ข่าวต่างประเทศ

การก่อการร้ายแบบผสานสองโลก (O2O): ขบวนการญิฮาดระดับโลกหลังยุคอัล-ซวาฮิริ (ตอนที่ 8)

การสังหารอัยมาน อัล-ซวาฮิรี ผู้นำอัล-กออิดะห์ ช่วยเร่งแนวโน้มการแยกตัวและจัดตั้งสาขาในภูมิภาคของขบวนการญิฮาดระดับโลก กลยุทธ์แตกสาขา (franchising strategy) ทำให้อัลกออิดะห์ขยายตัวไปตั้งมั่นในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายอย่างไม่หยุดยั้งของสหรัฐฯสามารถกำจัดผู้นำรัฐอิสลาม (IS) ซึ่งพยายามหาทางอยู่รอดและรักษาสภาพความเป็นองค์กร ทั้งนี้ แอฟริกาใต้ซาฮารา (Sub-Saharan Africa)[1] กลายเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวของขบวนการญิฮาด[2]

การโจมตีแบบระบุเป้าหมาย (target killing) ด้วยโดรนของสหรัฐฯเพื่อสังหารอัยมาน อัล-ซวาฮิรี ผู้นำ  อัล-กออิดะห์เมื่อ 31 กรกฎาคม 2022 บ่งชี้ถึงการสิ้นสุดของยุคสมัยขบวนการญิฮาดระดับโลก อัล-ซวาฮิรีเป็นหนึ่งในนักรบญิฮาดผ่านศึกคนสุดท้ายซึ่งทำงานใกล้ชิดกับอุซามะห์ บินลาเดน ความตายของอัล-ซวาฮิรีส่งผลกระทบต่ออัลกออิดะห์อย่างไม่ต้องสงสัยทำให้การแยกตัวและขยายสาขาของขบวนการญิฮาดในภูมิภาคต่าง ๆ เร่งตัวขึ้น

อัล-กออิดะห์ประสบความสูญเสียอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 2 ทศวรรษของปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายที่นำโดยสหรัฐฯรวมถึงการโจมตีด้วยโดรนและปฏิบัติการพิเศษ เพื่อความอยู่รอดอัล-กออิดะห์ใช้กลยุทธ์ขยายสาขาไปจัดตั้งกลุ่มก่อการร้ายในระดับภูมิภาค เช่น ลิแวนต์ (Levant)[3] แอฟริกาเหนือ จงอยแห่งแอฟริกา (Horn of Africa) คาบสมุทรอาหรับ อนุทวีปอินเดียและอื่น ๆ

อัล-ซวาฮิรีถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เรื่องขาดบารมีและไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้มีศักยภาพเป็นนักรบญิฮาดรุ่นใหม่ แต่เขาควรได้รับความเชื่อถือในฐานะศูนย์การนำอัล-กออิดะห์ที่ประสบชัยชนะในการต่อสู้ (ญิฮาด) ในอัฟกานิสถาน หากไม่มีเขาเป็นผู้นำรัศมีของอัล-กออิดะห์อาจถูกบดบังจาก Jama’at Nasr al-Islam wal Muslimin (JNIM) ซึ่งให้ความสำคัญกับวาระปัญหาในท้องถิ่น

ในปี 2014 กลุ่มรัฐอิสลาม (IS) บุกโจมตีแบบสายฟ้าแลบเข้ายึดครองพื้นที่เมืองใหญของอิรักและซีเรียพร้อมการโฆษณาชวนเชื่อขยายความสำเร็จอย่างน่าตกใจ ส่งผลให้ชื่อเสียงอัล-กออิดะห์ตกเป็นรอง IS ซึ่งครอบงำขบวนการญิฮาดทั่วโลกอย่างรวดเร็ว Abu ​​Bakr al-Baghdadi ผู้นำ IS ได้ประกาศจัดตั้งรัฐอิสลามต้นแบบและสถาปนาตนเองเป็นคอลิฟะห์ (caliph) ดึงดูดผู้สนับสนุนหลายหมื่นคนจากทั่วโลก

ฤดูใบไม้ผลิปี 2019 IS ประสบความพ่ายแพ้และสูญเสียพื้นที่ยึดครองฐานที่มั่นสุดท้ายในเมืองบากูซ ซีเรีย IS ขยายสาขาไปทั่วโลกโดยได้รับสวามิภักดิ์จากกลุ่มก่อร้ายในภูมิภาคต่าง ๆ ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯและพันธมิตรได้กำจัดผู้นำ IS ซึ่งพยายามปรับตัวเพื่อหาทางอยู่รอด ขณะที่มาตรการต่อต้านการก่อการร้ายได้สร้างเงื่อนไข ซึ่งทำให้กลุ่มก่อการร้ายใช้เป็นข้ออ้างชักชวนสมาชิกและจัดตั้งองค์กรเครือข่ายใหม่

ที่ผ่านมาอัล-กออิดะห์และ IS พยายามเสริมสร้างเครือข่ายสาขาทั่วทั้งแอฟริกาและแสวงประโยชน์จากความขัดแย้งขาดไร้ธรรมาภิบาลในท้องถิ่นและภูมิภาค จุดศูนย์ดุล (center of gravity) ของขบวนการญิฮาดระดับโลกเริ่มต้นในเอเชียใต้ (อัฟกานิสถานและปากีสถาน) โดยการหยั่งรากของอัล-กออิดะห์  หลังการกำเนิดของ IS เวทีเคลื่อนไหวหลักของขบวนการญิฮาดได้ย้ายไปยังตะวันออกกลางและแอฟริกาใต้สะฮารา

ปัจจุบันความเป็นผู้นำของอัล-กออิดะห์และ IS เสื่อมทรามลงถึงจุดต่ำสุด ทำให้กลุ่มก่อการร้ายญิฮาดทั่วทั้งแอฟริกาเคลื่อนไหวเป็นอิสระมากขึ้น การจัดลำดับความสำญเร่งด่วน ข้อจำกัดด้านทรัพยากรและโอกาสใหม่ ๆ ได้แปลงสภาพ (transform) ภูมิทัศน์การญิฮาดในแอฟริกา ประวัติศาสตร์เผยให้เห็นการเปลี่ยนจุดมุ่งหมายการต่อสู้ของขบวนการญิฮาด ตัวอย่างเช่น กลุ่มติดอาวุธอิสลาม (GIA) ที่พยายามโค่นล้มรัฐบาลแอลจีเรีย แต่หันมาโจมตีผลประโยชน์และพลเมืองฝรั่งเศสรวมถึงการลักพาตัว วางระเบิดและพยายามปล้นยึดเครื่องบิน

ฝรั่งเศสและเยอรมนีได้ทบทวนพันธกรณีของกองกำลังในซาเฮล ขณะที่รัสเซียขยายบทบาทของเครือข่ายนักรบรับจ้าง (Wagner Group) สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงในภูมิภาคจะยังคงไม่เป็นระเบียบ การถอนตัวออกจากมาลีของฝรั่งเศสเมื่อต้นสิงหาคม 2022 อาจเป็นโอกาสให้กลุ่มญิฮาดเข้าแทนที่เพื่อใช้เป็นที่หลบภัย (safe haven) หรือเป็นฐานส่งออกการก่อการร้านในภูมิภาค หากกองกำลังความมั่นคงของมาลีและรัสเซียไม่สามารถรักษาความสงบพื้นที่ชนบทของประเทศ

กว่าสองทศวรรษหลังวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 มีการสร้างกรอบการทำงานที่ซับซ้อนของสถาบันและกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อตอบสนองภัยคุกคามข้ามชาติที่อุบัติขึ้น นโยบายต่อต้านการก่อการร้ายถูกจัดหมวดหมู่ในกลุ่มความขัดแย้งตามแบบ (conventional conflict) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิกฤตการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานตลอดจนความไม่มั่นคงด้านอาหาร

หลายประเทศมองว่าการจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของปัญหาดังกล่าว อาจไม่สามารถเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน (mutually exclusive) และประเมินความทับซ้อนของการก่อการร้ายและภูมิศาสตร์การเมืองต่ำเกินไป ขณะเดียวกันการลดความสนใจด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ถูกมองว่าเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการขจัดภัยคุกคามข้ามชาติ อย่างไรก็ดี การลงทุนด้านกลยุทธ์การป้องกันและบรรเทาผลกระทบยังคงมีความสำคัญ

อุดมการณ์ญิฮาดที่อัล-กออิดะห์เผยแพร่ยังคงส่งเสียงกึกก้องในชุมชนต่าง ๆ ทั่วโลกที่ล้าหลังทางการเมืองและเศรษฐกิจ เหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างและแตกแยกทางความเชื่อ เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยเพิ่มความได้เปรียบให้กับนักรบญิฮาดรวมทั้งความสามารถในการสื่อสารผ่านการเข้ารหัสแบบ end-to-end[4] ที่ยากต่อการตรวจพบ ขณะที่การโฆษณาชวนเชื่ออย่างซับซ้อนของขบวนการญิอาด ประสบผลสำเร็จในการปลุกเร้าความรุนแรงสุดโต่งในประเทศตะวันตก

อัล-ซวาฮิรีทิ้งร่องรอยการญิฮาดไว้ทั่วโลก อนาคตของขบวนการอาจดูแตกต่างออกไป โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง (decentralization) ที่เริ่มต้นภายใต้การนำของเขา พัฒนาการเหล่านี้อาจทำให้รัฐเปราะบางและขาดการเตรียมพร้อมไม่สามารถรับมือความท้าทายด้านความมั่นคง อันเกิดจากขบวนการญิฮาดในภูมิภาคหรือท้องถิ่นที่มีขีดความสามารถมากขึ้นและได้ประโยชน์จากการที่สหรัฐฯและพันธมิตร ยังคงหมกมุ่นอยู่กับการผงาดขึ้นมามาของจีนและการเอาคืน (revanchist) ของรัสเซีย


ที่มา: https://www.ianalysed.com/2022/09/o2o-8.html


[1] พื้นที่อยู่ในทวีปแอฟริกาทางด้านใต้ทะเลทรายสะฮารา ประกอบด้วย 54 ประเทศ มีประชากรรวมกัน 574 ล้านคน ภูมิภาคนี้มีพื้นที่ประมาณร้อยละ 16 ของพื้นดินของโลกส่วนใหญ่เป็นป่าทึบและบางส่วนเป็นทะเลทราย

[2] THE GLOBAL JIHADIST MOVEMENT IN A POST-ZAWAHIRI ERA INTELBRIEF August 19, 2022 Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/the-global-jihadist-movement-in-a-post-zawahiri-era?e=c4a0dc064a

[3] หรือ “อัชชาม” ในภาษาอาหรับ ( الشام/ash-Shām) เดิมหมายถึงบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก (พื้นที่เอเชียตะวันตกทางฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งมีเทือกเขาทอรัสเป็นเขตแดนทางตอนเหนือ ทะเลทรายอาหรับทางใต้และทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตะวันตกส่วนทางตะวันออกเป็นเทือกเขาแซกรอส คำว่าลิแวนต์มีความหมายทางวัฒนธรรมมากกว่าที่จะเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ใดที่หนึ่งที่เฉพาะเจาะจงและความหมายของคำก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตลอดมาในประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและทัศนคติในการอ้างอิง เข้าถึงได้ที่: https://th.wikipedia.org/wiki/ลิแวนต์

[4] หรือ E2EE คือการเข้ารหัสผ่านระหว่างคู่สนทนาสองคนตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ที่มีผู้ให้บริการ (service provider) หลายรายโฆษณาว่าบริการส่งข้อมูลของตนปลอดภัยจากการถูกดักฟังหรือการสอดส่องข้อมูล