การยั่วยุ (Provocative) ที่ไร้ประโยชน์เชิงกลยุทธ์ (Strategy)
การเยือนไต้หวันของแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ สร้างความโกรธเคืองแก่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) อย่างมากถึงขั้นใช้มาตรการตอบโต้ในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและจีนตึงเครียดยิ่งขึ้น การดำเนินนโยบายต่างประเทศของจีนที่เด็ดขาด (assertive) มากขึ้นและการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยตลอดจนท่าทีก้าวร้าวต่อไต้หวัน ก่อให้เกิดความกังวลถึงความเป็นไปได้ที่ CCP อาจจะหาทาง “รวมชาติ” ด้วยกำลังทหาร
แม้การตัดสินใจเยือนไต้หวันของเปโลซีได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯทั้งสองฝ่าย แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากภายในและภายนอกรัฐบาล ขณะที่จีนประโคมข่าวสารเกี่ยวกับการเยือนไต้หวันของเปโลซีเพื่อปลุกกระแสชาตินิยมในประเทศ ภูมิภาคและต่างประเทศ โดยกล่าวโทษว่าสหรัฐฯคือ ผู้ขยายความขัดแย้ง[1]
ระหว่างการเยือนไต้หวันเมื่อ 2 สิงหาคม 2022 เปโลซีได้พบหารือกับประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินและเจ้าหน้าที่รัฐบาลอื่น ๆ และให้ “คำมั่นสัญญาพื้นฐาน” ว่าสหรัฐฯจะ “ยืนหยัดเคียงข้างไต้หวันเสมอ” การเยือนของเปโลซีถือเป็นการมาเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯนับตั้งแต่ปี 1997 ซึ่งเป็นการเยือนของนิวท์ กิงริช ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯขณะนั้น
จีนตอบโต้การเยือนของเปโลซีโดยใช้มาตรการหลายอย่างกระทบไต้หวัน ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนตึงเครียดยิ่งขึ้น เห็นได้จากการตอบสนองของจีนโดย CCP กำลังสร้างสมดุลระหว่างการตอบโต้อย่างรุนแรงเพื่อเอาใจความรู้สึกชาตินิยมในประเทศและการดำเนินมาตรการบรรเทาความโกรธโดยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการคำนวณผิด
ข่าวการเยือนไต้หวันของเปโลซีรั่วไหลสู่สื่อมวลชนตั้งแต่ 19 กรกฎาคม 2022 โดยจีนเตือนสหรัฐฯและไต้หวันเกี่ยวกับผลที่ตามมาจากการเยือน หลังเครื่องบินเปโลซีลงจอดที่ไทเปเมื่อ 2 สิงหาคม 2022 จีนประกาศใช้มาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจ การทูตและการทหาร โดยระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากไต้หวันมากกว่า 2,000 รายการและงดส่งออกทรายธรรมชาติ (natural sand)[2] แก่ไต้หวันเป็นการชั่วคราว
ไต้หวันกล่าวหาว่า CCP ปฏิบัติการการโจมตีทางไซเบอร์ โดยส่งคำขอ (Traffic) เข้าถึงข้อมูลจำนวนมากไปก่อกวนเว็บไซต์ของรัฐบาลไต้หวันพร้อมกัน (DDoS) ขณะที่กองทัพปลดแอกประชาชน (PLA) ได้ส่งเครื่องบินขับไล่ไปยังช่องแคบไต้หวันและดำเนินการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงปิดล้อมน่านน้ำ 6 จุดรอบไต้หวัน ระหว่าง 4 – 7 สิงหาคม 2022 กระทรวงกลาโหมไต้หวันระบุว่าการซ้อมรบดังกล่าวละเมิดน่านน้ำไต้หวัน
การซ้อมรบของจีนส่งผลกระทบทางการค้าและการเมืองในภูมิภาค ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือเชิงพาณิชย์ที่พลุกพล่านที่สุดในโลก PLA ได้ปล่อยขีปนาวุธลงในน่านน้ำรอบไต้หวัน ทำให้เรือและเครื่องบินพลเรือนต้องเปลี่ยนเส้นทางเพราะมีความเสี่ยงจากการซ้อมรบ โนบุโอะ คิชิ รัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่น ระบุว่าขีปนาวุธของ PLA บางส่วนได้ตกลงในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEZ) ของญี่ปุ่น
การดำเนินโยบายต่างประเทศอย่างเด็ดขาดของจีนและท่าทีแข็งกร้าวต่อไต้หวันสร้างความกังวลว่า CCP อาจจะหาทาง “รวมชาติ” ด้วยกำลังทหาร ผู้เชี่ยวชาญหลายคนตั้งข้อสังเกตว่ามาตรการตอบโต้คงเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางปฏิบัติของจีนซึ่งไม่ควรขัดความรู้สึกหรือออกนอกบริบท สหรัฐฯควรดำเนินนโยบายหลีกเลี่ยงการคำนวณผิด โดยพิจารณาหนทางปฏิบัติของ CCP จากปัจจัยภายในของจีนกล่าวคือประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำลังจะสืบต่ออำนาจในการประชุม CPP ครั้งที่ 20
ขณะเดียวกันประธานาธิบดีสี จิ้นผิงและ CCP ถูกกดดันจากพวกสายเหยี่ยวในประเทศที่เรียกร้องให้จัดการ “ปัญหาไต้หวัน” CCP ใช้ประโยชน์จากกระแสชาตินิยมในประเทศเพื่อสร้างอิทธิพลในการตัดสินใจด้านต่างประเทศ เห็นได้จากการคว่ำบาตรในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งมุ่งเป้าไปที่แบรนด์ต่างประเทศ เช่น H&M และ Lotte ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงและ CCP คงจะต้องบริหารความต้องการ “รวมชาติ” อย่างระมัดระวังมิให้พลาดพลั้งไปสู่ความขัดแย้ง[3]
การตระหนักถึงพลวัตภายในของจีนมีความสำคัญอย่างมากสำหรับสหรัฐฯ ซึ่งต้องแยกแยะระหว่างท่าทีภายในประเทศของจีนและการเป็นภัยคุกคาม (ที่น่าเชื่อถือ) การปรับปรุงและขยายช่องทางการสื่อสารที่มีอยู่ระหว่างวอชิงตันและปักกิ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งรวมทั้งการส่งสารที่ชัดเจน เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดที่อาจทำให้เกิดหายนะที่ไม่สามารถย้อนกลับได้
ผู้เชี่ยวชาญนอกรัฐบาลสหรัฐฯตั้งคำถามเกี่ยวกับห้วงเวลาการเยือนไต้หวันของเปโลชีและประโยชน์ที่จะได้ในเชิงกลยุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่สหรัฐฯกำลังสร้างสมดุลระหว่างการสนับสนุนยูเครนและความท้ายทายด้านความสัมพันธ์กับจีน เป็นไปได้ว่าการเยือนไต้หวันของเปโลซีเป็นการส่งสารที่ชัดเจนไปยังจีนและพันธมิตรของสหรัฐฯเกี่ยวกับความมุ่งมั่นต่อภูมิภาคและการมีส่วนร่วมระดับโลก[4]
หลายฝ่ายมองว่าการเยือนครั้งนี้เป็นความสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ นอกเหนือจากข้อโต้แย้งของเปโลซีที่ว่า “สหรัฐฯไม่อาจนิ่งเฉยอยู่ได้ในขณะที่ CCP คุกคามไต้หวันและประชาธิปไตย” แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีมรรคผลใดที่จะส่งเสริมยุทธศาสตร์สหรัฐฯในอินโดแปซิฟิกอย่างมีประสิทธิภาพ[5]
จีนพยายามปลุกกระแสชาตินิยมและกล่าวโทษว่าสหรัฐฯเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง สอดคล้องกับการขยายผลของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯจะต้องเพิ่มความพยายามทางการทูตเป็นสองเท่าเพื่อตอบโต้การระดมเผยแพร่ข่าวสารของ CCP ในภูมิภาคและจะต้องให้ความมั่นใจว่าประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้จะไม่ถูกทำให้ต้องเลือกข้าง (หลายประเทศอาจไม่เต็มใจให้เศรษฐกิจของตนต้องพึ่งพาจีน)
ภารกิจสำคัญของแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อต้นสิงหาคม 2022 ที่ผ่านมา คือ การสร้างเสริมข้อความเชิงบวกเพื่อบรรเทาผลกระทบเชิงลบจากการเยือนไต้หวันครั้งล่าสุดของเปโลซี ซึ่งจะมีรัฐมนตรีต่างประเทศจีนและรัสเซียเข้าร่วม
ที่มา: https://www.ianalysed.com/2022/08/provocative-strategy.html
[1] BEIJING’S DELICATE DANCE: NATIONALIST SENTIMENTS AND THE FEAR OF MISCALCULATIONS IN THE TAIWAN STRAIT INTELBRIEF Friday, August 5, 2022 Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/beijings-delicate-dance-nationalist-sentiments-and-the-fear-of-miscalculations-in-the-taiwan-strait?e=c4a0dc064a
[2] ส่วนประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมผลิตชิปของไต้หวัน
[3] How to prevent a war between America and China over Taiwan The Economist Aug 11th 2022 Available at: https://www.economist.com/leaders/2022/08/11/how-to-prevent-a-war-between-america-and-china-over-taiwan?utm_campaign=a.the-economist-this-week&utm_medium=email.internal-newsletter.np&utm_source=salesforce-marketing-cloud&utm_term=8/11/2022&utm_id=1285780
[4] Pelosi’s Taiwan visit is a move without a strategy MASAHIRO OKOSHI, Nikkei Washington bureau chiefAugust 3, 2022 10:48 JST Available at: https://asia.nikkei.com/Spotlight/Comment/Pelosi-s-Taiwan-visit-is-a-move-without-a-strategy
[5] Pelosi’s Taiwan Visit Risks Undermining U.S. Efforts With Asian Allies By Jane Perlez New York Times Aug. 3, 2022 Available at: https://www.nytimes.com/2022/08/03/world/asia/taiwan-pelosi-visit-allies.html?auth=login-google1tap&login=google1tap