รัฐบาลชุดใหม่ นโยบายดับไฟใต้กับเหยื่อที่ถูกลืม?
ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีสถานการณ์ความไม่สงบมาอย่างยืดเยื้อยาวนานเกือบ 20 ปี กำลังจะถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ หากพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้สำเร็จ และเข้ามาบริหารประเทศ พร้อมมีอำนาจเต็มในการจัดการปัญหาไฟใต้
พรรคก้าวไกล และพรรคที่ชักชวนกันเข้าร่วมรัฐบาลชุดใหม่นี้ หลายพรรคมีนโยบายสอดคล้องกัน คือ
1.ถอนทหารพ้นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
2.ยกเลิกด่านตรวจ ด่านความมั่นคง โดยให้เหตุผลว่ากระทบชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และทำให้ภาพลักษณ์ไม่ดี เศรษฐกิจแย่
3.ยกเลิกกฎหมายพิเศษ ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎหมายความมั่นคง
4.ยุบหน่วยงาน กอ.รมน. และอาจรวมถึง ศอ.บต. เพื่อไม่ให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่พิเศษ
5.เปิดการพูดคุยเจรจากับ “กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ” ซึ่งอ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน โดยแกนนำพรรคการเมืองเหล่านี้บางพรรค เสนอให้แก้ปัญหาด้วย “รูปแบบการปกครอง” เพราะมองว่าปัญหาชายแดนใต้เป็นปัญหาการเมือง เช่น ตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษ เลือกตั้งผู้นำของตัวเอง
หากรัฐบาลชุดใหม่เริ่มงานและปฏิบัติตามนโยบายเหล่านี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญทางนโยบายดับไฟใต้ ซึ่งไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือสร้างปัญหาอื่นตามมาหรือไม่ โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่น้อยใหญ่ที่ทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และร่วมรับผิดชอบปัญหา พากันแสดงความเป็นห่วงกังวล เพราะหลายนโยบายอาจเข้าทางกลุ่มก่อความไม่สงบ และขบวนการแบ่งแยกดินแดน
เช่น หนึ่ง การเจรจาให้ตั้ง “เขตปกครองพิเศษ” อาจเป็นการนับหนึ่งสู่การแยกดินแดน แม้จะเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก แต่ปัญหาจะไม่จบแน่ เนื่องจากกลุ่มที่ต่อสู้กับรัฐอยู่ตลอด 20 ปี ไม่ได้ต้องการ “เขตปกครองพิเศษ” แต่ต้องการ “เอกราช”
สอง มีการสร้างสถานการณ์และสร้างเรื่องราวว่าปัญหาชายแดนใต้มาจากรัฐไทยเป็น “เจ้าอาณานิคม” ของรัฐปัตตานี หรือที่เรียกกันว่า “ปาตานี” เพราะในแถลงการณ์ของกลุ่มบีอาร์เอ็นทุกฉบับ จะเรียกรัฐไทยว่า “นักล่าอาณานิคมสยาม”
ฉะนั้นอาจมีการยกระดับเรื่องนี้ต่อจาก “เขตปกครองพิเศษ” โดยอ้าง “สิทธิในการกำหนดใจตนเอง” หรือ Self Determination โดยอ้างมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 1514 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1960 เรื่อง “การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม” (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples)
โดยมีข้อความที่กำหนดไว้ใน มาตรา 1.1 ของมติที่ 1514 ระบุว่า “กลุ่มชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดใจตนเอง โดยสิทธิดังกล่าวพวกเขามีเสรีภาพในการตัดสินใจในสถานะทางการเมือง และดำเนินการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเสรี”
พูดง่ายๆ คือขอทำ “ประชามติแยกดินแดน” นั่นเอง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคงไทยกังวลกันมาก
เป็นที่น่าสังเกตว่า นโยบายที่บางพรรคการเมืองนำเสนอเกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้ ไม่ได้พูดถึงกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงของผู้ก่อความไม่สงบเลย ทั้งๆ ที่คนกลุ่มนี้มีเป็นจำนวนมาก และถูกคุกคาม เข่นฆ่า ไล่ล่า กดดัน ทำร้าย ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดถึงการประกอบอาชีพ การประกอบศาสนกิจ และการดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อของตนมาโดยตลอด
จากการรวบรวมข้อมูลล่าสุดโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. พบว่า มีผู้ได้รับผลกระทบได้รับบาดเจ็บจนถึงพิการ ทุพพลภาพ ต้องอพยพออกจากพื้นที่ไปอยู่กับญาติ ไปตั้งรกรากถิ่นฐานใหม่ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บ แล้วกลับไปใช้ชีวิตที่ภูมิลำเนาบ้านเกิด จำนวนหลายพันคน
ศอ.บต.สำรวจนำร่องเพื่อไปเยี่ยมติดตามดูการช่วยเหลือเยียวยา และคุณภาพชีวิต ในพื้นที่ภาคใต้ 8 จังหวัด 75 อำเภอ จำนวน 679 คน (แค่ส่วนเดียว) เพื่อช่วยให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้
หากได้ดูตารางข้อมูลที่ ศอ.บต.รวบรวมเอาไว้ จะพบว่าผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มหาสารคาม เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน แพร่ ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี หรือแม้แต่กรุงเทพมหานคร มีหมด
สถิติข้อมูลเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่และการช่วยเหลือเยียวยาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มีเหตุรุนแรงที่ทำให้เกิดความสูญเสียจำนวน 9,631 ครั้ง
เสียชีวิต 5,850 ราย
พิการมากถึง 887 ราย (ไม่ตาย แต่ก็เหมือนตายทั้งเป็น)
บาดเจ็บ 12,590 ราย (อพยพหรือกลับภูมิลำเนาหลายพันคน)
รวม 19,327 ราย
ทรัพย์สินเสียหายจำนวน 5,603 ราย
จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ก่อผลกระทบมากมาย รัฐใช้งบประมาณในกรารช่วยเหลือเยียวยา ทั้งเสียชีวิต บาดเจ็บ ทุพลภาพไปแล้วกว่า 4,200 ล้านบาท ชดใช้ทรัพย์สินเสียหายไปอีกกว่า 919 ล้านบาท ไม่นับงบดับไฟใต้ตลอด 20 ปีงบประมาณ ที่ใช้ไปแล้วกว่า 4.9 แสนล้านบาทด้วย
คำถามก็คือ การไปตกลงใดๆ กับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน ควรถามผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้ด้วยหรือไม่
การเปลี่ยนนโยบายต่างๆ แบบหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น ถอนทหาร ยกเลิกด่านตรวจ ฯลฯ ควรรับฟังคนเหล่านี้ด้วยหรือเปล่า ได้ฟังเสียงพวกเขาบ้างหรือยัง เพราะพวกเขาคือผู้ได้รับผลกระทบตัวจริงจากไฟใต้ที่ยืดเยื้อมาเกือบ 20 ปี
อย่าใช้กระแสรังเกียจทหาร ปฏิเสธบทบาทกองทัพ ในการกำหนดนโยบายที่อ่อนไหว หากยังไม่ได้รับฟังเสียงจากทุกด้านทุกฝ่ายอย่างรอบคอบรอบด้าน และประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมาอย่างระมัดระวังที่สุด
ที่สำคัญการยุบเลิกหน่วยงานพิเศษบางหน่วยงาน เช่น ศอ.บต. และ พตท.43 (กองบัญชาการผสม พลเรือน ตำรวจ ทหาร) เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2545 รัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร ปรากฏว่าทำให้เกิดเหตุรุนแรงบานปลายยืดเยื้อมาอีก 20 ปี และสถานการณ์โดยรวมเลวร้ายลงกว่าเดิม
บทความนี้ไม่ได้ขัดขวางการปรับเปลี่ยนนโยบาย แต่ขอให้ดำเนินการบนความตระหนักอย่างสูงสุดว่านี่คือเรื่องที่กระทบต่อชีวิตของผู้คนในระดับตายจริง เจ็บจริง!
ที่มา: รัฐบาลชุดใหม่ นโยบายดับไฟใต้กับเหยื่อที่ถูกลืม? (isranews.org)