ข่าวสถานการณ์ชายแดนใต้ข่าวในประเทศ

จากคาร์บอมบ์แฟลตตำรวจถึงบึ้มรถไฟ ถึงเวลา “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ต้องจริงจังดับไฟใต้!

นอกจากชีวิตและทรัพย์สินแล้วของครอบครัวผู้เสียหายแล้ว ยังถือเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่อีกระลอก สำหรับการก่อวินาศกรรมในชายแดนใต้ช่วงก่อนสิ้นปี เริ่มจากคาร์บอมบ์แฟลตตำรวจ อ.เมือง จ.นราธิวาส ต่อด้วยบึ้มรถไฟซ้ำ 2 หนที่ อ.สะเดา จ.สงขลา มีทั้งผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บมากมาย

สำหรับการที่เจ้าหน้าที่รถไฟเหยียบกับดักระเบิดลูกที่ 2 เสียชีวิต 3 ศพและบาดเจ็บ 4 ราย ซึ่งระยะเวลาห่างจากการลอบวางระบิดลูกแรกถึง 3 วัน และระยะทางห่างจากจุดบึ้มรถไฟครั้งแรกเพียง 100 เมตร ต้องถือเป็นความสูญเสียที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นหากชุดตรวจสอบและเก็บกู้ทำหน้าที่ได้รอบคอบรัดกุมตั้งแต่ระเบิดครั้งแรก

ณ บรรทัดนี้ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสียและได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งขอให้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นอุทาหรณ์ว่า ในความขัดแย้งและมีการใช้ความรุนแรงในรูปแบบสงครามกองโจร นั่นย่อมไม่มีพื้นที่ปลอดภัยเหลืออยู่

คงจำกันได้พื้นที่สำคัญมากๆ อย่างสถานีรถไฟหาดใหญ่ สนามบินนานาชาติหาดใหญ่ ห้าง โรงแรม รวมถึงย่านการค้าใจกลางเมืองหาดใหญ่ โรงแรมกลางเมืองสะเดา กระทั่งรูปปั้นนางเงือกแหลมสมิหลา ต่างก็ไม่รอดพ้นจากการถูกก่อวินาศกรรมโดยฝีมือขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็นมาแล้วทั้งสิ้น

ในอดีต ขีดความสามารถของบีอาร์เอ็นน้อยกว่านี้ยังทำได้ แล้วปัจจุบันที่การผลิตวัตถุระเบิดและรูปแบบการก่อวินาศกรรมมีความก้าวหน้ามาก ถ้ากลุ่มคนพวกนี้ตั้งใจจะปฏิบัติการนับว่าไม่ยากแน่นอน แต่ที่ไม่ทำเพราะกลัวมีผลพวงที่ยุ่งยากติดตามมามากกว่าเกรงกลัวเจ้าหน้าที่จับกุมได้

ยิ่งทุกวันนี้ “การป้องกันเมืองเศรษฐกิจ” ในชายแดนใต้ดูจะ “หละหลวม” เพราะหน่วยงานความมั่นคงเข้าใจว่า “สถานการณ์ดีขึ้น” และ “เอาอยู่” ซึ่งความรู้สึกในทำนองนั้นเป็นได้แค่ “ภาพลวงตา” หรือเป็นการ “โปรปะกันดา” ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของข้อเท็จจริง

ข้อเท็จจริงข้อที่ 1 ไฟใต้ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่เราหนีความรุนแรงไม่พ้น เพราะบีอาร์เอ็นยังไม่ยุติการใช้ความรุนแรงกับ “กลุ่มเปราะบาง” และ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าก็ต้องตอบโต้ด้วยการปิดล้อม ตรวจค้น เพื่อจับกุมผู้ทำความผิด อันเป็นการป้องกันการก่อเหตุ จึงหนีไม่พ้นความสูญเสียของทั้ง 2 ฝ่าย

ข้อเท็จจริงข้อที่ 2 บีอาร์เอ็นต้องการให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า “ติดกับดักความรุนแรง” เพราะนั่นทำให้สังคมโลกเห็นว่ายังมีความขัดกันด้วยอาวุธ มีการต่อสู้ มีการวิสามัญฯ มีการก่อวินาศกรรม ทั้งนี้เพื่อให้เห็นว่าชายแดนใต้ไม่ได้สงบอย่างที่ฝ่ายความมั่นคงกล่าวอ้าง

ข้อเท็จจริงข้อที่ 3 เป้าหมายบีอาร์เอ็นคือ “ทำลายเศรษฐกิจ” ซึ่งประเด็นนี้คือ “ยุทธศาสตร์หลัก” ประการหนึ่งที่ต้องกระทำเพื่อให้เกิดความได้เปรียบ และแน่นอนการก่อวินาศกรรมที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งย่อมส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ การลงทุนและการท่องเที่ยวอย่างมากมายตามมา

ข้อเท็จจริงข้อที่ 4 บีอาร์เอ็นประกาศ “รัฐธรรมนูญใหม่” ยึดครองเป็นครอบคลุมทั้ง 5 จังหวัดชายแดนใต้ นั่นคือ จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.นราธิวาส กับ 5 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี อ.สะบ้าย้อย และเพิ่ม อ.สะเดา รวมทั้งผนวก 2 อำเภอของ จ.สตูล คือ อ.เมือง กับ อ.ควนโดน ที่ติดมาเลเซียเช่นกัน

การขยายอาณาเขตยึดครองของบีอาร์เอ็นด้วยการขยายพื้นที่ก่อการร้าย ย่อมส่งผลให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าต้องขยับตาม แน่นอนว่ามีผลกับทั้ง “กำลังพล” และ “งบประมาณ” รวมถึงกระทบด้านอื่นๆ อีกมากมาย

การก่อวินาศกรรม 2 ครั้งใหญ่คือ คาร์บอมบ์แฟลตตำรวจที่ จ.นราธิวาส และบึ้มรถไฟที่ จ.สงขลา ช่วงส่งท้ายปี 2565 ของบีอาร์เอ็นเป็นการกระทำที่มียุทธศาสตร์อย่างแน่นอนคือ 1.ทำลายความเชื่อมั่น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า 2.ตอบโต้ที่ถูกวิสามัญฯ 3.สร้างความฮึกเหิมให้กองกำลังติดอาวุธและแนวร่วมในพื้นที่

4.ต้องการทำลายเศรษฐกิจเมืองชายแดนที่กำลังฟื้นตัว โดยเฉพาะช่วงส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ 5.ดิสเครดิตแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ที่กำลังโยกย้ายนายทหารระดับ ผบ.หน่วยในพื้นที่ และ 5.หวังผลให้ได้เปรียบต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุขหนใหม่กับตัวแทนรัฐไทยที่อาจมีขึ้นก่อนสิ้นปีหรือต้นปีหน้าที่มาเลเซีย

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงนับว่านอกจากบีอาร์เอ็นมีแต่ “ได้กับได้” แล้วยังไปเข้าทาง “เจนีวาคอลล์” และ “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ(ICRC)” อีกต่างหาก เพื่อให้องค์กรต่างชาติได้อยู่ในพื้นที่เพื่อทำหน้าที่ “หุ้นส่วนดับไฟใต้” ต่อไป ซึ่งเป็นหมากเกมของชาติตะวันตกที่ร่วมมือฝ่ายมาเลเซียมาตลอด

เป็นที่สังเกตว่าภายหลังวิสามัญฯ ครูสอนศาสนาใน “สภาอูลามา” ที่ จ.นราธิวาส ซึ่งมีการจัดพิธีศพในพื้นที่ไปแล้วอย่างยิ่งใหญ่ ปรากฏว่ามีกลุ่มคนในชายแดนใต้ถึง 10 คนที่ขอ “ลี้ภัย” กับ “UNSCR” ซึ่งต้องนับว่าเป็นแผนการที่แยบยลของฝ่ายบีอาร์เอ็นอย่างมาก

มีสิ่งที่ทุกฝ่ายพึงสังวรอีกด้วยคือ “พรรคปาส” หรือพรรคมุสลิมสุดโต่งที่ชนะเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาลมาเลเซียไปแล้ว แม้มีฐานที่มั่นอยู่ที่รัฐกลันตันและรัฐตรังตานู แต่ยังได้ที่นั่ง ส.ส.ในรัฐเคดาห์และรัฐเปอร์ลิสที่อยู่ติดชายแดนกับ จ.สงขลาและ จ.สตูลด้วย ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าคือพรรคที่หนุนหลังบีอาร์เอ็นมาตลอด

ดังนั้นนับแต่นี้ไปต้องถือว่าเป็นการเพิ่มช่องทางในการ “ลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์” เข้ามาปฏิบัติการในชายแดนใต้ของไทยได้สะดวกมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้สังคมไทยเราต้องจับตากันต่อไป

ส่วน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า อาจได้ประโยชน์จากการที่บีอาร์เอ็นขยายพื้นที่มายัง จ.สงขลาและ จ.สตูล ด้วยการขอเพิ่ม “งบประมาณดับไฟใต้” ด้วยหรือไม่ ประเด็นนี้สังคมไทยก็ต้องจับตาแบบไม่กระพริบกันต่อเนื่องต่อไปด้วย

ท้ายที่สุดได้แต่หวังว่า ห้วงส่งท้ายปีเก่า 2565 และต้อนรับปีใหม่ 2566 เวลานี้ พล.ท.ศานติ ศกุลตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 /ผอ.รมน.ภาค 4 จะควบคุมสถานการณ์ไม่ให้มีวินาศกรรมใหญ่ๆ เกิดขึ้นตามมาอีก เพราะที่เกิดมาแล้ว 2 ระลอกได้ทำลายขวัญและความเชื่อมั่นไปมากมาย ซึ่งต้องใช้เวลากอบกู้อีกยาวนานเลยทีเดียว


ที่มา: คอลัมน์ จุดคบไฟใต้ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก โดย: ผู้จัดการออนไลน์