บทความ

ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มุสลิมบอสเนีย ความโหดร้ายบนแผ่นดินยุโรปที่โลกไม่ค่อยพูดถึง

11 กรกฎาคม 1995 หรือเมื่อ 26 ปีก่อน คือจุดเริ่มต้นโศกนาฏกรรมสังหารหมู่เซรเบรนิสซา (Srebrenica massacre) ที่เกิดขึ้นในช่วงสงคราม “เซิร์บ-บอสเนีย” สงครามที่ถูกจารึกว่าเป็นมลทินที่เลวร้ายที่สุดของยุโรปนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา และการสังหารหมู่เซรเบรนิสซาก็ได้ถูกจารึกให้เป็นวาระที่โหดเหี้ยมและน่าประณามที่สุดแห่งยุคสมัยนั้น

สิ่งหนึ่งที่อาจยืนยันได้ถึงความป่าเถื่อนและโหดร้ายของเหตุการณ์ในครั้งนั้น คือความจริงอันอัปยศของสงครามบอสเนียนั่นเอง หากย้อนกลับไปในปี1992 เราจะเห็นความจริงว่าเมล็ดพันธุ์แห่งความขัดแย้งนั้นเริ่มถูกบ่มเพาะมาเนิ่นนานตั้งแต่ยุคสมัยอาณาจักรออตโตมันแล้ว โดยมันค่อยๆ หยั่งรากและงอกเงยขึ้นหลังผู้นำเผด็จการ Josip Tito ฉายาฮิตเลอร์แห่งยูโกสลาเวียในสมัยนั้นเสียชีวิตลง

การจากไปของ Tito หลังจากที่เคยกุมอำนาจปกครองบ้านเมืองมายาวนานถึง 27 ปีเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เมืองต่างๆ ในยูโกสลาเวียเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องอิสรภาพ นานวันเข้าจึงเริ่มแตกหน่อกลายเป็นสหพันธรัฐอิสระขึ้นมาอีกมากมาย เช่น สโลวีเนีย, โครเอเชีย, มอนเตเนโกร, บอสเนีย, มาเซโดเนีย, และโคโซโว บางรัฐก็ได้อิสรภาพมาด้วยความสันติ ในขณะที่บางรัฐกลับต้องยอมสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพ

ย้อนกลับไปก่อนหน้าสงครามในครั้งนั้น บอสเนียและเฮอเซโกวินาเคยเป็นเมืองที่ประกอบไปด้วยประชากรหลากหลายชาติพันธุ์ มีชาวบอสเนียมุสลิมเป็นชนกลุ่มใหญ่ ในขณะที่ชาวโครเอท, ชาวเซิร์บ และกลุ่มที่เรียกตนเองว่าชาวยูโกสลาฟเป็นชนกลุ่มน้อยที่ร่วมอาศัยบนแผ่นดินเดียวกัน

ชาวบอสเนียมุสลิมต้องการปลดตนเองให้เป็นรัฐอิสระจากยูโกสลาเวีย จึงเริ่มก่อการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องอิสรภาพขึ้นมาและได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ในสภาบอสเนีย แต่กระนั้นกลับมีเสียงคัดค้านบางส่วนจากกลุ่มชาวบอสเนียเซิร์บที่อ้างว่าประชากรสองในสามของประเทศต้องการยืนยันความเห็นชอบต่อการเคลื่อนไหวดังกล่าวเสียก่อนจึงจะถือเป็นใช้ได้

ชาวบอสเนียมุสลิมพยายามทุกวิถีทางเพื่อไขว่คว้าให้ได้ซึ่งอิสรภาพนั้น แต่กลับถูกสกัดกั้นโดยกลุ่มทหารฝ่ายเซิร์บและโครเอเชียที่นำทีมโดยแกนนำชั้นหัวหน้าทหารของทั้งสองฝ่ายอย่าง Franjo Tuđman และ Slobodan Milošević ที่ร่วมกันเข้ามาล่วงล้ำยึดครองดินแดนบอสเนียเพื่อหวังจะแบ่งสรรดินแดนดังกล่าวหากสามารถเอาชนะความขัดแย้งในครั้งนั้นได้ จนในที่สุดเมื่อวันที่ 6 เมษายน 1992 กองกำลังชาวเซิร์บได้เริ่มเข้ามาบุกล้อมเมืองบอสเนียและซาราเยโว และได้ทำให้สงครามแพร่กระจายออกไปแทบทุกหย่อมหญ้าของประเทศภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์

การโจมตีกรุงซาราเยโวและยุทธศาสตร์การข่มขืน

คงเป็นเรื่องยากหากจะต้องสาธยายความเจ็บปวดทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับชาวบอสเนียมุสลิมจากเหตุการณ์ความขัดแย้งในครั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวอันน่าสะเทือนใจเมื่อครั้งที่กรุงซาราเยโวถูกโจมตี หรือภาพบรรยากาศในค่ายผู้ลี้ภัยที่มีลักษณะไม่ต่างจากคุก ภาพถ่ายในความทรงจำที่ชวนให้นึกถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ตลอดจนกรณีการข่มขืนทารุณที่ทำกันจนเป็นระบบที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการล้างเผ่าพันธุ์ประชากรมุสลิมในพื้นที่ก็เช่นกัน แต่มันอาจฟังดูไม่ครบถ้วนกระบวนความหากไม่ได้กล่าวถึงเรื่องราวกระชากความรู้สึกที่เกิดขึ้นตลอดช่วงสงครามบอสเนียในครั้งนั้น และเพื่อให้เห็นภาพว่าระดับความโหดเหี้ยมที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งนั้นมีมากเพียงใด สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกได้คือบันทึกสถิติจำนวนหญิงสาวชาวบอสเนียมุสลิมที่ถูกกลุ่มทหารชาวเซิร์บข่มขืนกระทำชำเราซึ่งมีมากถึง 12,000 ถึง 50,000 ราย และส่วนใหญ่ล้วนให้การว่าถูกข่มขืนในที่ที่พวกทหารเจตนาสร้างขึ้นมาให้เป็น “แคมป์เพื่อข่มขืน” โดยเฉพาะกันเลยทีเดียว

เมืองเซรเบรนิสซา

เมืองเซรเบรนิสซาเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามบอสเนียในช่วงต่อมาภายหลังจากที่ทหารชาวเซิร์บเข้ามายึดครองดินแดนดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 1995 เป็นต้นมา สิ่งหนึ่งจากโศกนาฏกรรมการแย่งชิงเมืองบอสเนียที่กลายเป็นเรื่องน่าหดหู่สำหรับหลายคนคือความจริงที่ว่า ย้อนกลับไปเพียง 2 ปีก่อนหน้านั้น ดินแดนดังกล่าวเคยได้รับการจัดตั้งจากองค์การสหประชาชาติให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ได้รับการอารักขาโดยกองกำลังสหประชาชาติ ในตอนนั้นผู้คนต่างปลาบปลื้มปีติยินดีและเชื่อมั่นปักใจว่า การเข้ามาพิทักษ์สันติราษฎร์ของกองกำลังสหประชาชาติจะช่วยปกป้องพวกเขาให้รอดพ้นจากภัยสงครามอันแสนโหดร้ายที่กำลังเกิดขึ้นได้ แต่ความเป็นจริงกลับไม่ใช่อย่างที่คิด…

ในช่วงเช้าของวันหนึ่ง บรรดาทหารชาวเซิร์บเริ่มเข้ามายึดครองเมืองและจับตัวผู้ชายบอสเนียมุสลิมทั้งหมดไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ (ส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่มช่วงวัย “พร้อมออกรบ” โดยเฉพาะที่มีอายุ14 ขึ้นไป) จากนั้นจึงนำไปขังแยกตามจุดต่างๆ ในตอนนั้นชายบอสเนียมุสลิมที่หนีออกมาได้ต่างพยายามเอาชีวิตรอดด้วยการมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือเพื่อหนีออกจากชายแดนบอสเนีย ต่อมาเมื่อทหารชาวเซิร์บเริ่มไหวตัวทันและรู้ว่าชายมุสลิมบางส่วนแอบหลบหนีไป จึงคิดหาวิธีหลอกล่อให้ทั้งหมดยอมจำนนด้วยการประกาศทางเครื่องกระจายเสียง เรียกให้คนที่หลบซ่อนอยู่ยอมออกมามอบตัวโดยให้ตายใจด้วยการรับประกันความปลอดภัย ชาวบอสเนียมุสลิมส่วนใหญ่ปักใจเชื่อกลอุบายดังกล่าวจึงยอมออกมาจากแหล่งหลบซ่อนตัวในป่า แต่แล้วก็ถูกพวกทหารรวบตัวและนำไปสังหารหมู่ในที่สุด

จากนั้นตั้งแต่วันที่ 13 เรื่อยไปจนถึงวันที่ 22 กรกฎาคมการสังหารหมู่รายวันก็เริ่มขึ้น เสียงรัวกระสุนจากปลายกระบอกปืนของทหารชาวเซิร์บดังสนั่นนานต่อเนื่องกันถึง 30 นาที สิ่งที่เห็นเป็นภาพต่อมาคือชายหนุ่มชาวบอสเนียมุสลิมหลายร้อยคนถูกห่ากระสุนยิงรัวใส่จนกลายเป็นศพไปพร้อมกันในชั่วพริบตา บางครั้งวันดีคืนดีที่พวกทหารนึกสนุกก็จะมีการนำเอาผู้หญิงและเด็กเล็กมาร่วมวงสังหารหมู่ด้วย

ภาพการข่มขืนหญิงสาวบอสเนียมุสลิมรายวันกลายเป็นเรื่องปกติ พร้อมๆ กับการสังหารหมู่ในเมืองเซรเบรนิสซาที่ดำเนินต่อไปอย่างไร้ซึ่งความปราณี

ยิ่งไปกว่านั้น ก่อนหน้าจะถูกสังหาร เชลยชาวบอสเนียมุสลิมจะถูกบังคับให้ช่วยกันขุดหลุมฝังศพขนาดใหญ่ด้วยกัน ก่อนที่ตนเองจะถูกปลิดชีวิตและกลายเป็นศพนอนตายร่วมกับอีกหลายร้อยพันในสุสานมรณะแห่งนั้น

ผู้รอดชีวิตบางคนเล่าว่าเคยถูกบังคับให้เข้าแถวเรียงหนึ่งพร้อมกับชายหนุ่มอีกหลายสิบคน แล้วพวกทหารก็รัวกระสุนปลิดชีวิตทุกคนไปพร้อมกันอย่างเลือดเย็น บางคนที่รอดชีวิตมาได้ก็ต้องแสร้งทำเป็นนอนตายข้างๆ ศพอีกกว่าร้อยชีวิตอย่างน่าสยดสยอง

กระทั่งวันที่ 22 กรกฎาคม สงครามก็ได้สิ้นสุดลง เหตุการณ์ครั้งนั้นมีชายบอสเนียมุสลิมกว่า 8,000 คนต้องสังเวยชีวิตจากการสังหารหมู่อย่างน่าเวทนา

คือความสูญเสีย คือความผิด คือการปฏิเสธที่ยังคงคลุมเครือ

การสังหารหมู่ในเซรเบรนิสซาครั้งนั้นทำให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนมากมายเป็นผลตามมา โดยเฉพาะใน 3 ประเด็นต่อไปนี้อันดับแรกคือประเด็นของการชันสูตรศพที่ยังคงเป็นปัญหาคาราคาซังเรื่อยมาถึงปัจจุบัน ทหารชาวเซิร์บมักจะลักลอบขุดศพจากหลุมศพขนาดใหญ่แล้วทำการย้ายไปวางในที่ที่แตกต่างกันเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติรู้เห็นกับสิ่งที่เกิดขึ้น ช่างน่าโชคร้ายที่ยังคงมีหลายครอบครัวไม่สามารถเจอศพหรือชิ้นส่วนศพของครอบครัวตัวเองได้เลย และยิ่งทำให้พวกเขาไม่สามารถลืมเรื่องราวการสูญเสียเหล่านั้นมากขึ้นไปอีก

การสูญเสียที่ยังคงคลุมเครือจึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากผลพวงของเหตุการณ์ในครั้งนั้น และกลายเป็นความโศกเศร้าต่อผู้ที่ยังคงอยู่และยากต่อการลืมเลือน หนำซ้ำอีกกว่าร้อยพันชีวิตก็ยังคงกลายเป็นศพที่หายสาบสูญอย่างไร้ร้องรอยจนถึงทุกวันนี้

ประเด็นที่สองคือความผิดที่เกิดจากการเมินเฉยขององค์การสหประชาชาติเอง แม้ว่าความเสียหายโดยรวมจากสงครามจะชี้ฟ้องแน่ชัดว่ากองกำลังทหารชาวเซิร์บคือผู้ที่สมควรได้รับการตำหนิและต้องรับผิดชอบต่อความบ้าคลั่งในครั้งนั้น แต่หลายฝ่ายต่างก็เห็นพ้องว่าองค์การสหประชาชาติก็น่าจะมีส่วนในความผิดที่เกิดจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ด้วยท่าทีที่นิ่งเฉยไม่โต้ตอบหรือแสดงปฏิกิริยาใดๆ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชนเมืองเซรเบรนิสซาในช่วงที่เหล่าทหารเซิร์บเข้ามายึดครองพื้นที่ หลายฝ่ายจึงพุ่งความผิดไปที่กองกำลังทหารแห่งสหประชาชาติชาวดัชต์ที่ขณะนั้นรับหน้าที่เข้ามาดูแลความปลอดภัยที่เมินเฉยต่อการเสียชีวิตจากการสังหารหมู่ในครั้งนั้น

และแม้ว่าศาลโลกที่กรุงเฮกจะตัดสินเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2017 แล้วว่าทางการดัชต์มีส่วนผิดจริงต่อการเสียชีวิตของชายบอสเนียมุสลิม 300 คนในเมืองเซรเบรนิสซา แต่กระนั้นตัวเลขที่ระบุข้างต้นก็นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับยอดผู้เสียชีวิตจริงที่ถูกกระทำการทารุณในเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนั้น

และประเด็นสุดท้ายที่ยังคงยืดเยื้อและสร้างความเจ็บปวดอย่างไม่มีวันจบสิ้นอีกประการก็คือ การต้องทนรับรู้คำบอกเล่าที่ย้อนแย้งกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในเซรเบรนิสซาของผู้ที่ยังคงอยู่ แม้ว่าการปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการเจตนาสังหารหมู่จะเป็นความผิดอาญาสำหรับหลายประเทศในโลก และคงไม่มีใครปฏิเสธถึงประเด็นความโหดเหี้ยมที่เกิดขึ้นกับประชาชนในประเทศรวันดา แต่กระนั้นกลับมีคนบางกลุ่มเลือกที่จะปฏิเสธความจริงต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวบอสเนียมุสลิม บางกลุ่มให้น้ำหนักกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพียงสงครามทั่วไป และไม่ได้มองว่ามันเป็นการพยายามสังหารหมู่เพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เลยแม้แต่นิด

มันจึงยิ่งสร้างความเจ็บปวดทวีคูณให้กับญาติของผู้เสียชีวิต และยิ่งต้องมารับรู้ความจริงอีกอย่างหนึ่งว่าชาวเมืองเซรเบรนิสซาร่วมกันแต่งตั้งให้นักชาตินิยมชาวเซิร์บอย่าง Mladen Grujicic ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีประจำเมืองอีกเมื่อสองปีที่ผ่านมา Grujicic ที่เชื่อสนิทใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเซรเบรนิสซาในอดีตนั้นไม่ใช่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เลยแต่อย่างใด มันจึงสร้างความคับแค้นใจขึ้นไปอีก

และยิ่งไปกว่านั้น ในเดือนมิถุนายนปีท 2017 ผู้นำชาวบอสเนียเซิร์บ Milorad Dodik ได้ยกเลิกบทเรียนที่ว่าด้วยการโจมตีเมืองซาราเยโว (ที่พรากชีวิตผู้บริสุทธิ์ไป 11,000 คน ในจำนวนนี้มีเด็กเล็ก 1,100 คน) และเรื่องราวการสังหารหมู่ในเซรเบรนิสซาออกไปจากระบบการศึกษาของประเทศ เพื่อหวังจะเขียนประวัติศาสตร์ใหม่และให้ชนรุ่นหลังลืมเรื่องราวไปพร้อมกับกาลเวลา

สิ่งที่น่าสะเทือนใจที่สุดคือการได้รู้ว่า เวลาที่ผ่านไปเพียงไม่กี่ปี คนเลือดเย็นบางกลุ่มที่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งกลับเลือกที่จะบิดเบือนประวัติศาสตร์แทนที่จะใช้บทเรียนเหล่านั้นสอนลูกหลานให้ได้เรียนรู้ความผิดพลาดในอดีต มันคือเจ็บปวดเมื่อต้องนึกถึงความรู้สึกของผู้คนที่ยังคงอยู่ หลังเผชิญเหตุการณ์เซรเบรนิสซาในอดีตที่ผ่านมา และแม้ปัญหาจะเริ่มมองเห็นได้ชัดขึ้น แต่จุดจบสำหรับเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายก็ยังคงเป็นเรื่องที่ยากจะอธิบาย

ความสูญเสียจากความขัดแย้งของเพื่อนร่วมโลก ให้บทเรียนอะไรแก่เราบ้าง?

แปลและเรียบเรียง : Andalas Farr / Halal Life Magazine

ที่มา : Mvslim – The Srebrenica Massacre And What You Should Know About It – https://bitly/3i4D9l7