“ภูมิใจไทย – ประชาชาติ” อีกหนึ่งเรื่องประหลาดหากจับมือตั้งรัฐบาล!
ดราม่า “ภูมิใจไทย” รวมถึง “พลังประชารัฐ” เตรียมเข้าร่วมรัฐบาลกับ “พรรคเพื่อไทย” ยังคงวิจารณ์กันไม่จบ
เพราะจากที่เคยประกาศ “ไม่เอาพรรคลุง” ช่วงก่อนเลือกตั้ง ปรากฏว่าหลังเลือกตั้งอาจมาทั้ง “พรรคลุง พรรคน้า”
แต่ละพรรค แต่ละพวก มีประวัติศาสตร์เส้นทางการเมืองขัดแย้ง แตกหัก ยืนคนละข้างกันมานาน แต่แล้วจู่ๆ กลับเตรียมแต่งตัวมาร่วมงานกัน ทำให้ประชาชนตามไม่ทัน และหลายคน “รับไม่ได้”
จะว่าไปแล้วเรื่องประหลาด ลักลั่นทางการเมืองยังไม่จบแค่นั้น เพราะยังมีความสัมพันธ์ระหว่าง “ภูมิใจไทย” กับ “พรรคประชาชาติ” ที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก แต่ก็ต้องตั้งคำถามด้วยเหมือนกันว่าหากร่วมรัฐบาลกัน จะทำงานกันแบบไหน เพราะ 2 พรรคนี้ไม่ต่างอะไรกับ “น้ำกับน้ำมัน”
ลำดับเรื่องราวย้อนหลังในสภาชุดที่แล้ว ซึ่งพรรคประชาชาติ กับพรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน ไล่ถล่มภูมิใจไทย ในฐานะพรรคอันดับ 2 ของรัฐบาลแบบไม่ยั้งในทุกสมัยประชุมที่มีการยื่นญัตติซักฟอก “อภิปรายไม่ไว้วางใจ”
1) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เป็นตัวตั้งตัวตีในแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน แถลงส่งเรื่องผ่านประธานฯชวน หลีกภัย ประธานสภาในขณะนั้น ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยถอดถอน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ออกจากตำแหน่ง ส.ส. และ รมว.คมนาคม เนื่องจากเข้าไปเกี่ยวข้องยุ่มย่ามกับการจัดงบประมาณ ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามของ ส.ส.และรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 144
งบประมาณที่ว่านี้ก็คืองบกระทรวงคมนาคม ที่ฝ่ายค้านมองว่าเทลงไปยังพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ฐานที่มั่นของนักการเมืองใหญ่พรรคภูมิใจไทยมากเป็นพิเศษ โดยบริษัทรับเหมาที่ได้งานก่อสร้าง ก็มีความเชื่อมโยงกับนักการเมืองใหญ่ของพรรค
แต่เรื่องนี้หยุดชะงักเพราะประธานฯชวน ไม่ได้ส่งเรื่องต่อไปยังศาล เพียงแค่ชี้ช่องว่า ส.ส.ฝ่ายค้านในขณะนั้น ส่งเรื่องตรงไปยังศาลได้เอง
2) พรรคประชาชาติ และพรรคก้าวไกล เป็น 2 แรงแข็งขันในการช่วยกันอภิปรายไม่ไว้วางใจถล่มนายศักดิ์สยาม เมื่อเดือน ก.ค.ปีที่แล้ว ว่ายังคงไว้ซึ่งหุ้นบริษัทรับเหมา ที่ภายหลังมารับงานก่อสร้าง เป็นคู่สัญญากับกระทรวงคมนาคมจำนวนมาก
กระทั่งปีนี้ มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรับคำร้อง พร้อมสั่งให้นายศักดิ์สยาม หยุดปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 3 มี.ค.66 และยกคำร้องเมื่อ 18 เม.ย.66 กรณีนายศักดิ์สยามยื่นอุทธรณ์คำสั่ง จนถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่หลุดบ่วง ยังต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่อยู่ ไม่ได้เป็น รมว.คมนาคม รักษาการ
3) พรรคประชาชาติ เป็นแกนนำในการอภิปรายเรื่องที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ โยงถึงตระกูลการเมืองในพรรคภูมิใจไทยที่พำนักอยู่และมีธุรกิจในที่ดินผืนนี้ ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ เป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
4) พรรคประชาชาติและพรรคก้าวไกล เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ระงับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีส่วนต่างถึง 68,000 ล้านบาท ทำให้เรื่องนี้ชะงัก ไม่มีใครกล้านำเข้าคณะรัฐมนตรี และ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เจ้าของฉายา “จอมแฉ” นำมาเปิดโปงซ้ำช่วงใกล้เลือกตั้ง หวังสกัดพรรคภูมิใจไทยเข้าสภา
5) พรรคประชาชาติยังเป็นหัวหอกในการเปิดประเด็น “นายทุนก่อสร้างยักษ์ใหญ่” ถือครองที่ดิน ส.ป.ก.4-01 จำนวนหลายร้อยไร่ที่ ต.หนองย่างเสือ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ซึ่งมีความพยายามเชื่อมโยงว่าเกี่ยวข้องทางอ้อมกับประเด็นรถไฟฟ้า สายใดสายหนึ่ง
ข่าวว่า “ครูใหญ่ภูมิใจไทย” และบรรดาแกนนำพรรค ไม่ค่อยพอใจปฏิบัติการของ พ.ต.อ.ทวี และพลพรรคก้าวไกล ถึงขึ้นมีการหาช่องร้องศาลรัฐธรรมนูญโต้กลับ กรณีที่พรรคประชาชาติออกแถลงการณ์คัดค้านคำสั่งย้าย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ จาก ผอ.โรงพยาบาลจะนะ ไปเป็น ผอ.โรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา ในข้อหาใช้อำนาจ ส.ส.ยุ่งเกี่ยวแทรกแซงการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการ แต่สุดท้ายประเด็นนี้ก็เงียบหายไป ไม่มีอะไรคืบหน้า
ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมปฏิบัติการของ 2 พรรคที่ช่วยกันสกัดร่างกฎหมาย “กัญชากัญชง” ที่ผลักดันโดยพรรคภูมิใจไทย เพราะเป็นนโยบายหาเสียง จนไม่สามารถคลอดออกมาบังคับใช้ได้ ทำให้นโยบายนี้สะดุดไป ไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมใน 4 ปีที่เป็นรัฐบาล
โดยเฉพาะพรรคประชาชาติ เป็นพรรคเดียวที่ ส.ส.ของพรรคโหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง ตั้งแต่วาระแรก และนำไปใช้รณรงค์หาเสียงต้าน “กัญชาเสรี” ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
ฉะนั้นหาก 2 พรรคนี้ต้องร่วมรัฐบาลกัน ประชุม ครม.ด้วยกัน ทั้งๆ ที่แผลซึ่งฟาดฟันเข้าใส่กันยังสดๆ เลือดยังหยดอยู่แบบนี้…
บอกได้คำเดียวว่า “ดูไม่จืด”
ที่มา: isranews