เปิด 5 โครงการ ทร.ต่อเนื่อง “เรือดำน้ำ” ส่อถูกตัดหลายพันล้าน
ความเคลื่อนไหวการเมืองวันพฤหัสบดีที่ 22 ก.ค.64 ต้องบอกว่ามีไฮไลท์ เพราะจะมีวาระที่อนุกรรมาธิการงบประมาณฯ พิจารณางบของกระทรวงกลาโหม ซึ่งคาดว่าจะมีการเรียกผู้แทนของเหล่าทัพเข้าชี้แจงด้วย โดยมีคิวเรียกชี้แจงทุกเหล่าทัพ
เรื่องงบกองทัพกำลังร้อนฉ่า โดยเฉพาะงบซื้ออาวุธ ซึ่งฝ่ายค้านและสังคมบางส่วนมองว่าไม่เหมาะสมในยุค “โควิดระบาดหนัก” แม้กองทัพเรือได้ถอนงบเรือดำน้ำไปแล้ว แต่กระแสก็ยังแรงไม่มีตก เพราะตอนนี้ต้องบอกว่ากองทัพถูกจับผิดทุกย่างก้าว
เช้าวันที่ 22 ก.ค.จะมีงานใหญ่ เพราะคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ฯ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ซึ่งเป็นการพิจารณาวาระ 2 มีกำหนดการประชุมที่อาคารรัฐสภา และมีคิวพิจารณางบของกระทรวงกลาโหม โดยงบที่จะเข้าสู่การพิจารณา และมีการเรียกตัวแทนเข้าชี้แจง คือ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ตามด้วยกองบัญชาการกองทัพไทยและสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ
แน่นอนว่าไฮไลท์อยู่ที่งบของกองทัพเรือ เพราะดูท่าที ส.ส.ฝ่ายค้านแล้ว แม้กองทัพเรือ หรือ “ลูกประดู่” จะถอยทัพเรือดำน้ำ ถอนออกจากงบประมาณปี 65 ไปแล้ว แต่ปรากฏว่าฝ่ายค้านดูจะยังมุ่งมั่นเดินหน้าตัดงบกองทัพเรือต่อไป
โดย ส.ส.เพื่อไทย กับก้าวไกล พร้อมใจกันไปขุดงบอื่นๆ ของกองทัพเรือมาอีก ซึ่งเป็นงบเกี่ยวกับเรือดำน้ำเช่นกัน ประกอบด้วย
1.โครงการอาคารพักข้าราชการกองเรือดำน้ำ 294 ล้านบาท
2.โครงการสร้างระบบสื่อสารควบคุมบังคับบัญชาเรือดำน้ำ งบผูกพัน 3 ปี วงเงิน 300 ล้านบาท
3.โครงการก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำระยะที่ 1 วงเงิน 900 ล้านบาท
4.โครงการก่อสร้างโรงซ่อมเรือดำน้ำ วงเงิน 958 ล้านบาท
5.เรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ สนับสนุนการปฏิบัติการของเรือดำน้ำ มูลค่า 6,200 ล้านบาท
นอกจากนั้นยังมีงบจัดซื้อโดรนสำรวจชายฝั่ง อีก 4,500 ล้านบาทด้วย
จะเห็นได้ว่า โครงการจัดซื้อจัดจ้างเหล่านี้ เป็นโครงการต่อเนื่องจากการจัดซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งถึงอย่างไรก็ต้องมี เพราะเวลาซื้อเรือมา ก็ต้องมี “ท่าจอดเรือ” เมื่อประเทศไทยไม่มีเรือดำน้ำมาก่อน (เคยมีตอนปลายสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จำนวน 4 ลำ แต่ปลดประจำการไปหมดแล้ว) ทำให้ต้องมีการสร้างโรงจอด หรือ “ท่าจอดเรือดำน้ำ” ขึ้นใหม่
เมื่อมีท่าจอดเรือ ก็ต้องมีโรงซ่อม มีระบบสื่อสารควบคุมบังคับบัญชา และมีกำลังพลของ “กองเรือดำน้ำ” ที่ต้องฝึกเป็นพิเศษ จึงต้องมีบ้านพักให้ต่างหาก
นี่คือรายจ่ายที่จะตามมา และแม้กองทัพเรือจะถอนงบโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำไปแล้ว แต่ต้องเข้าใจว่า โครงการนี้ทั้งโครงการมีเรือดำน้ำ 3 ลำ ลำแรกซื้อไปแล้ว จ่ายเงินไปแล้วกว่า 8 พันล้านบาท จะได้เรือมาปี 67 จึงต้องเตรียมท่าจอดเรือ ระบบสื่อสาร โรงซ่อม บ้านพักกำลังพล รวมทั้งเรือสนับสนุนเรือดำน้ำเอาไว้
ส่วนการถอนโครงการจากงบประมาณปี 65 เป็นงบจัดซื้อลำที่ 2 เป็นงบคนละก้อนกับลำแรก
การจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือหนนี้ เป็นความพยายามหลังจากการรอคอยมานานกว่า 70 ปี ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านไทยล้วนมีเรือดำน้ำกันหมดแล้ว ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม หรือแม้แต่เมียนมา ส่วนไทยมีเรือดำน้ำเป็น 0 เพราะแม้จะซื้อแล้ว แต่ยังไม่ส่งมอบ ก็ถือว่ายังไม่มี
แต่ความหวังของกองทัพเรือ มักไม่ค่อยถูกที่ถูกเวลา โครงการจึงถูกยื้อและยกเลิกมาตลอด ครั้งนี้ก็เช่นกัน แม้จะทำสัญญาแล้ว เริ่มจัดซื้อแล้ว แต่ก็มามีสถานการณ์โควิด ทำให้ต้องถอนและชะลองบเรือดำน้ำมา 2 ปีติดกัน ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ก็จะกระทบกับสมรรถภาพกำลังรบของกองทัพพอสมควร แต่เมื่อมีความจำเป็นเรื่องโควิด ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ
สำหรับการพิจารณางบกลาโหมที่ ส.ส.ฝ่ายค้านพากันจับตา ไม่ได้มีแต่งบกองทัพเรือเท่านั้นที่โดนตัด การพิจารณาของอนุกรรมาธิการฯวันนี้น่าจะมีเสนอตัด เสนอแขวนอีกหลายรายการ ทั้งๆ ที่…
– กองทัพอากาศ ไม่มีโครงการใหม่เลย และไม่มีการเริ่มผูกพันงบใหม่ แต่ก็มีข่าวว่าจะมีการท้วงติงงบที่มีอยู่แล้วหลายรายการ
– กองทัพเรือ นอกจากงบเรือดำน้ำที่ถอนไปแล้ว ยังมีงบที่เกี่ยวกับเรือดำน้ำอีกหลายรายการที่น่าจะโดนรุมตัด รวมถึงโดรนสำรวจชายฝั่ง 4,500 ล้านบาทด้วย
– กองทัพบก โดนตัดลดไปแล้ว 6 พันล้าน ต้องลุ้นว่าจะโดนเพิ่มอีกหรือไม่
เช่นเดียวกับ กอ.รมน. ที่ถูกจับตาเรื่องการทำไอโอในภาคใต้ ก็เสี่ยงถูกตัดงบภาพรวม และงบก่อสร้างรั้วชายแดนไทย-มาเลเซียที่จังหวัดนราธิวาส ทั้งๆ ที่มีความสำคัญเรื่องการป้องกันการลักลอบข้ามแดนสกัดโควิด
แหล่งข่าวจากกระทรวงกลาโหม ให้ข้อมูลว่า การจัดทำงบประมาณของแต่ละเหล่าทัพ ก่อนที่จะส่งมากระทรวงกลาโหมนั้น มีบางโครงการได้ถอนออกไปก่อนด้วยซ้ำ ส่วนโครงการเรือดำน้ำ ถือว่าถอนระหว่างการประชุมกรรมาธิการงบฯ ซึ่งในความเป็นจริงหน่วยงานความมั่นคงอยากได้อาวุธยุทโธปกรณ์มาใช้ป้องกันประเทศเพื่องานความมั่นคง ซึ่งงานด้านความมั่นคงบางอย่างอาจไม่สามารถจับต้องได้ แต่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ และย้ำว่าซื้อเท่าที่จำเป็น เพราะเข้าใจดีว่าประเทศไม่ได้มีเงินมากพอ บางโครงการก็ต้องพับไป
ที่มา : https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/100741-submarinestop.html