ทัวร์ลง-คว่ำบาตรออนไลน์… ประชาธิปไตย หรือ “ปิดปาก-ทำลาย” คนเห็นต่าง
ช่วงนี้มีประเด็นโต้เถียงวิจารณ์กันในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง นั่นก็คือการเรียกร้องให้ “ดารา-นักร้อง” call out ไปยังรัฐบาล คล้ายรณรงค์ชักชวนกันกดดันรัฐบาลให้แก้ปัญหาโควิด และบริหารจัดการวัคซีนให้ดีกว่าปัจจุบัน
แต่การเรียกร้องให้ call out หลายๆ กรณีก็ถูกมองว่า “ล้ำเส้น” เกินไป เพราะมีลักษณะข่มขู่ คุกคามเสรีภาพส่วนบุคคลของดารา นักร้อง คนดัง หรือเซเลบต่างๆ แถมยังประกาศเลิกสนับสนุนคนดังเหล่านั้น พร้อมกับการก่นด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย
จริงๆ แล้ว รูปแบบการใช้มวลชนในโซเชียลมีเดียกดดันบุคคลอื่นที่เห็นต่างจากตน หรือมีท่าทีจุดยืนทางการเมืองต่างจากคน หรือทำ-คิด-พูดไม่เหมือนตน ที่เรียกว่า “ทัวร์ลง” นั้น ไม่ได้มีเฉพาะดาราเท่านั้นที่โดน
แต่ในยุคโควิด-19 ยังมีกลุ่มหมอ ระดับ “อาจารย์หมอ” ที่ถูกโจมตีหลังออกมาเสนอสูตรฉีดวัคซีนไม่ถูกหู ไม่ตรงกับความเชื่อของตน คือแทนที่จะตอบโต้ด้วยข้อมูลวิชาการ กลับลุกลามไปด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบ พร้อมกับปล่อยเฟคนิวส์ทำลายชื่อเสียงเกียรติภูมิ ตัดต่อภาพและแชร์ภาพที่ทำให้สังคมเข้าใจผิด ส่วนหนึ่งเพื่อความสะใจ แต่อีกส่วนก็สร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้คน
ยกตัวอย่างอาจารย์หมอที่เสนอสูตรฉีดวัคซีนซิโนแวค ก็มีการไปทำภาพใส่ร้ายกลั่นแกล้งว่า เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาซิโนแวค หนำซ้ำยังมีการไปแก้ประวัติของอาจารย์หมอในวิกิพีเดียด้วยว่าเป็นตัวแทนจำหน่ายซิโนแวคในประเทศไทย เมื่อผู้กระทำถูกจับได้ ก็ชูนิ้วเป็นสัญลักษณ์ คล้ายสิ่งที่ทำไปคือความถูกต้อง และเป็นฮีโร่
การกระทำลักษณะนี้ มีทั้งที่ทำไปเพราะอารมณ์ เพราะรับข่าวด้านเดียวมากเกินไป กับกลุ่มที่ทำเป็นขบวนการ เพื่อทำลายล้างกันโดยหวังผลทางการเมือง (ผู้ถูกกระทำเป็นเพียงเหยื่อ หรือเบี้ยเพื่อนำไปขยายผล) รวมไปถึงการมุ่งทำลายเครดิตฝ่ายตรงข้าม หรือฝ่ายที่มีผลประโยชน์ขัดกัน
ปรากฏการณ์เหล่านี้ เมื่อมองผ่านสายตาของผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ก็จะพบขบวนการและข้อสังเกตการขับเคลื่อนข้อมูลบนโลกออนไลน์ที่น่าสนใจ
1.ในช่วงเวลาวิกฤติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตของโรคระบาดร้ายแรง ผู้คนมัก
ติดตามและได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพมากกว่าในช่วงเวลาปกติ ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจึงเป็นข้อมูลที่เป็นลักษณะของ “เครื่องมือ” ที่ผู้คนต้องพึ่งพาและนำไปใช้ประโยชน์ (Instrumental value) มากกว่าข้อมูลประเภทอื่น
ดังนั้นข้อมูลทางการแพทย์และคำแนะนำต่างๆ จากกระทรวงสาธารณสุข หรือข้อมูลจากแพทย์ผู้มีชื่อเสียง จึงเป็นเหมือนสิ่งที่มีคุณค่าในยามที่ทุกคนอยู่ในภาวะลำบากถ้วนหน้า และต้องการข้อมูลที่เป็นประโยชน์จริงๆ
2.อย่างไรก็ตาม ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏอย่างไม่เป็นทางการผ่านสื่อต่างๆ จากอาจารย์แพทย์ผู้มีชื่อเสียง โดยเฉพาะสื่อโซเชียลฯ กลับมีความตั้งใจโจมตีและดิสเครดิตแพทย์บางคนอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่การนำเสนอข้อมูลในแต่ละครั้งเป็นข้อมูลที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือตีกระทบไปถึงฝ่ายการเมืองใดๆ เลย แต่เป็นความตั้งใจของแพทย์ผู้ให้ข้อมูลในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่ได้นำผลการทดลองและการพิสูจน์จากห้องปฏิบัติการทางการแพทย์มานำเสนอ
3.การโจมตีผ่านโลกโซเชียลฯในลักษณะนี้ จึงเข้าข่ายการทำให้แพทย์ผู้นั้น หรือผู้ถูกกระทำรายอื่น เสื่อมเสียชื่อเสียงและอาจสร้างผลกระทบต่อความเชื่อถือทางการแพทย์ที่ทุกคนกำลังต้องการข้อมูลเพื่อดูแลสุขภาพของตนเอง
การใช้โซเชียลมีเดียเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตนเองอย่างใดอย่างหนึ่ง บนความเป็นความตายของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยไม่ได้พิจารณาจากข้อเท็จจริงที่แพทย์ผู้นั้นนำเสนอ จึงเป็นการโจมตีที่น่าจะมีนัยอื่นๆ แอบแฝง เช่น นัยทางการเมือง หรือ การขัดกันซึ่งผลประโยชน์ทางการค้าทางการแพทย์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
4.ผลกระทบที่เกิดจากการใช้สื่อโซเชียลฯ โจมตีผู้ใดก็ตามที่กำลังออกมาให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นความจริงและมีประโยชน์ จนดูเหมือนว่าผู้ที่ให้ข้อมูลนั้นกำลังกระทำสิ่งผิด นอกจากจะบั่นทอนกำลังใจของแพทย์ผู้ที่ให้ข้อมูลแล้ว ยังสร้างความหวาดกลัวต่อการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะของแพทย์ผู้นั้น และอาจทำให้แพทย์ผู้นั้น เลิกสนใจโซเชียลมีเดีย หรือหยุดให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ผ่านโซเชียลมีเดียไปเลยก็เป็นได้
5.การต้องการปิดปากใครก็ตามบนโลกออนไลน์ โดยที่บุคคลผู้นั้นมิได้กระทำผิดกฎหมาย กฎเกณฑ์ของผู้ให้บริการ หรือศีลธรรมอันดีงามในสังคม จึงเป็นความไม่เป็นธรรมในการใช้โซเชียลมีเดียของผู้ถูกกระทำ เพราะทุกคนในโลกนี้ควรมีสิทธิในการแสดงออกผ่านโซเชียลมีเดียอย่างเท่าเทียมกัน การกระทำดังกล่าวจึงไม่ต่างจากการต้องการคว่ำบาตรออนไลน์ (Cancel culture) ซึ่งทำลายทั้งจิตใจ อาชีพ และชื่อเสียงของคนทั้งโลกมาแล้วนับไม่ถ้วน
6.ผลของการกระทำดังกล่าวนอกจากทำลายชื่อเสียงและลดความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่แพทย์นำเสนอแล้ว ยังสร้างความหวาดกลัวต่อการให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นประโยชน์ในครั้งต่อๆ ไป (Chilling effect) ทำลายเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออก ชักนำผู้คนไปในทางที่ผิด ฯลฯ โดยไม่ต้องมีผู้รับผิดชอบและไม่มีความผิดทางกฎหมาย จึงเป็นการใช้เสรีภาพที่เกินขอบเขตและไม่ควรเป็นที่ยอมรับทั้งในโลกออนไลน์ และโลกแห่งความเป็นจริง
7.ปัจจัยของการสร้างข้อมูลที่ทำให้เกิดความสับสนและโจมตีบนโลกออนไลน์ โดยทั่วไปประกอบด้วย ตัวละคร 3 ประเภท คือ
– ผู้โจมตี ทำหน้าที่สร้างกระแสการโจมตีและกระจายข่าว โดยมีแรงจูงใจบางประการ เช่น แรงจูงใจทางการเมือง, แรงจูงใจทางการเงิน, แรงจูงใจทางจิตวิทยา ฯลฯ ที่ต้องการโจมตีบุคคลบางคนเพื่อหวังผลในทางใดทางหนึ่ง
ผู้โจมตีอาจเป็นบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีความสนใจร่วมกัน การโจมตีอาจมาจากตัวบุคคลเองหรือระบบอัตโนมัติ ที่เรียกว่า “บอท” (bot) ทั้งนี้ผู้โจมตีอาจมีทั้งผู้ที่แสดงตัวตนและปกปิดตัวตน
– ตัวข้อความหรือข่าวสารที่ต้องการโจมตี ซึ่งได้แก่ ข้อความ ภาพ หรือ การ์ตูนล้อเลียน หรือ “มีม” (Meme) ต่างๆ นการดึงดูดความสนใจผู้คนเพื่อการโจมตีบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ข่าวสารที่ใช้อาจถูกออกแบบให้กระตุ้นความสนใจในระยะสั้นๆ, ปล่อยออกมาเป็นระยะ หรือเป็นข่าวสารที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้อยู่บนโลกออนไลน์เป็นเวลานานๆ สืบค้นได้ทุกเวลา
– เป้าหมายที่ผู้โจมตีต้องการ เช่น บุคคล รัฐบาล องค์กรต่างๆ สถาบัน บริษัทเอกชน ฯลฯ รวมถึงกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์เดียวกันเพื่อโน้มน้าวให้มีการเผยแพร่ข้อมูลต่อหรือให้ความเห็นเพิ่มเติมจากข้อความเดิม และอาจรวมไปถึงผู้ที่ไม่เคยสนใจทางการเมืองหรือการโจมตีผู้ใด แต่อาจถูกชักจูงเข้ามาร่วมในกระบวนการโจมตีด้วย เพราะความเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าข้อความที่ได้รับเป็นเรื่องจริง
8.มนุษย์มักเชื่อในสิ่งที่ผู้อื่นบอก เพราะคิดว่าสิ่งที่ผู้อื่นพูดนั้นเป็นความจริงเสมอ และให้น้ำหนักต่อการเชื่อในความจริงมากกว่าการเชื่อในความเท็จ นักจิตวิทยามักเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ”ความเอนเอียงต่อความจริง” หรือ Truth bias
จึงไม่น่าแปลกใจว่าการสื่อสารสิ่งที่ไม่เป็นความจริงบนโลกออนไลน์ถูกนำไปขยายความต่อได้อย่างง่ายดาย และหากผู้ใดไม่รู้เท่าทันต่อเจตนาของผู้ปล่อยข่าว ก็จะตกเป็นเหยื่อของ ข่าวปลอม ข่าวปล่อย หรือการโจมตีใส่ร้ายผู้คนโดยไม่รู้ตัว
ที่มา : https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/100537-callout.html