เบื้องลึกสังหาร 4 ศพนราฯ ส่อโยงเครือข่ายค้ายา “ส.ท.แว้ง”
คดีฆ่า 4 ศพที่นราธิวาส ถ้าถามคนในพื้นที่ ไม่มีใครคาดเดาเป็นอย่างอื่น แต่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า น่าจะเป็นเรื่องหักกันของ “เครือข่ายค้ายาเสพติด”
จากข้อมูลเชิงลึกเบื้องต้นเท่าที่ “ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบได้ คือ
1.ผู้ตายเกือบทั้งหมดเกี่ยวข้องกับยาเสพติด อยู่ฝั่งผู้ค้า เคยมีพฤติการณ์ทวงหนี้โดยใช้ความรุนแรง ทั้งด่าทอ ข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย คาดว่า งานนี้น่าจะถูกเอาคืนจากกลุ่มลูกหนี้ยาเสพติด หรือกลุ่มที่เคยโดนกระทำ ลงขันกัน ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่า ภรรยาของหนึ่งในผู้ตาย เคยถูกจับตัวคล้ายๆ เรียกค่าไถ่ หรือจับเป็นตัวประกัน เพื่อต่อรองบางอย่างมาแล้ว
2.ข้อมูลของตำรวจพบว่า ผู้ตายทั้ง 4 ราย มี 1 ราย คือนาย อัสวี มือลี อายุ 20 ปี ไม่พบประวัติเกี่ยวกับยาเสพติด ขณะที่ นายนิเฮง ประเปะ อายุ 28 ปี ทางครอบครัวให้ข้อมูลว่า เดิมทำงานโรงงานที่ปัตตานี แต่กลับมาอยู่บ้านมา 4 เดือน คาดว่าเป็นเพื่อนหรือคนรู้จักของผู้ตายอีก 3 คน แล้วไปเที่ยวนั่งรถด้วยกัน ทำให้ชะตาขาด
3.กลุ่มผู้ตายบางคนมีชื่ออยู่ในเครือข่ายค้ายา อ.แว้ง จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นอำเภอเล็กๆ ติดชายแดน รอยต่อของของ อ.สุไหงโก-ลก ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องสินค้าหนีภาษี (ของเถื่อน) และยาเสพติด
เครือข่ายยาเสพติดของ อ.แว้ง ใหญ่โตพอสมควร หัวหน้าใหญ่คือ อดีต ส.ท.แว้ง ชื่อ “ส.ท.ลัน” สมาชิกสภาเทศบาลตำบลแว้ง เคยถูกตำรวจ และ ป.ป.ส. เข้าค้นบ้านหรูที่ อ.แว้ง เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 63 ยึดทรัพย์ได้มากกว่า 20 ล้านบาท (ขนาดเป็นอำเภอเล็กๆ ริมชายแดนสามจังหวัดใต้ที่มีแต่ความรุนแรง)
ต้องรอดูว่าคดีนี้จะจบลงอย่างไร จับมือใครดมได้หรือไม่ หรือจะมีการฆ่าล้างแค้นกลับจากฝั่งผู้ตาย เพราะคนกลุ่มนี้มีอิทธิพล และหลายครั้งกฎหมายก็สาวไม่ถึงตัวอย่างน่าประหลาด
@@ ย้อนคดีฉาว 2 เครือข่ายยักษ์ค้ายานราฯ
นราธิวาส เป็นจังหวัดติดชายแดนมาเลเซีย มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมาตลอด เพราะเส้นทางลำเลียงยาเสพติดจากเมียนมา และลาว (หลังๆ ขนผ่านลาว ข้ามโขงเข้าไทย) เมื่อผ่านแนวชายแดนทางภาคเหนือมาได้ ก็จะมาพักยาที่บ้าน หรือโกดังตามปริมณฑลของกรุงเทพฯ จากนั้นส่งลงใต้ ขายในพื้นที่ และส่วนใหญ่ส่งต่อมาเลเซีย เพราะราคาสูงขึ้นกว่า 10 เท่า ยาเสพติดที่ต้องการมาก คือ ยาบ้า และไอซ์ ปลายทางอีกแห่งหนึ่ง คือ ออสเตรเลีย
เครือข่ายค้ายาใหญ่ที่สุด มี 2 เครือข่าย
1. นายอุสมาน สะแลแม็ง มีฐานใหญ่อยู่ในนราธิวาส รับยาเสพติดจากลาว ก่อนลำเลียงเข้าพื้นที่เพื่อกระจายยา และส่งข้ามไปมาเลเซีย ยาวไปถึงออสเตรเลีย
นายอุสมาน เคยถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เรียกเข้ารายงานตัวหลัง คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครองใหม่ๆ แต่เขาไม่ปรากฏตัว เชื่อกันว่า นายอุสมาน ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่เครือข่ายของเขาแข็งแกร่งมาก บ้างก็ลือว่ามีการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงใบหน้า ใช้ชีวิตอย่างสุขสบายในประเทศเพื่อนบ้าน
เม็ดเงินสะพัดจากการค้ายาเสพติดของนายอุสมาน มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เงินสดๆ เกือบ 10 ล้านบาทที่ซุกอยู่ในรถโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ยึดได้จากบ้านเครือข่ายของนายอุสมาน ย่านสะพานสูง กรุงเทพฯ เมื่อปี 2548 โดยที่ไม่รู้ว่าในรถมีเงินซุกอยู่ใต้แผงประตู กระทั่งเรื่องมาแดงในปี 2552 เปิดแผงประตูออกมาเจอเงินสดๆ 9,998,000 บาท จนเป็นที่ฮือฮา
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะนราธิวาส เป็นฐานที่มั่นใหญ่ของเครือข่ายค้ายา นอกจากกลุ่มของนายอุสมานแล้ว ยังมีเครือข่ายของ “นายมะยากี ยะโก๊ะ” เคลื่อนไหวอยู่ในเขตอำเภอสุไหงโก-ลก รับยาเสพติดจากภาคเหนือเพื่อลำเลียงเข้าพื้นที่ ก่อนส่งข้ามไปมาเลเซีย
นายมะยากี เคยถูกค้นบ้านเมื่อปี 2550 และพบเงินสดๆ 30 ล้านบาทซุกอยู่ในท่อพีวีซี จนเป็นข่าวโด่งดังไปทั้งประเทศ ภายหลังนายมะยากีถูกจับโดยตำรวจปราบปรามยาเสพติดมาเลเซีย ก่อนส่งตัวให้ทางการไทย ทำให้เครือข่ายของนายมะยากี ลดอิทธิพลลงไปบ้าง
@@ ฝุ่นตลบเด้งทั้งผู้การจังหวัด อดีตนายอำเภอ
เมฆหมอกยาเสพติดยังปกคลุมนราธิวาส ถ้ายังจำกันได้ ปลายปีที่แล้ว มีการสั่งย้าย ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส เนื่องจากถูกร้องเรียนว่า ใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์แก๊งค้ายาในพื้นที่ ป่านนี้ยังไม่ได้ย้ายกลับ แถมโดนย้ายไปอยู่ในตำแหน่งไม่ได้สัมผัสพื้นที่ ไม่ได้สัมผัสประชาชน ในการโยกย้ายนอกฤดูเมื่อปลายปีที่แล้ว ต่อเนื่องต้นปีนี้
อีกกรณีคือ อดีตนายอำเภอสุไหงโก-ลก ที่ถูกตรวจสอบย้อนหลังตอนเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.ว่า มีการไปออกใบอนุญาตครอบครองปืนให้ผู้ต้องสงสัยเครือข่ายค้ายาในอำเภอสุไหงโก-ลก มากกว่า 10 กระบอก แถมภายหลังยังโดนแจ้งจับในข้อหาพัวพันพนันออนไลน์ จนถูกลดชั้นย้ายไปเป็นนายอำเภอในภาคอีสาน แต่ก็ยังเป็นตำแหน่งที่สัมผัสประชาชน
นี่คือตัวอย่างอื้อฉาวของเรื่องราวเกี่ยวพันยาเสพติดในนราธิวาส
ที่มา : ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา