รัฐบาลใหม่ลั่น “ทบทวน กม.พิเศษ – สถานภาพ กอ.รมน.”
ประชุมคณะทำงานสันติภาพชายแดนใต้ “ว่าที่รัฐบาลใหม่” สุดชื่นมื่น “รอมฎอน” เผยเร่งหารือทบทวนการใช้กฎหมายพิเศษให้ได้ข้อสรุปก่อนถึงวันต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เดินหน้าคุยกลุ่มเห็นต่างภายใต้ชื่อเก่า “พูดคุยสันติภาพ” อ้างเพื่อส่งสัญญาณแตกต่างจากรัฐบาลทหาร มุ่งเน้นความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก ปัด “ประชามติแยกดินแดน” ลั่นเป็นไปไม่ได้
วันจันทร์ที่ 19 มิ.ย.66 ที่ทำการพรรคประชาชาติ มีการประชุม “คณะทำงานสันติภาพชายแดนใต้” ของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ (คณะทำงาน 1 ใน 14 คณะเพื่อตอบสนองปัญหาของพี่น้องประชาชน) ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 2
โดยมีตัวแทนจากพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ประกอบด้วย
พรรคก้าวไกล – นายรอมฎอน ปันจอร์, นายมูฮัมหมัดอัณวัร หะยีเตะ, พล.ท.พงศกร รอดชมภู
พรรคประชาชาติ – นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์, น.ส.รอมือละห์ แซแยะ, นายมุข สุไลมาน, นายรักชาติ สุวรรณ์, พล.ต.ท.พัฒนวุธ อังคะนาวิน, นายมูหามัดเปาซี อาลีฮา
พรรคเป็นธรรม – นายกัณวีร์ สืบแสง, นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ, นายซาฮารี เจ๊ะหลง, ผศ.อาทิตย์ ทองอินทร์
พรรคเพื่อไทย – พล.ท.ภราดร พัฒนาถาบุตร, นายก่อแก้ว พิกุลทอง
พรรคไทยสร้างไทย – นายชวลิต วิชยสุทธิ์, นางตัสนีม เจ๊ะตู, น.ส.ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ
พรรคเสรีรวมไทย – พ.ต.อ.เสวก อรุณรุมแสง
พรรคเพื่อไทยรวมพลัง – นายฮัมซะฮ์ หะสาเมาะ
โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมด้วย นายสูฮัยมี ลือแบซา และ นายอัลดุลเลาะมัน มอลอ (อดีตผู้สมัคร ส.ส.สงขลา ของพรรคประชาชาติ) เป็นผู้ร่วมสังเกตการณ์การประชุม
ภายหลังการประชุม นายรอมฎอน ปันจอร์ ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า ได้คุยกันเรื่องมาตรการด้านความมั่นคงหลายเรื่อง และกฎหมายพิเศษที่เราคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะลดความพิเศษของมัน ฟื้นคืนความปลอดภัยให้กับประชาชน และลดมาตรการพิเศษเหล่านั้น เรากำลังนั่งทบทวนการประกาศใช้กฎอัยการศึก ทบทวนตัวกฎหมายการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ)
“เรื่องกฎหมายพิเศษรอเราอยู่ในอีกไม่นานนี้ หลังจากที่เป็นรัฐบาล คือการประชุม ครม.ในเรื่องการพิจารณาต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งโจทย์นี้เรากำลังอภิปรายกันอยู่ว่า มีความจำเป็นขนาดไหน ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมถึงการฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะพี่น้องชาวพุทธด้วยที่อาจจะกังวลว่าถ้าเจ้าหน้าที่ไม่มีเครื่องมืออย่างนี้จะส่งผลกระทบอย่างไร ทั้งยังมีการทบทวนถึงสถานภาพของ กอ.รมน.และตัวกฎหมาย พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชการอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ)”
“แต่เรื่องหนึ่งที่ค่อนข้างชัดเจนเรื่องของทิศทาง คือเรื่องการพูดคุยสันติภาพ คณะทำงานชุดย่อยเราเห็นตรงกันจะต้องสานต่อการพูดคุยสันติภาพ ที่สำคัญเราจะเปลี่ยนชื่อการเรียกขานการพูดคุยสันติสุขที่ถูกเปลี่ยนไปในช่วงรัฐบาล คสช.ยึดอำนาจ กลับมาใช้ชื่อเดิมคือการพูดคุยสันติภาพ เพื่อสะท้อนนัยมีความหมายที่มุ่งสู่ความจริงจังในการแสวงหาข้อตกลง เพื่อสื่อสารกับคู่สนทนาและสื่อสารกับประชาคมนานาชาชาติที่ติดตามสถานการณ์ และเพื่อสื่อสารต่อประชาชนในพื้นที่ว่า รัฐบาลใหม่ที่นำโดนพลเรือนจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างออกไป โดยเก็บรับบทเรียนและผลได้ที่เป็นผลมาจากการพูดคุยของแต่ละรัฐบาลมาสานต่อ” ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุ
นายรอมฎอน กล่าวอีกว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพียงทิศทางใหญ่ที่พุดคุยกัน ซึ่งเรื่องที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องความปลอดภัยของประชาชน เราตระหนักอย่างยิ่งว่าต้องมีหลักประกัน และเราจะพยายามทุกวิถีทางในการสถาปนาความเป็นปกติ โดยที่จะไม่ต้องมีมาตรการพิเศษกลับมา
เมื่อถามถึงประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการทำประชามติแบ่งแยกดินแดน นายรอมฎอน กล่าวว่า ประเด็นนี้ตกไปแล้ว มันคงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลไทยจะเสนอให้มีการแบ่งแยกดินแดน แต่แน่นอนมีคนตั้งคำถามแบบนี้ คือเป็นเรื่องที่ไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริง
“การทำงานของรัฐบาล ได้มาซึ่งอำนาจความชอบธรรมผ่านรัฐธรรมนูญ มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำตามนโยบายที่ได้นำเสนอไว้ต่อสาธารณะต่อประชาชน แม้กระทั่งต่อ กกต. ซึ่งเรายังยืนอยู่ในกรอบของรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญไทยอยู่แล้ว เรื่องนี้มันเป็นประเด็นที่พยายามทำให้เป็นข้อกังขาและข้อคำถาม แต่ว่าเราก็ยังยืนยันว่าเราเป็นพรรคการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ” นายรอมฎอน กล่าว
ที่มา : ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา