ฟ้องหย่าปัตตานีพุ่ง 3,000 คดี กับบทบาทสตรีที่ถูกตีกรอบ?
“เรารับคดีครอบครัวในเวลา 6 ปีที่ผ่านมา 2560-2565 ทั้งหมดจำนวน 4,678 คดี ปี 2560 ไกล่เกลี่ย 722 คดี สำเร็จ 394 คดี ฟ้องหย่า 523 คดี, ปี 2561 ไกล่เกลี่ย 826 คดี สำเร็จ 634 คดี ฟ้องหย่า 614 คดี, ปี 2562 ไกล่เกลี่ย 821 คดี สำเร็จ 617 คดี ฟ้องหย่า 619 คดี, ปี 2563 ไกล่เกลี่ย 832 คดี สำเร็จ 676 คดี ฟ้องหย่า 630 คดี, ปี 2564 ไกล่เกลี่ย 766 คดี สำเร็จ 589 คดี ฟ้องหย่า 547 คดี และปี 2565 ไกล่เกลี่ย 710 คดี สำเร็จ 534 คดี ที่เหลือเป็นฟ้องหย่า”
รวมคดีฟ้องหย่าเฉพาะปัตตานีจังหวัดเดียวในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาทั้งสิ้น 3,109 คดี
นี่เป็นข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี หรือที่เรียกกันติดปากว่า “มัจลิสปัตตานี” ที่ถูกเปิดเผยในเวทีสัมมนาแนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีในกิจการศาสนาอิสลาม ด้านเด็ก สตรี และครอบครัว จัดโดยเครือข่ายผู้หญิง ภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (CIVIC WOMEN) และองค์กรภาคี ภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพภาคประชาสังคมชายแดนใต้โดยกระบวนการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี อำเภอเมืองปัตตานี เมื่อเร็วๆ นี้
ภายในงานมีตัวแทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกจังหวัด ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคการเมือง ร่วมแชร์ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความเห็น
นี่คือตัวเลขที่น่าหนักใจที่สะท้อนผ่าน “มัจลิส” หรือ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งรับผิดชอบแก้ไขข้อพิพาทเกี่ยวกับครอบครัวตามหลักอิสลาม ทั้งเรื่องดีและไม่ดี คือทั้งการแต่งงาน การอบรมก่อนใช้ชีวิตคู่ และการหย่าร้าง แยกทางกัน รวมไปถึงเรื่องมรดก
ตัวเลขการฟ้องหย่าที่สูง สะท้อนปัญหาครอบครัวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเชื่อมโยงถึงปัญหาสังคมอีกหลายปัญหา และกระทบเข้ากับสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นต้นธารของชุมชนและสังคมเข้าอย่างจัง
ต้นเหตุของการหย่าร้างมาจากปัญหายาเสพติด สภาพการศึกษา เศรษฐกิจ และการว่างงาน
“เรามีแต่หน้าที่ แต่ไม่มีอำนาจที่จะบังคับคดีให้สามีส่งเสียลูกได้” เป็นเสียงจากตัวแทนมัจลิสปัตตานี ที่ชี้ให้เห็นถึงผลสะเทือนที่เกิดกับเด็ก จากปัญหาครอบครัวที่เกิดจากพ่อและแม่
ปัญหาการหย่าร้าง สะท้อนผ่านตัวเลขผู้ลงทะเบียนแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เปิดเป็นครั้งแรกเมื่อไม่นานมานี้ จำนวน 620 คน จำนวนนี้ร้อยละ 64 เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเพราะสามีเสียชีวิต และร้อยละ 36 มาจากการหย่าร้าง มีเด็กกำพร้าพ่อจำนวน 43 คน อยู่กับแม่จำนวน 197 คน พ่อแม่เสียชีวิตจำนวน 8 คน
ถือเป็นปัญหาหนักที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้สถานการณ์ความรุนแรง เศรษฐกิจ การศึกษา ยาเสพติดที่แพร่ระบาด และค่านิยมความเชื่อ ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา ศูนย์ข่าวภาคใต้