ข่าวต่างประเทศ

นายกฯป้ายแดงมาเลย์ แค่เปลี่ยน”แตตาเระ”แก้วใหม่ – พูดคุยดับไฟใต้รอไปก่อน

กระบวนการสรรหาและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซีย ดำเนินไปอย่างเรียบร้อย ราบรื่น และรวดเร็ว 

ผู้ที่ได้ดำรงตำแหน่งคือ 1 ใน 3 ที่เป็นแคนดิเดตตามที่ “ทีมข่าวอิศรา” เคยรายงานเอาไว้

เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ส.ค.64 สำนักพระราชวังมาเลเซีย แถลงว่า นายอิสมาอิล ซอบรี ยาโกบ (หรือ อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ) อดีตรองนายกรัฐมนตรีจากพรรคอัมโน ได้รับเสียงข้างมากในสภา โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาชิก 114 เสียง จากทั้งหมด 220 เสียง สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ สมเด็จพระราชาธิบดีจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ของมาเลเซีย และได้เข้าพิธีสาบานตนในวันที่ 21 ส.ค.

ในทางการเมือง นายอิสมาอิล ซอบรี ยาโกบ อายุ 61 ปี เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดเก่า ภายใต้การนำของ นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน ที่เพิ่งลาออกไป และยังเป็นรองประธานพรรคอัมโม พรรคการเมืองใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย

“ทีมข่าวอิศรา” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.ชัยวัฒน์ มีสัณฐาน รองคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญประเทศมาเลเซีย เพื่อบอกเล่ามุมมองถึงสถานการณ์การเมืองในมาเลย์ และโอกาสของความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

chaiwat22080

@@ มองอย่างไรกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซีย?

สถานการณ์มาเลเซียก็กลับไปสู่สถานการณ์เดิม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเปรียบเหมือนการเปลี่ยน “แตตาเระ” (ภาษามลายู แปลว่า ชาชัก) จากแก้วหนึ่งไปอยู่อีกแก้วหนึ่งเท่านั้น ฉะนั้นก็คงไม่ต่างไปจากเดิมเท่าไหร่ เพียงแต่เปลี่ยนแก้ว หมายถึงเปลี่ยนตัวผู้นำ เพราะว่าตัวของ อิสมาอิล ซอบรี ก็เป็นผู้ให้การสนับสนุน มูห์ยิดดิน นายกฯคนเก่า มาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้นเมื่อ มูห์ยิดดิน ไม่ได้รับการสนับสนุน ก็วนกลับมาเป็น อิสมาอิล ซอบรี สุดท้ายแล้วก็ยังคงเป็นไปในรูปแบบเดิม ที่สำคัญคะแนนเสียงก็ถือว่าไม่ได้ชนะขาด เสียงก็ยังคงปริ่มน้ำ เกินครึ่งหนึ่งมาแค่ 3-4 เสียงเอง (เสียงสนับสนุนจาก ส.ส.แต่ละพรรคในสภา) ด้วยเหตุนี้มันก็ยังไม่มั่นคงเหมือนเดิม และถ้ามีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่จะออกไปจากรัฐบาล มันก็จะกลับมาสู่สถานการณ์เดิมอีก (เสียงสนับสนุนไม่พอ ต้องลาออก)

ผมจึงมองว่าในระยะสั้น รัฐบาลชุดใหม่ก็คงบริหารสถานการณ์โควิดไปอีกสักระยะหนึ่ง หลังจากนั้นถ้าวัคซีนเข้ามามากๆ หรือว่าสถานการณ์โดยรวมดีขึ้น คนฉีดวัคซีนได้มากขึ้น ภายใต้ SOP (มาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard operating procedures ของกระทรวงสาธารณสุข) ก็น่าจะเลือกตั้งได้ ซึ่งไม่น่าจะเกินปีหน้าหรือกลางปีหน้า

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ในยุคของ มูห์ยิดดิน เราก็จะเห็นว่าเพียงแค่กลุ่มที่สนับสนุนออกไปก็อยู่ไม่ได้แล้ว ครั้งนี้เกินครึ่งมา 3-4 เสียง ถ้าออกไปเพียงแค่กลุ่มเดียว ทุกอย่างก็จบ ก็กลายเป็นเสียงข้างน้อยไปโดยทันที ซึ่งตรงนี้ต้องถือว่าไม่มีเสถียรภาพ ต้องบอกว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่มีความมั่นคง ไม่ได้ต่างจากรัฐบาลมูห์ยิดดินเลย

@@ ตัวนายกฯคนใหม่ มีจุดเด่นอะไรบ้าง?

นายอิสมาอิล ซอบรี ค่อนข้างมีการศึกษาที่ดี เรียนจบคณะนิติศาสตร์ เป็นนักกฎหมาย ซึ่งตำแหน่งปัจจุบันเขาเป็นรองประธานพรรคอัมโม ไม่ได้เป็นประธาน แต่ด้วยตัวประธานมีคดีอยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อตัวประธานมีคดี ตัวเขาเองน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดแล้ว และทำให้อัมโนกลับมาเป็นผู้นำอีกครั้ง แม้ว่าจะไม่ได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียวเหมือนในสมัยก่อน แต่ก็ทำให้อัมโนกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ผมมองว่าตรงนี้คนที่อยู่ในพรรคอัมโน แม้ว่าจะไม่ค่อยสนับสนุน อิสมาอิล ซอบรี เท่าไหร่ โดยเฉพาะในปีกของ นายอาห์เหม็ด ซาฮิด ฮามิดี ประธานพรรคอัมโน ก็มองเห็นว่าถ้าสมมุติว่าไม่มาสนับสนุน โอกาสมันก็จะกลับไปเป็นของ อันวาร์ อิบราฮิม (อดีตแกนนำพรรคฝ่ายค้าน) ซึ่งมันก็มีผลเสียมากกว่าผลดี อย่างน้อยที่สุดเอา อิสมาอิล ซอบรี ขึ้นไปเป็นนายกฯ ก็ยังดีกว่าเปิดโอกาสให้ อันวาร์ ขึ้นมาเป็นนายกฯ

เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นการกลับมาสนับสนุน อิสมาอิล ซอบรี ของกลุ่มการเมืองในปีก อาห์เหม็ด ซาฮิด ฮามิดี 15 คนที่แยกออกไปตอนแรก ก็กลับมาให้การสนับสนุน

อิสมาอิล ซอบรี เริ่มเข้าสู่การเมืองเมื่อปี 1987 หรือปี 2530 ถือว่าไม่นานมากนักเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ และเข้ามาเป็นกรรมการพรรคอัมโน หลังจากนั้น 1 ปีเขาขยับมาเป็นหัวหน้าเขต จากกรรมการขยับขึ้นมาเป็นหัวหน้าเขต จากนั้นก็ขยับขึ้นมาเรื่อยๆ พูดง่ายๆ เขาเข้าสู่เส้นทางการเมืองตั้งแต่ปี 1987 เป็นต้นมา แล้วก็ในการเลือกตั้งปี 2008 ประมาณ 20 ปี ได้เป็นตัวแทนที่รัฐปาหัง แล้วชนะการเลือกตั้ง ชนะอดีตรัฐมนตรี

อิสมาอิล ซอบรี คือเข้ามาพรรคอัมโนที่อยู่มา 30 กว่าปี ถ้าเทียบกับรุ่นแรกๆ ถือว่าเข้ามาทีหลัง แต่ก็เป็นรัฐมนตรีมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2008 เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกีฬาและเยาวชน ปี 2019 เป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย แล้วก็มาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ในปี 2013 หลังจากนั้น ปี 2015 เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาชนบท

เขาอยู่ในวงการนี้มาโดยตลอด ประสบการณ์ทางการเมืองไม่น่ากังวล ประสบการณ์ในการบริหารไม่น่ากังวล เพราะว่าอยู่ในวงการการเมืองมาแล้ว ก็เป็นผู้บริหารในระดับรัฐมนตรีมาอย่างต่อเนื่อง

@@ ภารกิจที่ท้าทายของนายกฯคนใหม่?

ปัญหาหลักในมาเลเซียเองขณะนี้ คือปัญหาในเรื่องของการจัดการโควิด ความมั่นคงภายในทางการเมืองที่ยังต้องรักษาเสถียรภาพต่อไป แล้วก็ปัญหาเศรษฐกิจที่มันยังหนักอยู่

@@ ผลกระทบต่อปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย?

ในส่วนของสามจังหวัด ผมมองว่าตัว อิสมาอิล ซอบรี มีความผูกพัน มีสหายอยู่ในฝั่งสามจังหวัดค่อนข้างเยอะมาก แต่การ take action ของเขาในเรื่องสามจังหวัดตอนนี้มันคงไม่สอดคล้องในบริบท และแทนที่จะได้คะแนน ก็กลับกลายเป็นว่าคะแนนเสียงติดลบไปอีก

เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาสิ่งที่ สมเด็จพระราชาธิบดี ทรงประกาศ พระองค์ทรงย้ำว่าให้มุ่งมั่นกับประชาชน โดยเฉพาะปัญหาการจัดการโควิด ตรงนี้ผมก็เลยมองว่าเรื่องอื่นน่าจะเป็นเรื่องรอง และรองมากๆ เพราะว่าตอนนี้เรื่องการต่างประเทศน่าจะไม่มีประเด็น น่าจะไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนัก เพราะว่าเขาโฟกัสไปที่โควิดเป็นหลัก กับความมั่นคงทางการเมืองภายในเป็นหลัก

นโยบายจากเดิมที่เขาตั้งตัวเองว่าอยากเป็นผู้เจรจา เป็นคนกลางในการสร้างกระบวนการสันติภาพ แต่ว่าด้วยสถานการณ์หลายๆ อย่างทางการเมืองที่มันไม่มั่นคง มันก็ทำให้บทบาททางนี้ลดน้อยถอยลงไป

ที่มา : https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/101771-newpmmalay.html

ภาพประกอบจาก Facebook : Ismail Sabri Yaakob , Chaiwat Meesanthan