ข่าวสถานการณ์ชายแดนใต้ข่าวในประเทศพัฒนาชุมชนคนมุสลิม

“เป็นธรรม – กัณวีร์” อ้างเป็นผู้แทนชาวปาตานี…ได้กี่คะแนน?

การจัดเวทีสัมมนาเชิงวิชาการของ “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ” ที่มีประเด็น “ประชามติแยกดินแดน” โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมกิจกรรม กลายเป็นปัญหาทางกฎหมาย เมื่อ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ส่งทีมเข้าแจ้งความดำเนินคดีใน 4 ข้อหาฉกรรจ์

พรรคเป็นธรรมเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่มีตัวแทนของพรรคเข้าไปร่วมกิจกรรมในเวทีสัมมนา และเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีด้วย

จังหวะก่อนที่เรื่องจะบานปลาย ดร.ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม ได้ออกมาแสดงจุดยืนที่ชัดเจนถึงการไม่สนับสนุนแนวคิดแบ่งแยกดินแดน และได้มีการปลด นายฮากิม พงตีกอ รองเลขาธิการพรรค ที่ไปรวมกิจกรรมดังกล่าว รวมถึง นายยามารุดดิน ทรงศิริ ที่ออกมาโจมตีหัวหน้าพรรคผ่านสื่อโซเชียลฯ ออกจากกรรมการบริหารพรรค

แต่ ดร.ปิติพงศ์ ก็ยืนยันไม่ทอดทิ้งเมื่อลูกพรรคถูกดำเนินคดี พร้อมส่งทนายไปช่วยประสานงานด้านคดี

ส่วน นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรค และ ส.ส.หนึ่งเดียวของพรรคเป็นธรรม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา (ก่อน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไปแจ้งความดำเนินคดี)

โพสต์ของ นายกัณวีร์ ระบุว่า “ผมพร้อมใช้ตำแหน่ง ส.ส.ที่มาจากชาวปาตานี ปกป้องน้องๆ นักศึกษาและชาวปาตานี หากต้องถูกดำเนินคดีหรือถูกคุกคามจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการพูดถึงสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง และพรรคเป็นธรรมพร้อมฟ้องกลับผู้กล่าวหาแบ่งแยกดินแดน ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์พี่น้องสื่อมวลชนที่ กกต. กรณีการยื่นยุบพรรคที่อ้างว่า ละเมิดกฏหมายรัฐธรรมนูญ…”

“ผมยืนยันว่าพรรคเป็นธรรม ไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนที่ขัดมาตรา 1 กฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่เคารพสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง โดยเฉพาะการมีพื้นที่ปลอดภัยให้แสดงออกซึ่งสิทธิและเสรีภาพในการพูดถึง สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง Right to Self Determination หรือ RSD และยังต้องเปิดพื้นที่ในการเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องนี้”

“ผมยังพร้อมจะใช้ตำแหน่ง ส.ส.ที่มาจากชาวปาตานี ปกป้องน้องๆ นักศึกษา นักกิจกรรมที่ถูกคุกคาม ถูกดำเนินคดีจากฝ่ายความมั่นคงจากการจัดกิจกรรมเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งหากฝ่ายความมั่นคงติดตามการจัดกิจกรรมทั้งหมด และแยกแยะให้ชัดว่า แบบสอบถามการกำหนดชะตากรรมตนเอง ไม่ใช่การทำประชามติแบ่งแยกดินแดน”

“ผมยังย้ำกับพี่น้องสื่อมวลชนด้วยว่า หากมีการกล่าวหาผมและพรรคเป็นธรรมว่าสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน ก็พร้อมดำเนินคดีกลับเช่นกัน เพราะเชื่อว่าความพยายามนำเรื่องนี้ไปฟ้องยุบพรรค อาจเป็นเกมหนึ่งของการล้มรัฐบาล การสร้างสันติภาพปาตานียังต้องมีพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่ปลอดภัย เพื่อสร้างการมีส่วนรวมและทำความเข้าใจอีกมาก”

@@ ส.ส.ตัวแทนคนปาตานี?

จากการออกมาโพสต์ของนายกัณวีร์ ที่พร้อมจะนำตำแหน่ง ส.ส.ไปช่วยนักศึกษาและชาวปาตานี หากถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการพูดถึงสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง โดยอ้างว่าเป็นตำแหน่ง ส.ส.ที่มาจากชาวปาตานี (ซึ่งความหมายของนายกัณวีร์ คือพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้)

ข้อความที่ใช้ ชวนให้เกิดความสงสัยว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา คะแนนเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อที่พรรคเป็นธรรมได้รับ และส่งให้นายกัณวีร์ได้เป็น ส.ส.หนึ่งเดียวของพรรคเป็นธรรม มาจากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นส่วนใหญ่หรือไม่

ทีมข่าวได้ตรวจสอบผลคะแนนจากเว็บไซต์ของ กกต.ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา พบว่า พรรคเป็นธรรมได้คะแนนรวมในระบบบัญชีรายชื่อจากทั้งประเทศ 181,699 คะแนน

ส่วนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จาก 13 เขตเลือกตั้ง ได้คะแนนรวมจากระบบบัญชีรายชื่อ 12,285 คะแนน คิดเป็นเป็นเปอร์เซ็นต์ เท่ากับ 6.76 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากหากเทียบกับคะแนนแบบบัญชีรายชื่อที่ได้จากพื้นที่อื่นของทั้งประเทศ

เมื่อพิจารณาคะแนนของพรรคเป็นธรรมรายจังหวัด ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ดินแดนที่นายกัณวีร์เรียกขานว่า “ปาตานี”) จะพบข้อมูลดังนี้

จ.ปัตตานี พรรคเป็นธรรมได้คะแนนรวมจากระบบบัญชีรายชื่อ 2,925 คะแนน
เขต 1 ได้ 276 คะแนน
เขต 2 ได้ 1,490 คะแนน
เขต 3 ได้ 492 คะแนน
เขต 4 ได้ 495 คะแนน
เขต 5 ได้ 172 คะแนน

จ.ยะลา พรรคเป็นธรรมได้คะแนนรวมจากระบบบัญชีรายชื่อ 1,564 คะแนน
เขต 1 ได้ 558 คะแนน
เขต 2 ได้ 526 คะแนน
เขต 3 ได้ 480 คะแนน

จ.นราธิวาส พรรคเป็นธรรมได้คะแนนรวมจากระบบบัญชีรายชื่อ 7,796 คะแนน
เขต 1 ได้ 2,195 คะแนน
เขต 2 ได้ 910 คะแนน
เขต 3 ได้ 2,830 คะแนน
เขต 4 ได้ 1,421 คะแนน
เขต 5 ได้ 440 คะแนน

@@ ส.ส.ปัดเศษ – อานิสงส์งงเบอร์?

สำหรับตัวเลขคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ทั้งประเทศของพรรคเป็นธรรม 181,699 คะแนนนั้น ยังถือว่าไม่ถึงฐานคะแนนที่ กกต.นำมาคำนวณเป็นสัดส่วนต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ซึ่งอยู่ที่ 375,226 คะแนน

ฉะนั้น ส.ส.กลุ่มนี้จึงถูกเรียกขานว่าเป็น “ส.ส.ปัดเศษ”

ก่อนหน้านี้ยังมีบางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า พรรคการเมืองขนาดเล็กที่ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเกือบทั้งหมด เป็นพรรคที่จับสลากหมายเลขพรรคได้เบอร์เลขตัวเดียว (1-9 ยกเว้นเบอร์ 7 พรรคภูมิใจไทย) จึงมีความเป็นไปได้ว่าพรรคเหล่านี้บางพรรคได้อานิสงส์จากการที่ประชาชนผู้ลงคะแนนเสียง จำหมายเลขพรรคของผู้สมัครแบบแบ่งเขตที่ตนเลือกไม่ได้ จึงเลือกหมายเลขพรรคเป็นเบอร์เดียวกับผู้สมัครระบบแบ่งเขต ซึ่งผู้สมัครแบบเขตจะได้เบอร์เลขตัวเดียวเป็นส่วนใหญ่ ทำให้พรรคเล็กที่จับสลากได้เบอร์เลขตัวเดียว ได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำ

@@ กี่เสียงก็มีคุณค่า

อย่างไรก็ดี การที่ นายกัณวีร์ อ้างเป็นตัวแทนของชาวปาตานี ได้ตำแหน่ง ส.ส.มาเพราะชาวปาตานี ย่อมถือเป็นเรื่องดีที่ให้ความสำคัญกับทุกคะแนนเสียงที่เลือกตน หรือพรรคของตน โดยไม่ได้ให้ความสนใจเฉพาะพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงของตนอย่างหนาแน่นเท่านั้น

@@ ย้อนปมถูกคุ้ย สืบเชื้อสาย “ตระกูลสืบแสง”

อนึ่ง ในช่วงของการรณรงค์หาเสียง นายกัณวีร์ยังถูกตั้งคำถามหลายเรื่องที่ยังตอบได้ไม่เคลียร์ในความรู้สึกของหลายคน หนึ่งในนั้นคือเรื่องที่ไปอ้างการสืบเชื้อสายมาจาก “ตระกูลสืบแสง” ตระกูลการเมืองชื่อดังในอดีตของปัตตานี และมีประวัติศาสตร์เป็นนักต่อสู้ทางการเมือง โดยเฉพาะ นพ.เจริญ สืบแสง

เพราะเมื่อมีการตรวจสอบสืบสาแหรกกันจริงๆ โดยทายาทตัวจริงแล้ว พบว่า นามสกุลของนายกัณวีร์ ไม่ได้สืบเชื้อสายหรือเป็นตระกูลเดียวกับ “ตระกูลสืบแสง” ที่เป็นตระกูลการเมืองนักต่อสู้ของพื้นที่ ทำให้ทายาทตัวจริงของตระกูลประกาศจะฟ้องร้องดำเนินคดี

ส่วนนายกัณวีร์ หลังจากถูกตรวจสอบ ก็ได้ออกมาชี้แจงทำนองว่า ไม่เคยแอบอ้างว่าสืบเชื้อสายมาจาก “ตระกูลสืบแสง” ที่เป็นนักต่อสู้ทางการเมืองของปัตตานี และหลังจากนั้นก็ไม่ยอมชี้แจงใดๆ อีก ขณะที่ในโลกโซเชียลฯ และสื่อมวลชนหลายแขนงได้ย้อนไปขุดคุ้ยคำสัมภาษณ์ช่วงรณรงค์หาเสียงของนายกัณวีร์ หลายครั้งพูดให้เข้าใจได้ว่า ตนเองสืบเชื้อสายมาจาก “ตระกูลสืบแสง” โดยเฉพาะ นพ.เจริญ สืบแสง ที่เป็นเพื่อนของหะยีสุหลง ผู้นำทางจิตวิญญาณของพี่น้องมุสลิมปัตตานี

ที่มา: isranews.org