บทความ

การสังหารประธานาธิบดีเฮติอย่างอุกอาจด้วยฝีมือกลุ่มมือปืนรับจ้าง

กลุ่มมือปืนรับจ้างบุกเข้าสังหารประธานาธิบดีโฌเวแนล โมอิส แห่งประเทศเฮติจนถึงแก่ชีวิตอย่าง อุกอาจที่บ้านของเขาในกรุงปอร์โตแปรงซ์เมื่อเช้ามืดวันพุธผ่านมานี้ (7 ก.ค.) และได้ยิงภริยาของประธานาธิบดีบาดเจ็บสาหัสไปด้วย แต่ก็ได้รับการรักษาพยาบาลปลอดภัยแล้ว

ทันทีหลังจากที่ทราบข่าว นายกรัฐมนตรีรักษาการคล็อด โจเซฟ ได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน 15 วันและอ้างว่าเขาคือผู้กุมอำนาจสูงสุดในประเทศเฮติแทนประธานาธิบดีโมอิส

แต่เนื่องจากนายคล็อด โจเซฟ ได้ขึ้นรักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังจากที่นายโจเซฟ ฌูธ อดีตนายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งในเดือน เม.ย. ปีนี้และประธานาธิบดีโมอิสประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมาก่อนหน้าที่จะถูกสังหารเพียง 2 วันว่าจะแต่งตั้งนายอาเรียล อองรี ศัลยแพทย์ระบบประสาทเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่นายอองรี ยังไม่ได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งในตอนที่นายโมอิสถูกลอบสังหารทำให้เป็นปัญหาใหญ่ต่อไปเพราะนายอาเรียล อองรี ได้ออกแถลงการณ์ว่าเขาคือผู้สืบทอดอำนาจต่อจากประธานาธิบดีโมอิสต่างหากแต่ในช่วง 15 วันของการประกาศภาวะฉุกเฉินนี้ดูเหมือนว่านายคล็อด โจเซฟ จะยังคงกุมอำนาจการบริหารบ้านเมืองอยู่

เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ 8 ก.ค. ที่ผ่านมาทางผู้บัญชาการตำรวจเฮติ แถลงข่าวพร้อมกับนำผู้ต้องสงสัย 17 รายมาร่วมในการแถลงข่าวโดยแสดงหลักฐานที่มีทั้งหนังสือเดินทางโคลอมเบีย ปืนไรเฟิลจู่โจม มีดวิทยุสื่อสาร และอุปกรณ์ เช่น กรรไกรตัดเหล็กและค้อนพร้อมกับระบุว่า ทีมสังหารนี้ประกอบด้วยชาวโคลอมเบีย 26 คน และอเมริกันเชื้อสายเฮติอีก 2 คน

ทีมสังหารที่บุกเข้าสังหารประธานาธิบดีถึงในบ้านของประธานาธิบดีนี้ล้วนแต่พูดภาษาอังกฤษและสเปนในขณะที่ประเทศเฮติใช้ภาษาฝรั่งเศสและครีโอลเฮติเป็นภาษาราชการจึงเป็นที่สังเกตให้ประชาชนช่วยแจ้งเบาะแสต่อตำรวจ ซึ่งตามรอยผู้ต้องสงสัยไปถึงบ้านหลังหนึ่งในเขตเปชิยงวีล ทางเหนือของเมืองหลวงปอร์โตแปรงซ์ จนเกิดการยิงปะทะกันเมื่อคืนวันพฤหัสบดี

สำหรับพวกที่โดนจับกุมแล้วนั้นประกอบด้วยชาวโคลอมเบีย 15 คน และชาวอเมริกันเชื้อสายเฮติ 2 คน คนร้าย 3 คนโดนวิสามัญฆาตกรรม ตำรวจกำลังตามล่าอีก 8 คนที่เหลือ

อนึ่งทางการประเทศโคลอมเบียแจ้งว่า การตรวจสอบเบื้องต้นมีหลักฐานว่า ผู้ต้องสงสัยชาวโคลอมเบียที่เข้าร่วมการสังหารครั้งนี้มีอย่างน้อย 6 คนเป็นอดีตทหาร และทางประเทศโคลัมเบียจะให้ความสนับสนุนการสอบสวนอาชญากรรมอันอุกอาจในเฮติอย่างเต็มที่ ส่วนผู้ต้องสงสัยชาวอเมริกันเชื้อสายเฮติ 2 คน คือนายเจมส์ โซลาจส์ อายุ 35 กับนายโจเซฟ แวงซองต์ อายุ 55 ปี

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นพลเมืองอเมริกันหรือไม่ ขณะเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับเฮติ (เฮติเป็น 1 ใน 15 ประเทศในโลกที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน) ได้แถลงว่า ผู้ต้องสงสัย 11 คนโดนจับกุมภายในบริเวณสถานทูตของไต้หวัน หลังจากกลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้บุกเข้ามาภายในสนามหญ้าของสถานทูต

ทางสถานทูตได้อนุญาตให้ตำรวจเฮติเข้าไปปฏิบัติการภายในสถานทูตได้โดยสะดวก เจ้าหน้าที่ตำรวจเฮติยังไม่เปิดเผยข้อสันนิษฐานถึงมูลเหตุจูงใจของการสังหารประธานาธิบดีโมอิสในครั้งนี้ สำหรับเหยื่อที่ถูกสังหารคือประธานาธิบดีโฌเวแนล โมอิส อายุ 53 ปี ก้าวขึ้นสู่อำนาจตั้งแต่ปี 2560

นับแต่ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีเขาเผชิญการชุมนุมประท้วงขับไล่ขนาดใหญ่ในกรุงปอร์โตแปรงซ์และเมืองอื่นๆ ในปีนี้หลายครั้ง จากข้อกล่าวหาคอร์รัปชันความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และความพยายามยื้ออำนาจเนื่องจากมีการประท้วงของบรรดาฝ่ายค้านของเฮติที่ระบุว่า ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ของนายโมอิส ยุติลงแล้วเมื่อวันที่ 7 ก.พ. ซึ่งเป็นเวลา 5 ปี นับจากนายมิเชล มาร์เทลลี ประธานาธิบดีคนก่อนหน้าก้าวลงจากตำแหน่ง แต่มีการจัดเลือกตั้งล่าช้าไป 1 ปี

หลังจากนั้น และนายโมอิส ยืนกรานว่า เขายังต้องทำหน้าที่ต่อไปอีก 1 ปี เพราะเขาขึ้นรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2560 นอกจากนี้การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาควรจะมีการจัดขึ้นในปีที่แล้ว แต่มีข้อพิพาทหลายอย่างรวมทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไปอีก

ประวัติศาสตร์ของประเทศเฮติเริ่มจากการที่ฝรั่งเศสได้พัฒนาเฮติเป็นแหล่งปลูกอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลและปลูกกาแฟจนเป็นแหล่งที่มั่งคั่งที่สุดของดินแดนฝรั่งเศสทั้งหมดแต่เป็นการพัฒนาที่โหดเหี้ยมด้วยการใช้ทาสผิวดำจากแอฟริกามาเป็นแรงงานเป็นจำนวนมากที่ถูกทารุณกรรมล้มตายลงเป็นเบือเพราะถูกใช้งานหนัก และโรคภัยไข้เจ็บโดยเฉลี่ยทาสผิวดำทุกจะตายภายใน 3 ปีจากการเป็นทาส

ดังนั้นจึงมีทาสผิวดำจำนวนมากสามารถหนีไปอยู่ตามป่าเขาและรวมตัวกันได้จนสามารถทำการปฏิวัติจนทำให้เฮติกลายเป็นประเทศเอกราชแห่งที่ 2 ในทวีปอเมริกาต่อจากสหรัฐอเมริกาและเป็นประเทศเดียวในโลกที่พวกทาสสามารถลุกขึ้นมาเอาชัยชนะเหนือนายทาสและก่อตั้งประเทศได้สำเร็จเมื่อปี 2347 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)

แต่เป็นที่น่าเสียดายคือตั้งแต่ก่อตั้งประเทศเฮติได้สำเร็จแล้วก็เกิดการแก่งแย่งอำนาจกันระหว่างผู้นำที่เคยเป็นทาสมาด้วยกันทั้งนั้นโดยเกิดการรัฐประหารเป็นระยะตลอดและจากการที่ทางกองทัพทำการรัฐประหารมาตลอดและทหารก็ไม่สามารถในการปกครองประเทศได้ทำให้เศรษฐกิจล่มสลาย

สหรัฐอเมริกาจึงฉวยโอกาสยกกำลังกองทัพเรือเข้ายึดครองประเทศเฮติ ทำให้เฮติเป็นรัฐในอารักขาของสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2458 โดยเข้ามาจัดการเรื่องการคมนาคม การสาธารณสุข การศึกษา พัฒนาการเกษตร จัดระเบียบกองทัพ และวางรากฐานประชาธิปไตยรัฐสภาให้กับเฮติ จากนั้นก็ถูกบีบจากประชาชนอเมริกันเองให้ถอนกำลังจากเฮติในปี 2477 จากนั้นประเทศเฮติก็มีการปกครองแบบล้มลุกคลุกคลานมาเรื่อยจนถึงปัจจุบัน

บทความโดย : รศ.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์
ที่มา : https://www.sanook.com/news/8410118/