ข่าวต่างประเทศข่าวสารเทคโนโลยี

เป็นเจ้าของทวิตเตอร์แล้ว! อีลอน มัสก์ ปิดดีล 1.6 ล้านล้านบาท CEO-ผู้บริหาร 3 คน ถูกไล่ออกทันที

หลังจากเป็นดราม่ามานานหลายเดือน ‘อีลอน มัสก์’ (Elon Musk) มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ก็ได้เป็นเจ้าของทวิตเตอร์แล้วในที่สุด หลังจากที่สื่อหลายแห่งรายงานตรงกันว่า เขาปิดดีลซื้อกิจการ มูลค่า 44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ได้ เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (27 ตุลาคม)

และเมื่อมัสก์เข้ามาเป็นเจ้าของทวิตเตอร์คนใหม่ ก็มีรายงานการไล่ออกผู้บริหารระดับสูง 4 คนทันที ประกอบด้วย

  • ปารัก อักราวัล (Parag Agrawal) CEO ของทวิตเตอร์
  • เน็ด เซกัล (Ned Segal) CFO หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน
  • วิจายา แกดด์ (Vijaya Gadde) ผู้บริหารด้านกฎหมายและนโยบาย
  • และ ฌอน เอ็ดเจ็ตต์ (Sean Edgett) ที่ปรึกษาทั่วไป

นอกจากนี้ The New York Times ยังรายงานปากคำจากพยาน ที่บอกว่า อย่างน้อย 1 ใน 4 คนนี้ ต้องออกจากออฟฟิศด้วยการถูกพาเดินออกด้วย

ก่อนหน้าที่จะมีรายงานการปิดดีล มัสก์ก็เพิ่งเปลี่ยนไบโอบนโปรไฟล์ทวิตเตอร์ว่าเป็น ‘Chief Twit’ พร้อมกับโพสต์วิดีโอบนทวิตเตอร์ เป็นภาพตัวเองแบกอ่างล้างหน้าเข้าไปในสำนักงานใหญ่ของทวิตเตอร์ พร้อมกับคำบรรยายว่า “Entering Twitter HQ – let that sink in!”

ประโยคดังกล่าว หมายความได้ว่า แม้การที่มัสก์จะเข้ามาที่สำนักงานใหญ่ทวิตเตอร์อาจจะไม่ค่อยคุ้นตา แต่ก็ต้องทำใจให้เรื่องนี้ค่อยๆ ซึมซับในหัวจนเข้าใจไปเอง ซึ่งก็ดันไปพ้องกับประโยคที่แปลอย่างตรงไปตรงมาว่า “ให้อ่างล้างหน้านั่นเข้ามาซะ!” ด้วย

ต่อมา เมื่อวานนี้ มัสก์ได้เผยแพร่แถลงการณ์ จั่วหัวถึง ‘ผู้โฆษณาของทวิตเตอร์’ มีบางส่วนระบุว่า “เหตุผลที่ผมซื้อทวิตเตอร์ก็เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญที่มนุษยชาติในอนาคตจะต้องมีพื้นที่ศาลากลางดิจิทัลร่วมกัน ซึ่งเป็นที่ที่ความเชื่ออันหลากหลายสามารถถูกนำมาดีเบตกันได้อย่างปลอดภัย โดยปราศจากการใช้ความรุนแรง”

มัสก์บอกอีกว่า ทุกวันนี้ โซเชียลมีเดียเสี่ยงที่จะถูกแบ่งออกเป็น ‘เอคโค่แชมเบอร์’ (echo chamber) ระหว่างฝ่ายซ้ายจัดกับขวาจัดมากเกินไป ขณะที่สื่อดั้งเดิมก็เติมฟืนความขัดแย้งเหล่านี้เพราะทำเงินได้ จึงเป็นเหตุผลที่ต้องซื้อทวิตเตอร์ “ผมทำมันเพื่อพยายามกอบกู้มนุษยชาติที่ผมรัก” เขากล่าว

มัสก์ยังระบุด้วยว่า ทวิตเตอร์จะไม่สามารถเป็น ‘free-for-all hellscape’ ที่ใครจะสามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องรับกับผลกระทบที่ตามมา แต่จะต้องเป็นแพลตฟอร์มที่ “อบอุ่นและต้อนรับทุกคน เป็นที่ที่คุณสามารถเลือกมีประสบการณ์ตามความต้องการของตัวเองได้ เช่นเดียวกับการดูหนังและเล่นเกมในแบบที่เหมาะกับวัยของตัวเอง”

ที่มา: https://thematter.co