คนรุ่นใหม่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวงการไอทีที่มาเลเซีย
จากสามจังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่ที่ได้ชื่อว่ารายได้ต่อหัวประชากรน้อยที่สุดในประเทศไทย พวกเขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในรุ่น “ทศวรรษที่สูญหาย” จากความไม่สงบในชายแดนใต้ที่ดำเนินมา 19 ปี เด็กสามจังหวัดฯ จำนวนไม่น้อยที่พัฒนาศักยภาพของตัวเองผ่านระบบการศึกษา ความสามารถทางภาษา จนสามารถเข้าทำงานในองค์กรชั้นนำในมาเลเซียได้
ด้วยภาษา วัฒนธรรม วิถีศาสนาที่ใกล้เคียงกัน นี่จึงเป็นพื้นที่ที่คล้ายบ้านสำหรับพวกเขา แต่โอกาสในชีวิตกลับแตกต่าง เพียงแค่ข้ามเขตแดนมายังฝั่งไทย
สำหรับคนอายุวัยกลาง 30 ปี ซึ่งอาจจะนิยามตัวเองว่าเป็นชนชั้นกลาง ในจังหวัดอื่นของประเทศไทยเช่นผู้เขียน ที่เติบโตมากับการเรียนในโรงเรียนมัธยมสามัญ ก่อนแสวงหาเส้นทางเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ผู้เขียนเคยมีคำถามสงสัยว่า แล้วเส้นทางชีวิตของคนรุ่นราวคราวเดียวกันในพื้นที่ความไม่สงบอย่างชายแดนใต้ เป็นแบบไหน
การสนทนากับ นัสมี สาและ คนหนุ่มจาก จ.ยะลา เจ้าหน้าที่วิทยาการคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ซึ่งเคยทำงานในบริษัทไอบีเอ็มในไซเบอร์จายา เมืองศูนย์กลางทางด้านไอทีของมาเลเซีย ทำให้รู้ว่าคนจากจังหวัดชายแดนใต้ที่ไปทำงานในมาเลย์ ไม่ได้มีเพียงแต่แรงงานในร้าน “ต้มยำกุ้ง” ธุรกิจร้านอาหารไทยฮาลาลที่เฟื่องฟูในประเทศเพื่อนบ้าน
แต่คนไทยจากชายแดนใต้อีกกลุ่ม คือ หนุ่มสาวที่ทำงานในออฟฟิศ และส่วนใหญ่เป็นทรัพยากรมนุษย์ในแวดวงบริษัทด้านไอที แม้จะไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่ประเมินว่าราว 80% ของแรงงานกลุ่มทำงานสำนักงานนั้นเป็น คนรุ่นใหม่จากปัตตานี ยะลา นราธิวาส
จากการพูดคุยที่ยะลา บีบีซีไทย มีโอกาสได้ทำความรู้จักคนรุ่นใหม่จากสามจังหวัดชายแดนใต้อีก 2 คน ที่คุยกับเราจากกรุงกัวลาลัมเปอร์
ที่มา BBC