ข่าวสารเทคโนโลยี

สายชาร์จมือถือแฮกข้อมูลได้จริงไหม ป้องกันอย่างไร ?

จากข่าวที่มีผู้โดนมิจฉาชีพดูดเงินจากบัญชีธนาคารจนสูญเงินไปกว่าแสนบาทจากการชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือทิ้งไว้ข้ามคืน ทำให้สังคมเกิดความสงสัยว่า สายชาร์จมือถือสามารถแฮกข้อมูลได้จริงหรือไม่

จากข้อมูลของเว็บไซต์ Triskelelabs.com ซึ่งให้บริการด้าน Cyber Security ของประเทศออสเตรเลียเผยว่าสายชาร์จมือถือที่ดูดข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือได้นั้น “มีอยู่จริง” เรียกว่า O.MG cable ซึ่งมีหน้าตาเหมือนสายชาร์จมือถือทั่วไป แถมทำเลียนแบบทั้งแอนดรอยด์และไอโฟนได้อย่างแนบเนียนจนแยกความแตกต่างได้ยาก

การทำงานของสายชาร์จ O.MG cable จะเริ่มขึ้นหลังจากที่มีคนนำสายชาร์จนี้ไปเสียบเพื่อใช้งาน จากนั้นจะมีการเข้าถึง Wi–Fi และเชื่อมต่อกับเครือข่ายต่างๆ โดยที่แฮกเกอร์จะควบคุมการทำงานจากระยะไกลผ่านเว็บเบราว์เซอร์ และสามารถพิมพ์ข้อความหรือควบคุมคีย์บอร์ด พร้อมบันทึกข้อมูลจากการพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นเลขบัญชี รหัสธนาคาร รหัสผ่านต่างๆ รวมถึงขโมยข้อมูลต่างๆ ของเราได้อย่างง่ายดาย

“สายชาร์จมือถือที่แฮกข้อมูลได้มีอยู่จริง และหน้าตาเหมือนกับสายชาร์จมือถือทั่วไปมาก ที่ต่างคือสายชาร์จมือถือแบบนี้จะใช้ยูเอสบีแบบพิเศษที่สามารถอ่านข้อมูลในมือถือเราได้ แต่สายชาร์จพวกนี้จะมีราคาสูงมาก มีราคาตั้งแต่ 199-500 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6,713-16,865 บาท) เลยทีเดียว จึงอาจจะเป็นเรื่องยากที่จะพบเจอสายชาร์จแบบนี้ได้ทั่วไป แต่การป้องกันที่ดีที่สุดคือควรใช้สายชาร์จมือถือส่วนตัว ไม่ควรยืมคนอื่น หรือใช้สายชาร์จมือถือแบบสาธารณะ หากต้องการซื้อสายชาร์จมือถือใหม่ก็ควรเลือกซื้อเฉพาะของแท้ที่เป็นแบรนด์เดียวกับโทรศัพท์มือถือ หรือเลือกซื้อยี่ห้อที่มีความน่าเชื่อถือเท่านั้น ไม่ควรซื้อจากร้านค้าทั่วไปที่ดูไม่น่าไว้ใจเพราะมีความเสี่ยงสูง” ท็อฟฟี่-จักรพงศ์ พุ่มไพจิตร เจ้าของเพจ “ท็อฟฟี่เป็นตุ๊ดซ่อมคอม” อินฟลูเอนเซอร์สายไอทีชื่อดังกล่าว

ที่มาภาพ: www.thesslstore.com

นอกจากนี้ การใช้สายชาร์จมือถือในที่สาธารณะ เช่น โรงแรม สนามบิน สถานีรถไฟ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ก็ต้องระวังด้วยเช่นกัน ทางที่ดีที่สุดคือควรมีสายชาร์จมือถือของตัวเอง หรือพกแบตเตอรี่สำรองไว้หากกลัวแบตหมดกลางทาง ก็จะช่วยป้องกันเรื่องการถูกแฮกข้อมูลมือถือจากสายชาร์จโทรศัพท์ได้

อย่างไรก็ตาม เขามองว่าสิ่งที่มีความเสี่ยงต่อการถูกแฮกข้อมูลมากกว่าสายชาร์จโทรศัพท์มือถือคือการโหลดแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จักมาใช้ เพราะเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายกว่า เพียงแค่เรากดยินยอมให้แอปฯ เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ในเครื่องได้ก็ถูกแฮกได้ง่ายๆ แล้ว

สำหรับวิธีป้องกันการถูกแอปพลิเคชันเหล่านี้แฮกข้อมูลมือถือก็คือ ต้องมี “สติ” ทุกครั้งก่อนดาวน์โหลด หากได้รับ SMS หรือลิงก์แปลกๆ หรือมีคนโทร. เข้ามาบอกให้โหลดแอปพลิเคชัน ก็ไม่ควรกดเข้าไปหรือดาวน์โหลดทันทีเพราะอาจถูกหลอกได้ ส่วนในกรณีที่ต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันไว้ใช้งาน ก่อนที่จะกดดาวน์โหลดควรอ่านรีวิวแอปฯ ก่อนทุกครั้งว่ามีผู้ใช้งานคนอื่นๆ รีวิวไว้อย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นขั้นตอนการกรองความน่าเชื่อถือได้ระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ ผู้ที่ใช้งานโทรศัพท์แอนดรอยด์จะมีความเสี่ยงต่อการถูกแฮกข้อมูลจากแอปพลิเคชันสูงกว่าผู้ที่ใช้ไอโฟน เนื่องจากใน App Store ของแอปเปิลจะมีการคัดกรองความน่าเชื่อถือของแอปพลิเคชันสูงกว่า Play Store ของกูเกิล จึงทำให้มีความเสี่ยงน้อยกว่านั่นเอง


ที่มา: กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ เทคโนโลยี ไทยรัฐออนไลน์