เปิดแคนดิเดตผู้นำมาเลย์คนใหม่ กู้วิกฤติโควิด ฉุดเศรษฐกิจพ้นปากเหว
เปิด 3 รายชื่อตัวเต็งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนใหม่ หลัง “มูห์ยิดดิน ยัสซิน” ลาออก แต่ยังนั่งรักษาการ ขณะที่ชาวโซเชียลฯมาเลย์ หวังได้ผู้นำคนใหม่มาเร่งกู้เศรษฐกิจและแก้วิกฤติโควิดที่แพร่ระบาดมาเนิ่นนาน
สำนักข่าวในประเทศมาเลเซีย รายงานว่า นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดี อับดุลเลาะห์ ชาห์ เพื่อขอกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งคณะรัฐมนตรีของเขาก็จะพ้นจากตำแหน่งไปด้วย
ในการนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีได้ทรงพระราชทานอนุญาต และทรงอนุมัติการลาออกของนายมูห์ยิดดิน แต่ก็ได้แต่งตั้งให้นายมูห์ยิดดิน รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่
สำหรับการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งของ นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน มาจากการที่เขาถูกกดดดันอย่างหนักจากความล้มเหลวในมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มราว 20,000 คน และยังถูกวิจารณ์ว่า ใช้อำนาจไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญ ทำให้ ส.ส. 11 คนของพรรคอัมโน ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ประกาศจะไม่สนับสนุน นายมูห์ยิดดิน อีกต่อไป
@@ เปิด 3 รายชื่อตัวเต็งนายกฯมาเลย์
จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า ใครจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศมาเลเซียคนต่อไป ต่อจาก นายมูห์ยิดดิน โดยมีกระแสข่าวเรื่องแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของมาเลเซียอยู่ 2 คน
คนแรก คือ นายอิสมาอีล ซาบรี ยาคอบ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
คนที่ 2 คือ นายฮัมซะห์ ไซนุดดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ขณะที่ในโซเซียลมีเดียของมาเลเซีย มีการเก็งกันว่า ใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป โดยระบุว่ามี 3 ชื่อที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่
– นายอันวาร์ อิบราฮิม ส.ส.Port Dickson หัวหน้าพรรค PKR
– เต็งกู ราซาเลห์ ฮัมซาห์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากพรรคอัมโน
– นายอิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ รองนายกรัฐมนตรี จากพรรคอัมโนเช่นกัน
โดยในโซเชียลมีเดียมีความเห็นเกี่ยวกับผู้นำประเทศมาเลเซียคนต่อไปว่า ไม่ต้องการนายกรัฐมนตรีที่เก่งในการประนีประนอม แต่ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีความสามารถและคณะรัฐมนตรี ที่มีประสิทธิภาพในการบริหาร โดยนายกรัฐมนตรีต้องรู้ว่าต้องทำอะไร หรือเรียนรู้เร็วในการแก้ปัญหา นี่คือเกณฑ์หลัก เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ชาวโซเชียลฯในมาเลเซีย ยังต้องการนายกรัฐมนตรีที่เคารพต่อสิทธิของพลเมือง ซึ่งรวมถึงผู้นำทางธุรกิจวงการอุตสาหกรรม สหภาพแรงงานและกลุ่มสิทธิต่างๆ เพื่อที่ทุกคนจะได้ร่วมมือร่วมใจกันเพื่อเอาชนะการแพร่ระบาดของโควิดและฟื้นฟูเศษฐกิจ
ขณะเดียวกัน ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีที่สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากต่างประเทศและวงการธุรกิจได้ เพื่อดึงดูดการลงทุน และให้มีการจ้างงานสำหรับคนมาเลเซียที่ว่างงานอย่างน้อย 8 แสนคนรวมทั้งเพื่อเพิ่มการส่งออกของประเทศมาเลเซีย
ประชาชนชาวมาเลเซียยังต้องการนายกรัฐมนตรีที่มีความคิดใหม่ๆ สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความมั่นใจ ดำเนินการตามแผนอย่างมีประสิทธิภาพ ในยามที่มาเลเซียตกอยู่ภายใต้วิกฤติโควิด เพื่อให้เศรษฐกิจมาเลเซียฟื้นฟูโดยเร็ว
กระแสในโซเซียลมีเดียยังมีความคาดหวังสูงต่อผู้นำคนใหม่ที่ต้องบริหารประเทศมาเลเซียเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน ให้เกิดความร่วมมือของประชาชน เพื่อ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ นำประเทศมาเลเซียให้พ้นวิกฤตโควิดในเร็ววัน
@@ ประกาศคลายมาตรการระยะ 1-2 เพื่อพื้นฟูเศรษฐกิจ
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 16 ส.ค.64 มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 19,740 คน ติดเชื้อสะสม 1,424,639 คน เสียชีวิตเพิ่มอีก 274 คน ยอดเสียชีวิตสะสม 12,784 คน ยังรักษาตัวอยู่ 249,277 คน กลับบ้านแล้ว 1,162,578 คน
ก่อนการลาออก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งขณะนี้มีสถานะเป็นนายกฯรักษาการ ได้ประกาศคลายมาตรการระยะที่ 1 และ 2 ของแผนการฟื้นฟูเเห่งชาติ (NRP) โดยอนุญาตให้ภาคธุรกิจสามารถเปิดทำการได้ มีผลตั้งแต่ 16 ส.ค.64 เป็นต้นไป โดยผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดส (เกิน 14 วันหลังจากที่ฉีดเข็มที่ 2 หรือ 28 วันหลังจากฉีดวัคซีนประเภทฉีดเข็มเดียว) สามารถใช้บริการได้ โดยต้องแสดงใบรับรองการฉีดวัคซีนแบบดิจิทัล (ในโทรศัพท์เคลื่อนที่) ทุกครั้ง ดังมีรายละเอียดดังนี้
1.ร้านค้าอิเล็กทรอนิกส์ ร้านอุปกรณ์เครื่องครัว ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ ร้านขายอุปกรณ์กีฬา ร้านขายอุปกรณ์แต่งรถ ร้านล้างรถ โชว์รูมขายรถยนต์
2. ตลาดเช้า และตลาดเกษตร
3. ร้านทำผม เปิดบริการได้เฉพาะตัดผมเท่านั้น
4. ร้านขายเสื้อผ้า เครื่องประดับและอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ
นอกจากนั้นยังกำหนดให้ผู้ใช้บริการต้องใส่ถุงมือในการจับจ่าย ห้ามลองเสื้อผ้า และจำกัดเวลาของลูกค้าและพนักงานในร้าน
5.เปิดสวนสาธารณะทุกแห่ง ให้ประชาชนสามารถดำเนินกิจกรรมทางกีฬาได้ ได้แก่ วิ่ง ขี่จักรยาน และออกกำลังกาย โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด
6. ภาคธุรกิจที่ไม่จำเป็น (non-essential) ได้แก่ โรงงานผลิต ก่อสร้าง เหมือง เปิดทำการได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขเกี่ยวกับจำนวนพนักงานที่ฉีดวัคซีนครบโดส
7.สำหรับรัฐที่อยู่ในระยะที่ 2 ของแผนการฟื้นฟูแห่งชาติ หรือ NRP ภาคธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้เปิดเพิ่มเติม ได้แก่ ร้านถ่ายรูป ร้านขายของเก่า ร้านขายดอกไม้ ร้านขายของที่ระลึก ร้านขายของมือสอง ร้านขายของเล่น ร้านขายพรม ร้านขายอุปกรณ์ สิ่งประดิษฐ์และเครื่องประกอบต่างๆ ร้านขายเครื่องสำอาง/น้ำหอม และร้านขายบุหรี่
อย่างไรก็ดี รัฐที่จะสามารถเปิดภาคธุรกิจข้างต้นได้ จะต้องเข้าเงื่อนไขที่อย่างน้อย 50% ของประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในรัฐนั้นได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว
@@ จับตาเปลี่ยนนายกฯ เปลี่ยนผู้อำนวยความสะดวกโต๊ะพูดคุยดับไฟใต้
สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในมาเลเซีย มีประเด็นที่ฝ่ายความมั่นคงไทยจับตาเป็นพิเศษ คือผลกระทบที่อาจจะเกิดกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคง เผยว่า แม้ที่ผ่านมากระบวนการพูดคุยฯแทบไม่มีความคืบหน้า เพราะปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้กระบวนการนี้ยังพร้อมเดินหน้าต่อไป ก็คือผู้อำนวยความสะดวก หรือ Facilitator มีความเข้าใจปัญหา แต่เมื่อมาเลเซียมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ก็อาจเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกฯ ด้วย เพียงแต่เรื่องนี้น่าจะยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนของมาเลเซีย
สถานการณ์ล่าสุดมีการประเมินว่า หากพรรคการเมืองในมาเลเซียตกลงกันไม่ได้ว่าจะสนับสนุนใครขึ้นเป็นนายกฯคนใหม่ ก็น่าจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ปัญหาคือจะจัดเลือกตั้งได้อย่างไรในสถานการณ์โควิดระบาดหนักเช่นนี้
อนึ่ง ผู้อำนวยความสะดวก กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยคนปัจจุบัน คือ ตันสรี อับดุลราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย ซึ่งได้รับการแต่งตั้งในรัฐบาลที่ นายมหาธีร์ โมฮาหมัด เป็นนายกรัฐมนตรี (ผู้นำประเทศก่อนหน้าคนปัจจุบันที่เพิ่งลาออก) ขณะทื่หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย คือ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ที่มา : https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/101597-pmmalaysia.html