ดิสรัปฯเลือกตั้งไทย จาก “ประชานิยม” สู่ “Engagement”
ยังคงพูดกันไม่จบสำหรับความสำเร็จของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งที่เพิ่งผ่านไปสดๆ ร้อนๆ
ปัจจัยสู่ความสำเร็จนอกเหนือจากนโยบายที่ชัดเจน ภาพลักษณ์ที่ดูดี ทันสมัย มีความเป็นคนรุ่นใหม่ และสร้างความหวังให้กับคนหมู่มากแล้ว ยังมีเรื่องของความเจนจัดในการใช้โซเชียลมีเดียด้วย
มุมมองในแง่นี้มีทั้งลบและบวก แต่การอ่านสถานการณ์อย่างเป็นกลาง ยืนอยู่บนทฤษฎีและหลักวิชาการ ย่อมทำให้การวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแม่นยำตามไปด้วย
อาจารย์พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร เขียนบทความอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.66 อย่างเข้าใจและปราศจากอคติ…
“…การเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้รับความไว้วางใจเกินคาด และได้จำนวน ส.ส.มากกว่าพรรคอันดับหนึ่งจากโพลต่างๆ อย่างพลิกความคาดหมาย
หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ นอกจากนโยบายที่ชัดเจนที่เจาะกลุ่มเป้าหมายด้วยวิธีการตลาดสมัยใหม่แล้ว การใช้โซเชียลมีเดียคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสเลือกก้าวไกลอย่างล้นหลาม จนทำให้เป็นแกนนำอันดับแรกที่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล และเป็นเสมือนการปรับเปลี่ยน Landscape ของพื้นที่การเมืองไทยจากรูปแบบของ ‘ประชานิยม’ สู่รูปแบบการเมืองแบบผูกพัน (Engagement) บนแพลตฟอร์ม
อย่างไรก็ตาม โซเชียลมีเดีย มีคุณสมบัติของตัวเองที่ใครต่อใครก็ไม่อาจฝืนได้ หากเข้าไปอยู่ในวงจรของโซเชียลมีเดียและหาประโยชน์จากโซเชียลมีเดีย ทั้งการทำธุรกิจและการเมือง คุณสมบัติสำคัญที่เป็นเสมือนแรงดึงและแรงผลักโดยธรรมชาติของโซเชียลมีเดีย ได้แก่
1.โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบใหม่ที่ง่าย ไม่ต้องลงทุนสูง สื่อสารได้รวดเร็วในแบบ real time จนทำให้เกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ประสบความสำเร็จในหลายโอกาส ตั้งแต่การเชิญชวนคนเข้ามามีส่วนร่วม การเปลี่ยนใจผู้คนให้เลือกพรรคตัวเอง หรือแม้แต่ดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม และสามารถสร้างคะแนนนิยมได้อย่างท่วมท้น
2.โซเชียลมีเดียคือพื้นที่ของ ‘ความไม่แน่นอน’ (Uncertainty) ยากที่จะพยากรณ์ผลลัพธ์ และสามารถนำไปสู่ ‘ความแปรปรวน’ (Turbulence) ได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการเมือง
แม้ว่าโซเชียลมีเดียจะง่ายต่อการสร้างการมีส่วนร่วม แต่ความง่ายเกินไปและลงทุนน้อยเหมือนแค่กระแสในการเข้าไปผูกพันทางการเมืองผ่านแพลตฟอร์ม กลับทำให้ผู้มีส่วนร่วมอาจเกิดความหวั่นไหวและเปราะบางต่อทิศทางทางการเมืองของกลุ่มนั้นได้เสมอ
3.พรรคการเมืองที่ใช้นโยบาย Digital politics ต้องเผชิญความกดดันจากกองเชียร์ที่มักจะสร้าง ‘แรงกระเพื่อม’ (Impulse) ที่อาจทำให้เกิดแรงกดดันต่อกลุ่มการเมืองได้เช่นกัน ด้วยเหตุผลอย่างน้อยที่สุด 2 ประการ ดังนี้
3.1 การเล่นกับโซเชียลมีเดียคือการเล่นกับอารมณ์ของคนหมู่มากซึ่งพร้อมที่จะนำเผือกร้อนมาโยนให้เป็นภาระในการแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา เป็น ‘มือที่มองไม่เห็น’ ซึ่งพร้อมที่จะสนับสนุนหรือทำลายทางการเมืองได้ตลอดเวลา
3.2 การเล่นกับโซเชียลมีเดียคือการต้องเข้าไปเล่นกับข้อมูลจำนวนมากมายมหาศาลที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองที่สามารสร้างปัญหาให้กับพรรคการเมืองอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน
4.แรงกระเพื่อม (Impulse) ทั้ง 2 ประเภทจึงสามารถนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองได้เสมอ
5.การที่มีแรงกระเพื่อมจากภายนอกที่เป็นแฟนคลับทางการเมืองสามารถเข้ามามีอิทธิพลต่อทิศทางของพรรค ย่อมไม่เกิดผลดีใดๆ เลย เพราะเป็นเสมือนการสั่งการและควบคุม (Command and control) ที่ขาดความยืดหยุ่นจาก ‘มือที่มองไม่เห็น’ แต่สามารถสร้างอิทธิพลทางการเมืองได้ ในขณะที่พรรคการเมืองเองต้องการความยืดหยุ่นในการจัดตั้งรัฐบาลผสมให้สำเร็จ
6.สถานการณ์เช่นนี้หากปล่อยไปเรื่อยๆ มีโอกาสที่จะทำให้เกิดวิกฤติทางการเมือง และหากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ มีโอกาสที่จะทำลายความนิยมของตัวเองลงไปเรื่อยๆ ด้วยธรรมชาติของโซเชียลมีเดียเอง
ที่มา: ดิสรัปฯเลือกตั้งไทย จาก “ประชานิยม” สู่ “Engagement” (isranews.org)