เมื่อ Wagner ยอมถอย! รัสเซียไปต่ออย่างไรในวังวนการเมือง-สงคราม?
“ทำไมเรื่องการกบฏในรัสเซียของกลุ่มทหารรับจ้างเอกชน Wagner จึงจบลงอย่างรวดเร็ว?”
กฤษฎา บุญเรือง นักวิชาการอิสระ ซึ่งพำนักอยู่ที่รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา เขียนบทความขยายความสถานการณ์ตึงเครียดในรัสเซีย หลังกองกำลังทหารรับจ้าง Wagner Group ประกาศนำกำลังบุกมอสโค ล้างแค้นผู้นำทางทหารของรัสเซีย และท้าทายอำนาจของประธานาธิบดีปูติน แต่สุดท้ายกลับลำยอมเจรจาและยุติปฏิบัติการนองเลือด…อะไรจะเกิดขึ้นต่อไปนับจากนี้?
ข่าวล่าสุดคือผู้นำของทหารเอกชน Wagner ยินยอมไปลี้ภัยที่เบลารุส หลังจากได้พบกับประธานาธิบดีเบลารุสตัวต่อตัว และได้รับการยืนยันในความปลอดภัย
ส่วนผลตอบแทนของการยินยอมไปลี้ภัยและหยุดความเสี่ยงต่อการปะทะระหว่างสองกองทหารฝ่ายเอกชนกับฝ่ายรัฐบาลนั้น ยังไม่รู้ว่าจะได้รางวัลอะไร
แต่โฆษกรัฐบาลรัสเซียออกมาประกาศว่าจะไม่ดำเนินคดีแข็งข้อหรือเป็นกบฏ
รัสเซียไม่เคยมีประวัติของการรัฐประหารสำเร็จแม้แต่ครั้งเดียว เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกใจว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเจตนาการทำรัฐประหารของฝ่ายทหารเอกชน Wagner แต่เป็นการตัดสินใจทำเพื่อเหตุผลบางอย่างที่จะวิเคราะห์ได้เมื่อมีข้อมูลเปิดเผยเพิ่มเติม
ข่าวการแข็งข้อของกลุ่มทหารเอกชน Wagner นับว่าเป็นข่าวใหญ่ที่สุดในรอบปี ค.ศ.2023
Prigozhin มีอำนาจและอิทธิพลในปัจจุบันได้ก็เพราะปูตินปั้นขึ้นมาจากการเป็นนักธุรกิจด้านอาหาร และกลายเป็นผู้นำทหารแนวแปลกใหม่ทั้งที่ไม่มีประสบการณ์เลยเริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 2014
การไปลี้ภัยที่เบลารุสครั้งนี้อาจไม่ใช่การสิ้นสุดด้านการปฎิบัติการทางทหารหรือความทะเยอทะยานทางการเมืองของบุคคลคนนี้
การตัดสินใจหยุดการปฎิบัติการวันนี้เพื่อเลี่ยงการนองเลือดในรัสเซียอาจเป็นเพราะ “ความนับถือและความระลึกถึงบุญคุณของปูตินที่มีความสัมพันธ์กันมาอย่างลึกซึ้งเป็นเวลากว่าทศวรรษ”
ส่วนคำถามที่ว่า “ทำไมกลุ่มทหารเอกชนซึ่งมีกำลังพล 25,000 ถึง 50,000 คน จึงกล้าประเชิญหน้ากับกองกำลังทหารรัสเซียซึ่งมีกำลังพลกว่า 1,000,000 นาย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นทหารตามสัญญาจ้าง 400,000 นาย” นั้น
คำตอบคือปัจจุบันการทำสงคราม นอกจากการใช้ยุทธวิธีทางทหาร สิ่งที่สำคัญคือจิตวิทยา โดยมีเครื่องมือคือโซเชียลมีเดีย ซึ่งกลุ่ม Wagnerใช้ Telegram App สื่อสารกับประชาชนทุกวัน และได้รับความนิยมและเชื่อถือจากประชาชนมาก
Prigozhin มีเสน่ห์และบารมี มีความเฉลียวฉลาดในการยกประเด็น โดยชี้ชวนให้ชาวรัสเซียมองว่าปัญหาที่พวกเขาประสบอยู่ทุกวันนี้เป็นเพราะคอร์รัปชั่นและการเอาเปรียบโดยกลุ่มผู้นำทางทหารและทางเศรษฐกิจของรัสเซียในปัจจุบัน ขณะที่ประชาชนทั่วไปยังลำบาก
Wagner เชื่อว่ากลุ่มคนรัสเซียส่วนใหญ่ยังสามารถจะถูกโน้มน้าวจิตใจได้ หากเขาคิดว่าฝ่ายใดจะชนะและมีอำนาจในอนาคต ก็จะหันเทมาให้ความสนับสนุน รวมทั้งทหารประจำการปัจจุบันซึ่งขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม ก็อาจจะเปลี่ยนมาเข้าข้างกลุ่มเอกชนก็ได้หากเขาคิดว่ากลุ่มนี้จะชนะ
การแสดงความเข้มแข็งคือจุดขายที่สำคัญในวัฒนธรรมรัสเซีย ใครที่อ่อนแอก็จะมีจุดจบที่น่ากลัวเสมอ
การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียจะมาถึงในเดือนมีนาคมปีหน้า ค.ศ. 2024 Prigozhin พูดอย่างไม่เกรงใจว่า “ไม่เป็นไรที่ประธานาธิบดีได้รับข่าวสารผิดจากคนใกล้ชิด เราจะมีประธานาธิบดีใหม่อยู่แล้วในอีกไม่นาน เพราะฉะนั้นฉันไม่ห่วง” สังเกตว่าไม่เอ่ยชื่อปูติน
คำกล่าวนี้ เป้าหมายคือ ”การสื่อสารกับประชาชนทางโซเชียลมีเดีย” มากกว่าที่จะทำให้เกิดความโกรธเคืองจากปูติน แสดงถึงการตัดสินใจเด็ดขาดไม่เกรงกลัวต่อการลงโทษจากประธานาธิบดีปูตินผู้ปั้นตนเองขึ้นมาและเป็นผู้ที่ปกป้องตนเองมาตลอด ซึ่งอาจเป็นการลองทดสอบว่าปูตินอ่อนแอลงหรือยัง และรัสเซียพร้อมหรือไม่ที่จะเปลี่ยนบุคคลที่มีความเข้มแข็งเด็ดขาดสามารถสื่อสารกับประชาชนได้อย่างชัดเจนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแทน
สรุปคือเหตุการณ์เมื่อวานนี้ Prigozhin ต้องการทดสอบว่าความเข้มแข็งของเขานั้นประชาชนพร้อมยอมรับได้ไหม และขณะเดียวกันปูตินยังเข้มแข็งและเป็นที่นิยมมากเพียงใด
เมื่อได้คำตอบแล้วจึงยอมลี้ภัย หากดื้อดึงต่อไปก็คือต้องยอมสละชีวิต
กองทหารเอกชน 5,000 คนที่เดินทางไปเกือบถึงมอสโกแล้วก็อาจจะสูญเสียชีวิตทั้งหมด และผู้นำ Wagner ที่เมือง Rostov-on-Don กับทหารอีก 20,000 คนก็จะสูญเสียมากเช่นกัน
สังเกตได้ว่าประธานาธิบดีปูตินออกมาแถลงการณ์เมื่อวานนี้ ขู่ว่าจะดำเนินคดีและลงโทษทุกคนที่มีส่วนร่วมในการแข็งข้อและเป็นกบฏ แต่ไม่เอ่ยชื่อผู้นำ Wagner นาย Prigozhin แม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งย้ำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองคน และอาจเป็นความที่ปูตินมีประสบการณ์สูง จึงทิ้งโอกาสไว้ให้มีการประนีประนอม และหาทางออกอย่างที่เราเห็น
ที่มา: isranews.org