ดูมาตรการ “ฉีดให้ฝ่อ” ป้องกันทำผิดซ้ำคดีทางเพศ-ความรุนแรง ในต่างประเทศ หลังสภาไทยผ่านกฎหมาย
ร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. … ผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภาไปแล้ว หนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุด ได้แก่ มาตรการฉีดลดฮอร์โมนเพศชาย หรือ “ฉีดให้ฝ่อ” ทว่าภาคประชาสังคมที่ทำงานเรื่องความเท่าเทียมทางเพศกลับเห็นต่างออกไป
ร่างกฎหมายฉบับนี้ นับเป็นเรื่องใหม่ ที่ประเทศไทยจะมีกฎหมายขึ้นมาเป็นการเฉพาะเจาะจง เสนอโดยคณะรัฐมนตรีผ่านกระทรวงยุติธรรม และ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
หลักการของกฎหมายระบุว่า ผู้กระทำความผิดในคดีอาญาเกี่ยวกับเพศ หรือที่ใช้ความรุนแรง เมื่อถูกจำคุกจนพ้นโทษได้รับการปล่อยตัวสู่สังคมไปแล้ว แม้จะมีการติดตามจากเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจบ้าง แต่ไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย และไม่มีประสิทธิผลในการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ
“ท่านอาจเคยเห็นว่ามีผู้กระทำความผิดที่ถูกติดตามความประพฤติ จากที่พ้นโทษแล้ว แต่นั่นเป็นเพียงการขอความร่วมมือ จะทำได้หรือไม่ได้ ไม่ได้มีผลบังคับเป็นกฎหมาย จะทำได้ก็ต่อเมื่อผู้พ้นโทษนั้น ยินยอมหรือสมัครใจให้ติดตามเท่านั้น” น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายเสนอร่างกฎหมาย เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา
- โลกโซเชียลร่วมเรียกร้อง “ความยุติธรรมให้นูรา” หญิงสาวที่ได้รับโทษประหารเพราะฆ่าคนที่ข่มขืนเธอ
- เผยมีผู้ถูกประหารในเรือนจำ “เซย์ดนายา” ของซีเรียแล้วหลายพันคน
- เผยตัวเลขประหารชีวิตคนทั่วโลกลดลง 37% แต่จีนยังครองแชมป์
แล้วเรื่อง “ฉีดให้ฝ่อ” เกี่ยวข้องกันอย่างไร หากดูร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ มาตรการนี้คือ หนึ่งในมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด ซึ่งกำหนดให้มีมาตรการทางการแพทย์ และมาตรการอื่นตามที่รัฐมนตรีเสนอตามคณะกรรมการที่กำหนดในกฎกระทรวงในภายหลัง
“ค่าใช้จ่ายการฉีดให้ฝ่อ 100,000 บาทต่อรายนั้น ผมคิดว่าคงมีไม่กี่คนที่ต้องฉีด และขั้นตอนไม่ได้เร็วหรือง่าย การที่เรามีกำไลอีเอ็ม (EM) และอาสาสมัครคุมประพฤติสามารถช่วยในเรื่องนี้ได้มากอยู่แล้ว” นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว
ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการกระทำผิดซ้ำฯ ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 3 เมื่อเดือน ก.พ. 2565 และวุฒิสภา ให้ความเห็นชอบ เมื่อ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา ร่างกฎหมายที่กำหนดการลงโทษ มีเนื้อหาสาระสำคัญอย่างไร และภาคประชาสังคมที่ทำงานส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศมีความเห็นอย่างไรบ้าง
ตัวอย่างในต่างประเทศ
เกาหลีใต้ ปากีสถาน อินโดนีเซีย และอย่างน้อยอีก 5 รัฐ ในสหรัฐฯ บังคับใช้มาตรการฉีดลดฮอร์โมนทางเพศแก่ผู้กระทำผิดในคดีความทางเพศเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เมื่อปี 2019 รัฐแอละบามาในสหรัฐฯ เป็นรัฐล่าสุดที่บังคับใช้กฎหมายนี้
ในปีเดียวกันศาลในอินโดนีเซีตัดสินให้มีการใช้โทษฉีดสารเคมีให้อัณฑะฝ่อเป็นครั้งแรก กับผู้ต้องหาที่ก่อเหตุข่มขืนเด็กหญิง 9 คน หลังบังคับใช้เมื่อปี 2016 พร้อมตัดสินจำคุกอีก 12 ปี และปรับเป็นเงิน 7,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่สมาคมแพทย์อินโดนีเซียปฏิเสธที่จะลงมือปฏิบัติการด้วยเหตุผลเรื่องจริยธรรมทางการแพทย์
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ตีพิมพ์บทความอ้างอิง รายงานของวารสารทางการแพทย์ที่ชื่อว่า สถาบันจิตเวชศาสตร์และกฎหมายอเมริกัน (American Academy of Psychiatry and the Law) ระบุว่า การฉีดยาเพื่อลดฮอร์โมนทางเพศมีผลทำให้สารเทสโทสเตอร์โรน ฮอร์โมนเพศที่สำคัญที่สุดของผู้ชายลดลง และกระทบกับการเบี่ยงเบนทางเพศ โดยผลการศึกษานี้เป็นการรายงานจากผู้ที่ถูกฉีดยา ที่ผู้วิจัยติดตามดูความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับแรงขับทางเพศ และพฤติกรรม
ส่วนรายงานจากวารสารทางการแพทย์ของเกาหลีใต้ในปี 2013 ระบุว่า การฉีดยาลดฮอร์โมนทางเพศมีผลทำให้การกลับมากระทำผิดซ้ำมีระดับต่ำ แม้ว่าจะมีปัจจัยด้านจิตวิทยาที่ส่งผลต่อการลงมือล่วงละเมิดทางเพศ
อย่างไรก็ตาม นิวยอร์กไทมส์บอกว่า ผู้วิพากษ์วิจารณ์มาตรการดังกล่าวในสหรัฐฯ โต้แย้งว่า วิธีการนี้เป็นการบีบบังคับผู้ต้องขังซึ่งอาจถูกบังคับให้เลือกระหว่างการถูกคุมขังในเรือนจำหรือรับยา ส่วนกลุ่มแพทย์ที่มีมุมมองเรื่องจริยธรรมทางการแพทย์ แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่ผู้ต้องขังได้รับ และข้อมูลที่เพียงพอก่อนที่พวกเขาได้รับก่อนตัดสินใจรับการฉีดยาลดฮอร์โมน
ที่มา : https://www.bbc.com/thai/thailand-62133333