สัญญาณคลายล็อกเศรษฐกิจ…ถึงเวลาปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม
ทางเลือกระหว่างล็อกดาวน์ยุติกิจกรรมเศรษฐกิจพื้นที่สีแดงเพื่อหยุดการระบาดโควิด-19 กับทางเลือกการเปิดให้ธุรกิจต่างๆ ที่ใกล้เจ๊งให้กลับมาทำมาหากินเพื่อรักษาการจ้างงาน ที่สุดแนวโน้มรัฐบาลเลือกเอาทั้ง 2 อย่างทำคู่ขนานไปพร้อมกัน เป็นที่มาของมาตรการคลายล็อกดาวน์พื้นที่ 29 จังหวัดให้ธุรกิจต่างๆ สามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมท่ามกลางวิกฤตโควิดที่คนติดเชื้อลดจากระดับวันละหลักสองหมื่นเหลือ 1.7 ถึง 1.8 หมื่นคนต่อวันจำนวนคนติดเชื้อสะสมใกล้จะทะลุ 1.2 ล้านคน จำนวนผู้ป่วย 3.5 แสนคนทั้งรักษาตัวโรงพยาบาล, โรงพยาบาลสนาม, ไอโซเลชั่นต่างๆ จำนวนคนติดเชื้อมากมายเกินความท้าทายของระบบสาธารณสุขซึ่งวันนี้รับมือไม่ไหว
มาตรการคลายล็อกดาวน์ที่จะออกมา เช่น ร้านอาหารให้ลูกค้านั่งได้ร้อยละ 50-75 และแนวโน้มเปิดสถานบริการต่างๆ เช่น เสริมสวย, ตัดผม, นวดเท้าไปจนถึงเปิดห้างสรรพสินค้า, คอมมูนิตี้มอลและค้าปลีกต่างๆ นัยว่าจะทยอยเปิดภายในเดือนกันยายนนี้อาจแบ่งเป็น 3 ระยะ ที่ต้องระวังคือการบริหารความเสี่ยงต้องมีมาตรการควบคุมที่มีประสิทธิภาพเหตุเพราะตัวเลขการระบาดยังคงอยู่เทียบจากช่วงสูงสุดลดลงได้แค่ร้อยละ 10 มากน้อยขึ้นอยู่กับการสุ่มตัวอย่างเพียงใด โอกาสการกลับมาระบาดหนักกว่าเดิมก็เป็นไปได้หลายประเทศก็โดนมาทั้งนั้น หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจึงต้องเอาจริงบทลงโทษให้หนักอาจถึงขั้นปิดร้านหรือค่าปรับแรงๆ จะได้กลัว
การคลายล็อกเศรษฐกิจจะทำให้ธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะ SME และผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งอุ้มแรงงานไว้ประมาณ 12 ล้านคนสามารถกลับมาทำมาหากินถึงจะมีเงื่อนไขหรือเปิดไม่ได้เต็มร้อยก็ยังดีกว่าผลทำให้มนุษย์เงินเดือนหรือผู้ใช้แรงงานรับจ้างมีสตางค์ในการจับจ่ายใช้สอยเศรษฐกิจจะได้ค่อยๆ ฟื้นตัว สอดคล้องกับสัญญาณทางบวกสะท้อนผ่านผู้ประกันสังคมมาตรา 33 เดือนกรกฎาคมมีจำนวน 11.127 ล้านคนสูงสุดในรอบ 6 เดือนแต่หากเทียบกับเดือนมีนาคมปีพ.ศ.2563 เป็นช่วงก่อนโควิดระบาดมีผู้ประกันตนสูงสุดที่ 11.730 ล้านคน
ข้อมูลข้างต้นชี้ในเห็นว่าแรงงานในระบบหายไปถึง 603,318 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 5.14 หากเทียบแรงงานที่กลับเข้าไปทำงานช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมปีนี้มีจำนวน 71,720 คนหรือเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.64 บ่งชี้ว่าอย่างน้อยการไหลออกของแรงงานในระบบถึงจุดต่ำสุดตัวเลขนี้ยังไม่รวมแรงงานนอกระบบที่ข้อมูลไม่ชัดเจน การคลายล็อกดาวน์ครั้งนี้จะมีผลต่อการจ้างงานทั้งในระบบประกันสังคมและแรงงานนอกระบบมากขึ้น สอดคล้องกับอัตราว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติไตรมาส 2 ลดจากร้อยละ 2.0 ไตรมาสก่อนเหลือร้อยละ 1.96 ซึ่งตัวเลขนี้เป็นอัตราว่างงานอย่างเป็นทางการแค่ไว้อ้างอิงแต่ไม่สะท้อนข้อเท็จจริง
อันที่จริงการที่ผู้เขียนนำประเด็นเศรษฐกิจที่มีสัญญาณทางบวกและน่าจะถึงจุดต่ำสุดเพื่อจะเป็นการให้เห็นถึงความจำเป็นในการเตรียมพร้อมรับมือเศรษฐกิจใหม่ภายใต้ “Next Normal Economy” เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนบทบาทของหน่วยงานรัฐรวมถึงรัฐบาลและการเมือง ขณะเดียวกันภาคธุรกิจ-เอกชนทั้งรายใหญ่ไปจนถึงรายย่อยจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรเพื่อรับมือภายใต้บริบทโจทย์เศรษฐกิจของโลกที่เปลี่ยนไป กลไกการค้าจะถูกกดดันจากแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เร่งตัวจากพฤติกรรมของผู้บริโภคโดยเฉพาะภาคการค้าระหว่างประเทศ หากโจทย์เปลี่ยนแต่คำตอบยังเหมือนเดิมก็ไปไม่รอด (หากมีโอกาสจะค่อยมาขยายความภายหลัง)
ประเด็นที่อยากจะให้ผู้อ่านได้เห็นภาพเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจใหม่ซึ่งขับเคลื่อนอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล ขณะเดียวกันภาคธุรกิจเอกชนซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของประเทศตลอดจนประชาชนชีวิตขับเคลื่อนอยู่บนแพลตฟอร์มของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทยที่บอกได้ว่าล้าหลัง กรณีศึกษาอื้อฉาว “ผู้กำกับโจ้” เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเล็กๆ การซ้อมผู้ต้องหา-การอุ้มแล้วหาย, การจับแพะหรือเอาถุงคุมหัวผู้ต้องหาเพื่อเค้นให้ได้ข้อมูลหรือให้รับสารภาพจะเป็นเจตนาเพื่อปิดคดีเร็วๆ ให้ได้ผลงานหรือจะเพื่ออะไรก็แล้วแต่ เรื่องเหล่านี้เป็นที่รับรู้กันมานานแล้วเพียงแต่ครั้งนี้มีคลิปวิดิโอเห็นกันแบบเต็มๆ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกระทำเยี่ยงนี้คงไม่ใช่พึ่งมีเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำแล้วประชาชนจะได้รับความเป็นธรรมอย่างไร หากพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายแต่ทำให้เป็นปกติวิสัยในลักษณะ “Normal Practice” ส่งต่อจากรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่งไม่รู้จบ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเร่งปฏิรูปตำรวจและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมรวมถึงกระบวนการยุติธรรมที่ไม่โปร่งใส ไม่ต้องคิดไกลเอาผลการศึกษาปฏิรูปตำรวจของ“พลเอก สล้าง บุนนาค” ซึ่ง “บิ๊กตู่” สมัยคสช.กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเมื่อปีพ.ศ.2560 ได้สั่งการให้ดำเนินการศึกษาแต่เก็บซุกไว้ในหิ้งแค่ลองปัดฝุ่นเอามาใช้ก็คงได้
การปฏิรูปกฎหมายต้องทำทั้งโครงสร้างเกี่ยวข้องกับกฎหมายต่างๆ ส่วนใหญ่ล้าสมัยเน้นการตรวจสอบ-การควบคุมและความมั่นคงมากกว่าการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีการจ้างงานและประชาชนมีรายได้ที่สูงขึ้น-คนยากจนลดลงพ้นจากกับดักพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง อีกทั้งกฎเกณฑ์-ระเบียบ-ข้อบังคับหรือกฎหมายที่ซับซ้อนทำให้มีช่องโหว่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการรีดไถและคอรัปชั่นอย่างเป็นระบบ แม้แต่การเลื่อนขั้นตำแหน่งใหญ่ๆ ก็มีข่าวลือว่าต้องมีการจ่ายเงินนำมาซึ่งการถอนทุน
การทำสงครามล้างไวรัสโควิดให้หมดไปจะต้องทำพร้อมไปกับการขจัดฉ้อราษฎร์บังหลวง-การรีดไถและกระบวนการยุติธรรมให้โปร่งใสและสามารถตรวจสอบไม่ใช่ว่าทุกอย่างเป็น “ความลับทางราชการ” หลังยุควิกฤตโควิดจะนำมาซึ่งวิถีใหม่และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ผู้คนและธุรกรรมการค้าจะเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลก การปฏิรูปกฎหมายและปฏิรูปตำรวจในฐานะผู้คุมกฎจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำโดยเร่งด่วน.
ที่มา : https://www.posttoday.com/economy/columnist/661784