนึ่งในทักษะสำคัญที่นักเดินเรือจำเป็นต้องมี การเดินทางในมหาสมุทรอันไพศาลทำให้นักเดินเรือเหล่านี้มีเวลาว่างเป็นแรมเดือน พวกเขาจึงแก้เบื่อด้วยการถัก Macramé จนลวดลายซับซ้อนขึ้น และการนำไปใช้งานก็หลากหลายมากขึ้นเช่นเดียวกัน

เมื่อเรือของพวกเขาเทียบท่าตามท่าเรือของแผ่นดินที่อยู่ไกลออกไปทั้งอินเดีย แหลมมลายู หรือแม้แต่แผ่นดินจีน หลายต่อหลายครั้งเหล่านักเดินเรือก็ได้นำ Macramé ของพวกเขาขึ้นฝั่งไปขายหรือแลกเปลี่ยนกับผู้คนต่างวัฒนธรรม และนั่นทำให้ภูมิปัญญาการถักเชือกของชาวอาหรับกระจายไปพื้นที่อื่นของโลก

นักเดินเรือไม่ได้เป็นเพียงคนกลุ่มเดียวที่นำศาสตร์และภูมิปัญญาของชาวอาหรับเดินทางไปยังดินแดนอื่น เพราะในฝั่งยุโรปนั้น Macramé ก็เดินทางผ่านไปทางรัฐอิสลามในสเปน กระทั่งเข้าไปแพร่หลายในหลายเมืองหลายอาณาจักรของชาวยุโรป จนกลายเป็นงานอดิเรกยอดนิยมของผู้หญิงอังกฤษในสมัยราชินีวิกตอเรีย ซึ่งสะท้อนให้เห็นในของตกแต่งหลายอย่างในยุคสมัยนั้น เช่นผ้าปูโต๊ะ ผ้าม่าน และผ้าคลุมเตียง

การเดินทางไกลจากบ้านเกิดทั้งระยะทางและกาลเวลาของ Macramé ศาสตร์การถักเชือกจากภูมิปัญญาของชาวอาหรับ สะท้อนให้เห็นภาพอีกด้านของมนุษย์โลกที่อาจต่างวัฒนธรรม ต่างความเชื่อ และบางเวลาอาจถึงขั้นเป็นศัตรูคู่ขัดแย้ง แต่หลายครั้งเรากลับเห็นความเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน และหยิบยืมต่อยอดองค์ความรู้จากภูมิปัญญาระหว่างกันเสมอมา

อ้างอิง : The History of Macrame Is in Fact Fascinating – https://bit.ly/3gR24ck
ที่มา : https://www.facebook.com/halal.life.magazine/photos/a.191901920867235/4159108950813159/