ข่าวต่างประเทศ

“Meta” ถูกสั่งปรับ 1,200 ล้านยูโร ฐานถ่ายโอนข้อมูลผู้ใช้งานในยุโรปไปสหรัฐฯ

23 พ.ค. 66 คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลแห่งยุโรป ออกแถลงการณ์ว่า การลงโทษปรับเงิน บริษัท เมตา (Meta) ผู้ให้บริการ Facebook จำนวน 1,200 ร้อยล้านยูโร คิดเป็นเงินไทยประมาณ 44,000 ล้านบาท จากการโยกย้ายข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในยุโรปไปยังเซิร์ฟเวอร์ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นความผิดฐานละเมิดกฎหมายความเป็นส่วนตัวของสหภาพยุโรป

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลของไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นตัวแทนของสหภาพยุโรป (EU) ตรวจสอบการทำงานของ Facebook และพบว่าการใช้งานกับการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลในสหรัฐฯ ฝ่าฝืนกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของยุโรป

ในขณะที่ประธานคณะกรรมคุ้มครองข้อมูลแห่งยุโรป ระบุว่า การฝ่าฝืนของ Facebook เป็นเรื่องร้ายแรงมาก เนื่องจากเป็นการส่งข้อมูลอย่างเป็นระบบเกิดขึ้นซ้ำ ๆ และต่อเนื่อง ซึ่งในยุโรปมีผู้ใช้งาน Facebook หลายล้านคน ดังนั้น ปริมาณข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกถ่ายโอนจึงมีจำนวนมหาศาล การสั่งปรับมูลค่ามหาศาลนี้ จะเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปถึงองค์กรต่าง ๆ ว่าการฝ่าฝืนกฎหมายที่ร้ายแรงจะมีผลกระทบรุนแรงตามมา

ทั้งนี้ การปรับครั้งนี้เป็นค่าปรับจำนวนมากที่สุดที่เคยเกิดขึ้นภายใต้กฎหมายความเป็นส่วนตัวของยุโรป ทำลายสถิติเดิมเมื่อปี 2021 ที่บริษัทแอมะซอน เคยถูกปรับ 746 ล้านยูโร หรือประมาณ 27,000 ล้านบาท

นอกจากนั้น บริษัท เมตา ยังได้รับคำสั่งให้ยุติการใช้งานข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กชาวยุโรปในสหรัฐฯ ภายใน 6 เดือน

ทางด้านบริษัท เมตา ระบุว่าจะยื่นอุทธรณ์คำตัดสินรวมถึงคำสั่งปรับเงิน ให้เหตุผลว่าต้นตอของปัญหานี้เกิดจากความขัดแย้งทางกฎหมายระหว่างกฎการเข้าถึงข้อมูลของสหรัฐฯกับสิทธิความเป็นส่วนตัวของยุโรป ฝ่ายนิติบัญญัติของสหภาพยุโรปกับสหรัฐฯ ซึ่งกำลังอยู่บนเส้นทางที่ชัดเจนในการแก้ไขความขัดแย้งนี้ ภายใต้กรอบร่างกฎหมายความเป็นส่วนตัวทางข้อมูลข้ามแอตแลนติก

หากร่างกฎหมายดังกล่าวแล้วเสร็จจะช่วยยุติปัญหาความขัดแย้งในลักษณะนี้ ระหว่างบริษัทของสหรัฐกับยุโรป ที่เริ่มมีคดีความฟ้องร้องกันมาตั้งแต่ 3 ปีก่อน และจะกลายเป็นบรรทัดฐานในคดีที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนข้อมูลผู้ใช้งานในยุโรปไปยังประเทศที่สามหรือองค์กรต่างชาติ ทั้งนี้ เมตายืนยันว่าคำสั่งดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการดำเนินงานของเฟซบุ๊กในยุโรป ณ เวลานี้


ที่มา: Thai PBS

ภาพ: กรุงเทพธุรกิจ