ข่าวสารเทคโนโลยีบทความ

“ความลับ” แบบ “เปิดเผย” (ข่าวกรองจากแหล่งเปิด)

สมรรถนะของประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯโดยเฉพาะสำนักข่าวกรองกลาง (CIA) ยังคงตามหลังคู่แข่งในการใช้ประโยชน์ข่าวกรองจากแหล่งเปิด (Open-Source Intelligence – OSINT)[1] ที่พร้อมใช้งานอย่างแพร่หลายและทวีความซับซ้อน ซึ่งจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนใหม่ ขณะเดียวกันข่าวกรองทางบุคคล (Human Intelligence – HUMINT)[2] ยังคงมีความสำคัญอย่างมากและหน่วยงานต่าง ๆ จะต้องแสวงหานวัตกรรมและแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อกับ OSINT เพื่อให้ได้ผลลัพธ์สูงสุด[3]

คำขวัญและคติพจน์อย่างไม่เป็นทางการของ CIA ที่ว่า “If it isn’t secret, it isn’t important.” สะท้อนถึงการให้ความสำคัญอย่างมากกับ “ข่าวลับ” ทั้งที่หน่วยงานข่าวกรองต่างประเทศ (foreign intelligence) ของสหรัฐฯแห่งนี้ได้ริเริ่มพัฒนาขีดความสามารถทาง OSINT มานานแล้ว แต่ยังคงเป็นเพียงหลักการขั้นพื้นฐาน

ที่มา: blogger.googleusercontent.com

หลายทศวรรษที่ผ่านมาประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯและ CIA ปฏิบัติภารกิจโดยมุ่งเน้นการรวบรวม “ข้อมูลลับ” เป็นสำคัญทำให้มองไม่เห็น “ความลับ” ที่ “เปิดเผย” อยู่แล้ว แม้ยังไม่สามารถทำความเข้าใจได้ ดังนั้น ข้อถกเถียงระหว่างฝ่ายสนับสนุนข้อมูลลับและข่าวกรองจากแหล่งเปิดจึงมิได้จางหายไป

ข้อมูลเกี่ยวกับการปรึกษาหารือภายในของฝ่ายตรงข้ามมิได้ถูกซ่อนอยู่ใน “ข่าวเปิด” แม้อาจตรวจสอบได้โดยการศึกษาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ แต่ความตั้งใจ (intention) หรือ “สัญญาน” ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ความปั่นป่วนหรือขัดแย้งระดับโลก เช่น โรคระบาด ปัญหาการขนส่งสินค้า (global shipping issues) หรือการรุกราน (ยูเครน) มักปรากฎให้เห็นอยู่โต้ง ๆ (hidden in plain sight)

ด้วยเหตุนี้ประชาคมข่าวกรองจำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมกับ OSINT มากขึ้น โดยเพิ่มขีดความสามารถเชิงลึกทางด้านภาษาและวัฒนธรรม เพื่อช่วยในการวิเคราะห์และประมวลผลอย่างเหมาะสม รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นว่าประชาคมข่าวกรองยังคงตามทันแหล่งข่าวสารแบบใหม่ (on top of new source of information)

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นสพ. Wall Street Journal ระบุว่า สหรัฐฯยังคงล้าหลังจีนในด้านประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จาก OSINT[4] สื่อจำนวนมากก็รับรู้ถึงข้อบกพร่องของสหรัฐฯในการเผชิญหน้ากับคู่แข่งทางภูมิศาสตร์การเมือง (geopolitical rival) ปัญหา OSINT แตกต่างจากประเด็นอื่น ๆ ไม่ใช่ว่าสหรัฐฯขาดความสามารถ แต่เป็นเพราะการยืนกรานว่า OSINT ไม่สำคัญ

กล่าวอีกนัยหนึ่ง CIA เห็นว่า “ข่าวเปิด” เป็นเรื่องของมือสมัครเล่น ส่วนมืออาชีพต้อง “ข่าวลับ” มองแบบผิวเผินบริษัทสื่อเชิงสืบสวน เช่น Bellingcat[5] ก็น่าจะทำให้เงื่อนงำความคิดนี้หายไป ขนาดของความท้าทายที่สหรัฐฯเผชิญอยู่ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่แค่เพียงวิธีการรวบรวมข้อมูล แต่รวมถึงการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จาก OSINT ซึ่งจะต้องจัดลำดับความสำคัญใหม่แทนการผลักภาระให้ประชาคมข่าวกรอง

 OSINT ไม่ใช่ความลับ แต่การได้มาซึ่งข่าวสารหรือทำความเข้าใจของสาธารณชนก็ไม่ง่ายนัก บางครั้ง OSINT มีลักษณะไม่แน่นอน ในแง่นี้ความเป็นสาธารณะหมายถึงข่าวสารหรือข้อมูลที่ปรากฎโดยไม่เป็นความลับและไม่แสวงหาประโยชน์ทางเทคนิค ไม่จำเป็นต้องเจาะระบบ (hack) จารกรรมหรือปฏิบัติการลับ ข้อมูลจำนวนมากไม่ได้ปรากฏบน Google แต่ต้องอาศัยการสืบค้นอย่างต่อเนื่อง

การค้าหรืออุตสาหกรรมสำคัญที่ครอบคลุมตั้งแต่น้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซจนถึงการขนส่งและ logistics มีข้อมูลพร้อมใช้จำนวนมากถึง terabytes[6] petabytes[7] และ exabytes[8] บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ อาทิ สถาบันการเงิน บริษัทสื่อสังคม เครือข่ายบริการสุขภาพและค้าปลีกระดับโลกได้พัฒนาความสามารถด้านข่าวกรองภายในองค์กรของตนโดยมุ่งเน้นแนวโน้มปรากฎใหม่ พฤติกรรมผู้บริโภค การบรรเทาความเสี่ยงและภูมิศาสตร์การเมือง

ข้อมูลและการวิเคราะห์ดังกล่าวถือเป็น OSINT ถูกใช้ในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด ประเมินแนวโน้มและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์รวมทั้งรับมือความท้าทายทางสังคม แม้การใช้เทคโนโลยีบางอย่างยังคงเป็นความลับทางการค้า ข้อมูลที่ผู้คนหลายล้านคนยินยอมมอบให้ search engines และสื่อสังคมออนไลน์ภายในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์โดยเต็มใจหรือบางครั้งก็ไม่เจตนานั้น เป็นสิ่งหมายปองของประประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯซึ่งจะต้องเวลารวบรวบนานกว่าหนึ่งทศวรรษ

กลุ่มต่าง ๆ ใช้ประโยชน์ OSINT เพื่อวัตถุประสงค์หลากหลาย แต่ประชาคมข่าวกรองของสหรัฐฯกลับไม่ได้ใช้ภาพรวมในการทำความเข้าใจประเด็นสำคัญที่เล็กกว่า การทำความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากข่าวกรองดังกล่าวจะมีความสำคัญต่อประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคใหม่ของการแข่งขันอำนาจและการใช้เทคโนโลยีปรากฎใหม่ท่ามกลางความขัดแย้ง

การหันเหความสนใจไปยัง OSINT ของประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ จะต้องไม่ขยายการตรวจสอบความเป็นส่วนตัวของบุคคลหรือติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่าง ๆ หรือปัญหาทางการเมือง อนึ่ง รัฐบาลสหรัฐฯมีประวัติการ “เข้าถึง” ข้อมูลส่วนบุคคลมากเกินไป

ทรัพยากรที่สหรัฐฯอุทิศให้กับความท้าทายใด ๆ สองสิ่งที่มีค่าที่สุดคือ เวลาและจุดมุ่งเน้น สหรัฐฯไม่สามารถตรวจสอบทุกสิ่งเพราะจะทำให้ไม่เข้าใจอะไรเลย แต่ประชาคมข่าวกรองควรอำนวยความสะดวกและให้อำนาจติดตามปัญหาแบบทันท่วงที (real time) และหมั่นวิเคราะห์ประเด็นทางยุทธศาสตร์ตามลำดับความสำคัญที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน

ลำดับความสำคัญเหล่านี้มีอยู่ในยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (National Security Strategy of the United States – NSS), โครงข่ายงานข่าวกรองแห่งชาติ (National Intelligence Priorities Framework – NIPF) และข้อกำหนดการรายงานที่ได้รับมอบอำนาจอื่น ๆ ความท้าทายของประชาคมข่าวกรองคือ การใช้ OSINT เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินกลยุทธ์ของรัฐบาล

ความไม่ทัดเทียมของขีดความสามารถทางการข่าวกรองหรือ “ช่องว่างข่าวกรองจากแหล่งเปิด (OSINT gap)” ในปัจจุบันมีความสำคัญยิ่งกว่า “ช่องว่างขีปนาวุธ (missile gap)” ในยุคสงครามเย็น ซึ่งมีการประเมินว่าจำนวนและอานุภาพขีปนาวุธข้ามทวีป (Intercontinental Ballistic Missile – ICBM) ของสหรัฐฯด้อยกว่าสหภาพภาพโซเวียต

OSINT gap อาจแก้ไขได้ด้วยการทำความเข้าใจและปรับจุดมุ่งเน้นขีดความสามารถที่มีอยู่ใหม่ โดยใช้ OSINT เป็นเครื่องมือในการรวบรวมข่าวกรอง ทั้งนี้ ความท้าทายของการทำความเข้าใจสิ่งที่มีอยู่แล้วโดยไม่ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเป็นแรงกดดันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน


ที่มาเรื่อง: www.ianalysed.com


[1] หมายถึง ข่าวสารที่รวบรวมจากแหล่งสาธารณะโดยมุ่งหมายตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านการข่าวกรอง ทั้งนี้ แหล่งสาธารณะอาจเป็นแบบไม่ต้องเสียเงินหรือต้องเสียค่าสมาชิก (free and subscription-based) ทั้งแบบ online หรือ offline ทั้งนี้ OSINT ไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่บนอินเตอร์เน็ต แม้บนเครือข่ายดังกล่าวมีข้อมูลข่าวสารที่มีคุณค่าจำนวนมหาศาล สื่อมวลชน องค์กรสาธารณ คลังสมอง (think tank) มหาวิทยาลัย NGOs และองค์กรของเอกชนล้วนเป็นแหล่งที่มาของข่าวสารจากแหล่งข่าวเปิด (OSINF)

[2] การส่งบุคคลลงพื้นที่เข้าไปหาข่าว (ข้อมูลดิบ) เพื่อดำเนินกรรมวิธีผลิตข่าวกรองที่มีความเชื่อถือหรือการรวบข่าวกรองโดยใช้บุคคล เช่น เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ สายลับ

[3] THE SECRETS ARE OUT IN THE OPEN INTELBRIEF Monday, January 9, 2023 Available at:  https://mailchi.mp/thesoufancenter/the-secrets-are-out-in-the-open?e=c4a0dc064a

[4] Open-Source Intel: Are U.S. Spy Agencies Falling Behind? By Wall Street Journal Dec 14, 2022 3:37 am Available at: https://www.wsj.com/video/series/tech-news-briefing/open-source-intel-are-us-spy-agencies-falling-behind/01F2F90D-3EDA-44D7-8D34-D01B05F0D39A

[5] เว็บไซต์สื่อสารมวลชนเชิงสืบสวนของอังกฤษที่เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลข่าวกรองจากแหล่งเปิด (OSINT) ก่อตั้งเมื่อกรกฎาคม 2014 โดย Eliot Higgins นักข่าวชาวอังกฤษเผยแพร่ผลการวิจัยของทั้งมืออาชีพและประชาชน เข้าถึงได้ที่ https://hmong.in.th/wiki/Bellingcat

[6] Terabyte ใช้คำย่อว่า TB เป็นหน่วยที่ใช้วัดความจุของคลังข้อมูลขนาดใหญ่ 1 terabyte มีค่าเท่ากับ 1,099,511,627,776 ไบต์ หรือเท่ากับ 2 ยกกำลัง 40 ไบต์      

[7] Petabyte ใช้ตัวย่อว่า PB เป็นหน่วยวัดขนาดของข้อมูลในคอมพิวเตอร์ เช่น ใช้เป็นหน่วยวัดความจุของหน่วยความจำหรือฮาร์ดดิสก์มีขนาดอ้างอิงคร่าว ๆ คือ 1 PB =1,000,000,000,000,000 ไบต์ (หนึ่งพันล้านล้านไบต์) ใช้ในหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์และในวิศวกรรมสื่อสารหรือ 1,024 TB = 1 PB

[8] Exabyte ใช้ตัวย่อว่า EB เป็นหน่วยวัดขนาดของข้อมูลในคอมพิวเตอร์ เช่น ความจุของหน่วยความจำหรือฮาร์ดดิสก์เอกซะไบต์มีขนาดอ้างอิงคร่าวๆ คือ 1 EB = 1,000,000,000,000,000,000 ไบต์ (หนึ่งล้านล้านล้านไบต์) หรือ 1,024 PB = 1 EB