ข่าวในประเทศพัฒนาชุมชนคนมุสลิม

“ผ้าท้องถิ่นมลายู – บาติกชุมชน” ดังไกลข้ามประเทศ

ยะลาจัดแฟชั่นโชว์ “ปากายัน มลายู” ครั้งที่ 2 ส่งเสริมผ้าท้องถิ่นตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกาย สร้างแบรนด์สู่สากล ขณะที่ปัตตานีดันผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก ตามแนวทางพัฒนาแฟชั่นยั่งยืน เผยดังไกลถึงญี่ปุ่น สั่งผลิต “บาติกกิโมโน” ขณะที่ยูเอ็นชื่นชม ส่งเสริมศักยภาพสตรีเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

การจัดกิจกรรมเดินแฟชั่นโชว์ “ปากายัน มลายู” ครั้งที่ 2 โครงการส่งเสริมอนุรักษ์ผ้าท้องถิ่นมลายู เพื่อยกระดับการพัฒนา ส่งเสริมช่องทางการตลาดและการอนุรักษ์ผ้าไทยและผ้าพื้นถิ่นจังหวัดยะลา ประจำปี 2566 ที่พิพิธภัณฑ์เมืองยะลา อ.เมือง จ.ยะลา เปิดฉากขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 พ.ค.66

กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ภายหลังจากที่เทศบาลนครยะลาได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 18 ก.พ.65 เพื่อพัฒนาผ้าพื้นถิ่นยะลาให้เป็นผ้าแฟชั่น สร้างแบรนด์สู่สากล

@@ แฟชั่นโชว์ 130 ชุด – จัด 12 นางแบบอินเตอร์ร่วมงาน

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า โครงการส่งเสริมอนุรักษ์ผ้าท้องถิ่นมลายู ประจำปี 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ผ้าพื้นเมืองลายท้องถิ่นมลายู ผ้าพื้นเมืองลายพระราชทาน และผ้าพื้นเมืองประจำถิ่น เพิ่มศักยภาพให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนได้มีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบลายผ้าท้องถิ่นและเครื่องแต่งกาย อีกทั้งให้ประชาชนได้มีเวทีแสดงออกถึงความสามารถด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายประจำถิ่น สามารถนำความรู้ที่ได้รับทางวัฒนธรรมท้องถิ่นมาสร้างคุณค่าทางสังคม เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สู่ตลาดใประเทศจนถึงระดับภูมิภาคอาเซียนสู่สากล

ทั้งนี้ได้กำหนดจัดกิจกรรมเป็น 2 กิจกรรม คือ ประกวดการออกแบบลายผ้าและเครื่องแต่งกาย ซึ่งได้จัดการประกวดไปเมื่อวันที่ 19-20 พ.ค.66 และได้นำเครื่องแต่งกายที่ชนะการประกวดแต่ละประเภท ขึ้นเดินแฟชั่นโชว์ในที่ 21 พ.ค.66 ด้วย ซึ่งกิจกรรมเดินแฟชั่นโชว์ กำหนดให้มีการเดินแฟชั่นโชว์ จำนวน 130 ชุด อาทิ ชุดที่ตัดเย็บจากดีไซเนอร์ประเทศไทย, ชุดที่ตัดเย็บจากดีไซเนอร์ประเทศมาเลเซีย, ชุดที่ตัดเย็บจากดีไซเนอร์ประเทศอินโดนีเซีย, ชุดจาก House Brand ในจังหวัดยะลา และชุดจากดีไซเนอร์ที่เข้าร่วมกิจกรรมการประกวดเครื่องแต่งกาย

สำหรับการเดินแฟชั่นโชว์ เทศบาลนครยะลาได้จัดนางแบบอินเตอร์ จำนวน 12 คน และนางแบบ นายแบบท้องถิ่น จำนวน 32 คน โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันแฟชั่น Bangkok FA

นอกจากนี้กิจกรรมดังกล่าว เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ คือสถานกงสุลใหญ่มาเลเซีย จังหวัดสงขลา, สถานกงสุลใหญ่สาธารณรัฐอินโดนีเชีย จังหวัดสงขลา, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยะลา เทศบาลนครยะลา ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่ขาดไม่ได้คือ ดร.ธีรวัฒน์ วงศ์วรทัต ทูตวัฒนธรรม London Fashion Week และที่ปรึกษากรมหม่อนไหม

@@ ปัตตานีดันผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกสู่สากล

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ จ.ปัตตานี นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นำคณะปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นำผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี ติดตามโครงการ Batik Model ต้นแบบการพัฒนางาน Craft ตามแนว Fashion Sustainable จาก 7 กลุ่มผ้าบาติกแนวหน้าของภาคใต้ ชื่นชมผลงาน Batik Model ต้นแบบการพัฒนางาน Craft ตามแนว Fashion Sustainable ในพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อการพัฒนาแฟชั่นที่ยั่งยืน ที่กลุ่มยาริง บาติก เลขที่ 1 หมู่ 1 ต.หนองแรต อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชน “ยาริง บาติก” เป็นแหล่งผลิตผ้าบาติกในชุมชน โดยกลุ่มสตรี กลุ่มแม่บ้าน นักเรียน นักศึกษาที่สนใจสามารถเข้าไปทำงานพิเศษได้ตามความถนัดและความสะดวก กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนได้อย่างดี และเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่พร้อมแบ่งปันความรู้แก่ชุมชนและผู้ที่สนใจ ซึ่งผ้าบาติกของกลุ่มเป็นผ้าบาติกที่ใช้ฝีมือในการวาดเขียนลวดลายต่าง ๆ จากความคิดจินตนาการ หรือเอกลักษณ์ วัฒนธรรมพื้นถิ่น เช่น ป่า ต้นไม้ ดอกไม้ เรือกอและ เป็นต้น

โดยเมื่อก่อนนั้น กลุ่มยาริง บาติก จะทำผ้าบาติกเพื่อจำหน่ายในชุมชนและบุคคลที่รู้จัก และเมื่อผลงานของกลุ่มเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการพัฒนารูปแบบการทำผ้าบาติกให้มีความหลากหลายด้วยเทคนิคการพัฒนาอย่างต่อเนี่อง โดยการพิมพ์ผ้าด้วยบล็อกไม้ ผสมผสานเทคนิคการแคร็กเทียน สะบัดเทียน โรยเกลือ ประกอบกับการนำลายผ้าพระราชทานมาประยุกต์ให้เกิดการพัฒนาลวดลายใหม่ที่สวยงามและทันสมัยมากยิ่งขึ้นจนเป็นที่ต้องการของตลาดหลายระดับ

และด้วยพระกรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้พระราชทานแนวพระดำริด้าน Sustainable Fashion หรือการพัฒนาแฟชั่นที่ยั่งยืน ด้วยการใช้สีธรรมชาติ จึงได้น้อมนำพระดำริดังกล่าว เรียนรู้และปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้สีย้อมผ้า

โดยสกัดสีจากวัตถุดิบธรรมชาติที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น เช่น เปลือกไม้โกงกาง เปลือกตะเคียนทอง เปลือกมะพร้าว ดอกคำแสด ใบสาบเสือ ใบหูกวาง ใบมะม่วง ใบยูคาลิปตัส ฯลฯ มาแต้มลงบนผืนผ้า มีความสวยงาม โดดเด่นไม่ซ้ำใคร และปลอดภัยต่อผู้บริโภค

@@ ดังไกลถึงญี่ปุ่น “บาติกกิโมโน”

โอกาสเดียวกัน ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะ เดินทางไปยัง กลุ่มบาติก เดอ นารา เลขที่ 49/1 ถนนกะลาพอ ซอย 3 ต.จะบังติกอ อ.เมือง จ.ปัตตานี โดย กลุ่มบาติก เดอ นารา ก่อตั้งขึ้นในเดือน ม.ค.2538 มีสมาชิกในระยะเริ่มแรกเพียง 5 คนที่มีฝีมือในการเขียนบาติกแบบดั้งเดิม โดยได้ผลิตผ้าบาติกและนำสินค้าตัวอย่าง เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอลายบาติก ไปเสนอกลุ่มลูกค้าที่ขายสินค้าของที่ระลึกตามแหล่งท่องเที่ยว และฝ่ายจัดซื้อในห้างร้านต่างๆ จนได้รับความสนใจจากลูกค้า แล้วสั่งซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง

“ต่อมามีการพัฒนางานบาติกโดยใช้แม่พิมพ์โลหะผสมผสานกับงานเขียนมือ ทำให้ได้ลวดลายผ้าที่แปลกใหม่ ร่วมสมัย และสามารถผลิตได้ต่อเนื่อง มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป ของใช้ ของตกแต่งบ้าน และมีการพัฒนาต่อยอดสินค้าบาติกไปสู่กลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อขยายโอกาสทางการตลาดให้กว้างขึ้น กระทั่งในปี 2558 ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ Otop Premuim go inter และได้มีโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์และออกงานแสดงสินค้าที่ญี่ปุ่น ทำให้ได้พบกับ Buyer ที่สนใจผ้าบาติก ได้สั่งผลิตผ้าบาติกกิโมโนตลอดมา” ปลัดกระทรวงมหาดไทย ระบุ

@@ ยูเอ็นยกย่องเสริมศักยภาพสตรี “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง”

นางกีต้า ซับบระวาล (Mrs. Gita Sabharwal, UN Resident Coordinator in Thailand) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนของโครงการนี้คือ พลังความร่วมมือ การเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่ รวมถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของสมาชิกกลุ่มทำผ้าบาติกที่ทุกกระบวนการขั้นตอนการผลิตต่างคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

ทั้งยังเป็นการส่งเสริมศักยภาพของสตรีในการลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษมาทำให้มีอาชีพที่มั่นคง มีงานศิลปะที่สวยงาม และมีรายได้นำไปจุนเจือครอบครัว โดยทางสำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย พร้อมร่วมสนับสนุนมิติการพัฒนาด้านต่างๆ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำให้ประเทศไทยและโลกใบเดียวนี้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย มีอากาศที่บริสุทธิ์ อันจะยังประโยชน์ให้คนรุ่นต่อไปได้อยู่บนโลกใบเดียวนี้ด้วยความสุขอย่างยั่งยืน

ที่มา: “ผ้าท้องถิ่นมลายู – บาติกชุมชน” ดังไกลข้ามประเทศ (isranews.org)