ข่าวในประเทศ

โวยศูนย์ LQ ส้วมเต็ม – งบอาหารมื้อละ 50 บาทได้ข้าวกล่องกุ้ง 1 ตัว

ประเด็นดราม่าเกี่ยวกับความไม่พร้อมของ “ศูนย์กักตัว” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเรียกว่า Local Quarantine นั้น เริ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่พุ่งสูงขึ้นทุกวัน

เมื่อผู้ติดเชื้อมาก ผู้สัมผัสเสี่ยงก็มาก ความต้องการในการใช้ “สถานที่กักตัว” หรือ “ศูนย์กักกัน” ก็มากตาม ไม่เฉพาะโรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel เท่านั้น

นี่คือวิกฤติซ้อนวิกฤติที่เป็นผลมาจากการระบาดของโรคอีกที

เมื่อคนหมู่มากต้องเข้าไปใช้ชีวิตในสถานที่กักตัว ความต้องการก็มาก และการตรวจสอบคุณภาพในการดูแลและการให้บริการก็เข้มตามไปด้วย จึงมีข่าวคราวร้องเรียนเกี่ยวกับความไม่พร้อมของศูนย์กักตัวออกมาเป็นระยะ และแรงขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุดที่ “ทีมข่าวอิศรา” รวบรวมมา ก็มีทั้งการโพสต์ภาพอาหารที่ได้รับในแต่ละมื้อ ว่ามีปริมาณน้อย หรือมีแต่ข้าวที่มาก ส่วนกับข้าวนั้นแทบมองไม่เห็น

อีกเรื่องที่ฮือฮากันมาก คือปัญหา “ส้วมเต็ม” ราดน้ำไม่ลง แจ้งไปหลายวันเจ้าหน้าที่ ไม่ได้ดำเนินการแก้ไข ทำให้ผู้ที่ถูกกักตัวไม่กล้าเข้าห้องน้ำ ต้องอดทนอดกลั้นกันไป

หญิงชราวัยเกือบ 70 ปีรายหนึ่ง เข้ากักตัวที่ LQ ป่าพ้อ ต.ปากล่อ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ร้องเรียนมายัง “ทีมข่าวอิศรา” ว่า สามวันมาแล้วที่ไม่สามารถถ่ายหนักได้ เพราะห้องน้ำเต็ม ราดไม่ลง

“ของคนเดิมยังมีอยู่ เราเข้าไปก็เจอทั้งกลิ่นทั้งสีที่ไม่น่าดู จริงๆ ต้องกักตัวก็เครียดอยู่แล้ว ไหนจะเครียดเรื่องผลตรวจที่จะออกมาว่าเป็นบวกหรือลบ ลุ้นทุกวัน ยังต้องมาเครียดเรื่องขับถ่ายอีก”

“เรื่องกินไม่อร่อย ไม่ได้ดังใจ เราพอเข้าใจ แต่เรื่องห้องน้ำเต็ม ทนมา 3 วันแล้ว ตอนนี้มันไม่ไหวแล้วจริงๆ แจ้งเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องมาตลอด แต่ก็ยังไม่มีใครมาแก้ปัญหาให้” หญิงชรา กล่าว

localquarantine180721

สำหรับศูนย์ LQ ที่ป่าพ้อ เดิมเป็นโรงรับซื้อไม้ยางพารา แต่เจ้าของกิจการไม่ได้ทำมาสักพักหนึ่งแล้ว ทางราชการจึงขอจัดเป็นศูนย์ LQ มีเจ้าหน้าที่นำข้าวและน้ำมาให้

“เจ้าหน้าที่มาแล้วก็ไป บางทีหาตัวคนเฝ้าไม่เจอเลย ถามว่ากลัวไหม ก็กลัว แต่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมเราก็อดทนได้ แต่ไม่ใช่ให้เราอดทนเรื่องเข้าห้องน้ำ มันไม่ไหวจริงๆ” หญิงชรา กล่าว

และว่า “ก็ต้องรอดูเหมือนกัน เพราะทำเองไม่ได้ วันนี้เสาร์ อาทิตย์ เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ไม่ทำงาน ก็คงวันจันทร์ ตอนนี้ก็อยากได้จอบมาขุดหลุมรอบๆ โรงงาน (ศูนย์ LQ) คงพอได้ อย่างน้อยดีกว่าทน โดยเฉพาะเด็กๆ ไม่ใช่จะอดทนเหมือนเราคนแก่ได้ อยากได้จอบมากตอนนี้ เรื่องอื่น ข้าวแข้งอย่างไร ก็พยายามกลืนข้าวคำน้ำคำ พอได้ ทุกอย่างอดทนได้”

ด้านเจ้าหน้าที่ในอำเภอโคกโพธิ์รายหนึ่ง กล่าวว่า เรื่องห้องน้ำเต็มที่ศูนย์ LQ ป่าพ้อ เบื้องต้นมีคนแจ้งมาแล้วเมื่อ 2 วันก่อน แต่ก็ไม่แน่ใจว่าทำไมยังไม่มีใครไปดำเนินการให้ หลังจากนี้จะประสานฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยด่วน

มีรายงานด้วยว่า ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ปลัดอำเภอโคกโพธิ์ ได้พาเจ้าหน้าที่นำโซดาไฟไปเทให้ที่โถส้วม แต่ก็ยังราดน้ำไม่ลง คาดว่า จะตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไขปัญหาอีกครั้งในวันจันทร์

อีกเรื่องเป็นเสียงสะท้อนจาก “ผู้กักตัว” ในโรงพยาบาลสนาม จ.ยะลา เขาเล่าว่า ที่โรงพยาบาลสนามห้ามญาติผู้กักตัวนำอาหารหรือสิ่งของทุกชนิดมาเยี่ยม เจ้าหน้าที่บอกว่า อยากได้อะไรก็ให้บอกเจ้าหน้าที่ แต่ขอไป 3-4 วันกว่าจะได้ ทำให้ไม่เข้าใจว่าจะห้ามญาตินำของไปเยี่ยมทำไม

“เมื่อไม่ให้ญาติเอามาให้ ก็ต้องรอรับจากเจ้าหน้าที่เท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยควรได้รับอย่างเท่าเทียม แต่พอถึงเวลากลับไม่เท่าเทียม เช่น คนตึกนี้ได้กินส้ม อีกตึกไม่ได้กิน แต่คนอีกตึกก็เห็น ก็ได้แต่มอง”

“เวลาขออะไร ต้องใช้เวลา 3-4 วันกว่าเจ้าหน้าที่จะเอามาให้ ก็รู้สึกน้อยใจ เลยคิดว่าถ้าเป็นแบบนี้ ให้ใช้ระบบแต่ละคนให้ญาตินำของมาส่งให้เองจะดีกว่า กักตัวมันเครียด ต้องมาเจอปัญหาแบบนี้อีก อยากเสนอว่ากำหนดวัน-เวลาก็ได้ ให้ญาติสามารถส่งของเข้ามาให้ ทุกคนมีญาติพร้อมที่จะเอามาให้ แต่พอมาเจอแบบนี้ รู้สึกว่ายิ่งกว่าอยู่ในคุกอีก” ผู้ถูกกักตัว กล่าว

localquarantine18073

บุษยมาส อิศดุลย์ ประธานกลุ่มบ้านบุญเต็ม กล่าวว่า อาหารสำหรับชาวบ้านผู้ถูกกักตัวตามศูนย์ LQ ต่างๆ ในบางอำเภอของ จ.ยะลา เป็นข้าวกล่อง แต่พอเปิดดูจะพบข้าวเปล่า และมีกุ้ง 1 ตัว

จริงๆ แล้ว ทั้งอาหารและน้ำดื่ม อบต.ที่ทำเรื่องกักตัวสามารถเบิกได้ อัตราการเบิกคือ ผู้ป่วย 1 คน เบิกได้มื้อละ 50 บาท วันละ 3 มื้อ รวมก็ 150 บาทต่อวัน งบประมาณที่ส่งลงไปให้ “เต็มจำนวน” ทุกพื้นที่ แต่ผลที่ออกมากลับเป็นแบบนี้

“บางพื้นที่มีเด็กเล็กที่ ไม่สามารถกินเผ็ดได้ ก็เอาข้าวเอาผัดเผ็ดลูกชิ้นไปให้ ขอนมผง ได้นมโรงเรียนมา กินกันทุกทาง” บุษยมาส สะท้อนปัญหา

ประธานกลุ่มบ้านบุญเต็ม บอกด้วยว่า ชาวบ้านจาก ศูนย์ LQ ส่งข้อมูลมา บอกว่าพวกเขาไม่ใช่คนเรื่องมาก แต่มันสุดจะบรรยายกับสภาพที่ต้องเจอ 14 วันเต็มๆ กับอาหารในแต่ละมื้อที่จัดมาให้ “กินกันตาย”

“ชาวบ้านกินข้าว ไม่ได้กินฟางหรือหญ้า กว่าโควิดจะจากไป ถามจริงๆ ทำกันได้ลงหรือแบบนี้ ในพื้นที่เป็นกันเกือบทั้งหมด บางที่มาแต่ข้าวยำห่อเดียว ถามว่าข้าวยำห่อละกี่บาท ถึง 50 บาทหรือเปล่า งานนี้เจ้าหน้าที่อิ่ม”

ด้านปลัด อบต.รายหนึ่งใน จ.ยะลา กล่าวว่า อบต.มีหน้าที่สนับสนุนงบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์ และวัสดุทุกอย่างใน ศูนย์ LQ รวมทั้งอาหารของผู้กักตัว 1 คน สามารถเบิกได้ 50 บาทต่อมื้อ 1 วันเบิกได้ 3 มื้อ รวมค่าใช้จ่ายที่เบิกได้ 150 บาทต่อวันต่อคน

ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ดูแล ศูนย์ LQ ก็สามารถเบิกค่าอาหารได้ตามจำนวน 150 บาทต่อวันเช่นกัน ไม่ว่ากี่คนก็นับเป็นรายคนไป ในส่วนเบื้ยเลี้ยงของเจ้าหน้าที่ที่ไปเฝ้า สามารถเบิกได้คนละ 300 บาทต่อวัน เฉพาะที่เป็น อปพร. (อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน) ส่วนอื่นๆ เช่น อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) หรือ ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) หรือผรส. (ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ) ไม่สามารถเบิกให้ได้

“ค่าใช้จ่ายรายหัว 150 บาทต่อวันนี้ เราสามารถใช้จ่ายถัวเฉลี่ยทุกอย่างได้” ปลัด อบต.รายนี้ กล่าว

ปัญหาดราม่าในศูนย์กักตัว กำลังจะกลายเป็นปัญหาโลกแตก เพราะฝั่งผู้ถูกกักตัว ก็มองว่าตนเองน่าจะได้รับบริการที่ดีจากรัฐระดับหนึ่ง เพราะถือว่ายอมเข้ากระบวนการช่วยสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้จะไม่เต็มใจก็ตาม ขณะที่ฝั่ง อบต.และหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบศูนย์ LQ ก็ต้องรับผิดชอบทั้งเรื่องงบประมาณและบุคลากร ทุกเรื่องกลายเป็นเรื่องด่วนไปหมด เนื่องจากโควิดรอไม่ได้

ยิ่งสถานการณ์โรคระบาดยืดเยื้อ เรื่องราวร้องเรียนดราม่าลักษณะนี้…คงไม่หมดง่ายๆ

ที่มา : https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/100624-Localquarantiness.html