ข่าวสถานการณ์ชายแดนใต้ข่าวในประเทศพัฒนาชุมชนคนมุสลิม

เพื่อไทยทิ้งงานความมั่นคง ดับไฟใต้ไปยังไงต่อ?

28 ส.ค.66 ใกล้ครบ 20 ปีไฟใต้ รัฐบาลรักษาการต่ออายุขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ชายแดนใต้ต่อไปอีก 3 เดือน นับเป็นครั้งที่ 73!

แม้การประชุม 28 ส.ค.จะยังไม่ใช่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นเพียงการประชุม กบฉ. หรือ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่สุดท้าย ครม.ก็ไม่เคยเห็นต่าง หรือ “วีโต้” มติ กบฉ. แม้แต่ครั้งเดียว

นั่นหมายความว่ารัฐบาลไทยทุกชุดที่ผ่านมา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้วนานกว่า 18 ปี นับตั้งแต่เดือน ก.ค.2548 ที่มีการตรากฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินเป็น “พระราชกำหนด”

แม้จะมีการปลดพื้นที่ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี ออกจากพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เป็นอำเภอที่ 11 จาก 33 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ตาม แต่คนที่ติดตามปัญหาภาคใต้ก็ทราบกันดีว่า การลดพื้นที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แทบไม่มีผลในทางปฏิบัติจริง เมื่อกฎหมายหลักยังถูกประกาศครอบอยู่ หนำซ้ำเมื่อยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ส่งกฎหมายความมั่นคงไปบังคับใช้แทน

ที่ผ่านมาในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรคการเมืองหลายพรรคประกาศนโยบายดับไฟใต้ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ หรือพูดง่ายๆ คือ คณะเจรจากับบีอาร์เอ็น ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาประมาณ 3 ปี แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร

หลายพรรคเสนอยุบหน่วยงานพิเศษที่รับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ ทั้ง กอ.รมน. และ ศอ.บต. รวมถึงยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ ซึ่งประกาศต่อเนื่องมานานเกือบ 2 ทศวรรษตามที่กล่าวไปแล้ว

บางพรรคก็จะยกเลิกกฎอัยการศึก พ.ร.บ.ความมั่นคง และถอนทหาร ยกเลิกด่านตรวจทั้งหมดด้วย

แม้นโยบายที่พรรคการเมืองพากันนำเสนอ จะมีเสียงวิจารณ์โต้แย้งและมุมมองที่แตกต่างบ้าง ทว่าหลายฝ่ายก็เฝ้ารอการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะไม่มีหวังกับวิธีการที่ผ่านมา จึงอยากให้ทดลองแนวทางใหม่ๆ บ้าง

แต่เมื่อเหลียวดู “โผ ครม.เศรษฐา 1” ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย หลายคนอาจจะกำลังสิ้นหวังที่จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลง

@@ สุรชาติ : 5 คำถามเพื่อไทยหมดสภาพ – ทิ้งงานความมั่นคง?

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักรัฐศาสตร์ และนักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งปุจฉาว่า “ตอนนี้พรรคเพื่อไทยหมดสภาพหรือไม่?” ซึ่งถือเป็นคำถามที่แหลมคม โดยมีตัวชี้วัดก็คือ

1.ใครรับผิดชอบงานความมั่นคง

  • ไล่ดูรายชื่อ “ว่าที่รัฐมนตรี” ในระนาบรองนายกฯ ตามโผที่ออกมา ยังเดาไม่ออกว่าใครจะรับผิดชอบงานความมั่นคง
  • หากเป็น พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ อดีต ผบ.ตร. จะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะเจ้าตัวมาจากสายตำรวจ แต่งานความมั่นคงต้องคุมทั้งทหาร ตำรวจ ปกครอง และฝ่ายพลเรือน

2.โควตา รมว.กลาโหม เป็นของพรรคเพื่อไทย หรือโควตากลาง

  • ก่อนหน้านี้มีแต่ข่าวความสับสน และเปลี่ยนตัว เปลี่ยนชื่อมาโดยตลอด
  • ล่าสุดเป็นชื่อ นายสุทิน คลังแสง อดีตประธานวิปฝ่ายค้าน แต่ก็มีคำถามถึงความเหมาะสม เพราะไม่เคยผ่านงานด้านความมั่นคงและงานการทหารมาก่อนเลย
  • ล่าสุดของล่าสุด มีข่าวว่าฝ่ายกองทัพไม่ยอมรับชื่อนายสุทิน อาจจะมีการขยับโผกันอีก

ความเคลื่อนไหวทั้งหมดสะท้อนว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้เตรียมบุคลากรมาเพื่องานความมั่นคงเลย

3.ความสับสนในการวางตัวรัฐมนตรีหลายๆ ตำแหน่ง ทำให้มองเห็นภาพการประสานประโยชน์ไม่ลงตัว มีการแย่งชิงกระทรวงกัน

  • รัฐบาลผสมอ่อนแอจะอยู่ได้นานเท่าไหร่
  • แม้จะถูลู่ถูกังไปได้ เพราะรัฐบาลอาจจะล้มยาก มีความจำเป็นที่จะต้องอยู่กันต่อ เพราะไม่อยากเลือกตั้งแล้วต้องไปแข่งกับก้าวไกล แต่เมื่อนายกฯ กุมสภาพไม่ได้ การไปต่อก็ไม่ง่าย

4.พรรคเพื่อไทยแสดงความต้องการอยากเป็นรัฐบาลมากเกินไป ต้องตั้งรัฐบาลให้ได้ กลายเป็นจุดอ่อนให้เกิดการต่อรองสูงจากพรรคร่วมรัฐบาล

  • ประนีประนอมน้อย อำนาจมาก
  • ประนีประนอมมาก พลังน้อย พรรคร่วมฯ ต่อรองได้มาก
  • สถานการณ์ ณ เวลานี้ เหมือนเพื่อไทยยอมศิโรราบทุกอย่าง เรียกว่า “รัฐบาลหมดสภาพ” ก็น่าจะได้

@@ รัฐประหารซินโดรม กับ 5 เงื่อนปม “โจทย์ความมั่นคง”

ย้อนกลับไปที่งานความมั่นคง ซึ่งเชื่อมโยงกับ “ภูมิรัฐศาสตร์” อย่างแยกไม่ออก จึงมีความสำคัญมากในการเมืองสมัยใหม่

อาจารย์สุรชาติ ตั้งคำถามว่า ท่าทีของเพื่อไทยเหมือนทิ้งงานความมั่นคง เพราะ…

  • ยังบอกไม่ได้ว่าใครเป็นรองนายกฯ คุมงานความมั่นคง
  • รองนายกฯ คนนี้จะต้องคุม สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) สขช. (สำนักข่าวกรองแห่งชาติ) และต้องตั้งคณะเจรจาปัญหาภาคใต้เพื่อยุติความขัดแย้ง ความรุนแรงที่ยืดเยื้อมานานร่วม 20 ปี
  • แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เพื่อไทยเหมือนไม่ไยดีงานความมั่นคง
  • ที่สำคัญเพื่อไทยขาลอยกับกองทัพ มีภาวะ “รัฐประหารซินโดรม” เพราะถูกยึดอำนาจ 2 รอบในห้วง 8 ปี จึงดูเหมือนไม่กล้าแตะกองทัพ
  • ตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยไม่มีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับกองทัพ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พ่ายแพ้พรรคก้าวไกล เพราะสังคมต้องการให้เกิดการปฏิรูปกองทัพ ส่งทหารเข้ากรมกอง และจัดการเรื่องผลประโยชน์ของกองทัพ โดยเฉพาะ “เสนาพาณิชย์” และการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ให้เหมาะสม

คำถามคือ “ปฏิรูปกองทัพ” เพื่อไทยจะเอาอย่างไร เพราะการปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มที่รัฐบาล ต่อที่ รมว.กลาโหม แต่ใครคุมกลาโหม พรรคเพื่อไทยยังตอบไม่ชัด (ไม่ว่าใครคุม จากที่มีชื่อมา 2 ชื่อ ก็จะมีปัญหาด้วยกันทั้งสิ้น เช่น “บิ๊กเล็ก” พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ อดีตเลขาฯ สมช. ก็มีความใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ หรือหากเป็น นายสุทิน คลังแสง ก็ไม่มีประสบการณ์ชัดเจนในเรื่องนี้

นอกจากนั้นยังมีโจทย์ต่างประเทศที่เกี่ยวโยงกับความมั่นคง โดยเฉพาะโจทย์เมียนมาที่เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับไทย ดินแดนติดกัน หรือจีนจะฟองสบู่แตกหรือไม่

อาจารย์สุรชาติ ไล่เรียง “โจทย์ต่างประเทศ” อย่างน้อย 5 เรื่องที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ แต่ยังมองไม่เห็นท่าทีจากเพื่อไทย

  1. สงครามเย็น
  2. สงครามยูเครน
  3. สงครามไต้หวัน
  4. สงครามเมียนมา
  5. การแข่งขันของมหาอำนาจในภูมิภาค

@@ สารพัดชื่อแคนดิเดต “รมว.กห.” ตัดจบที่ใคร?

ท่ามกลางกระแสโผขยับรอบสุดท้าย โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงกลาโหม เป็นชื่อ นายสุทิน คลังแสง อดีตประธานวิปฝ่ายค้าน ซึ่งเคยมีข่าวทางสื่อบางสำนักมาก่อนหน้านี้

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในหมู่เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง โดยเฉพาะในกองทัพ ที่คอยเงี่ยหูฟังข่าวโผ ครม.กันอยู่ กลับเพิ่งแสดงความมั่นใจกันว่า รมว.กลาโหม คนใหม่ จะเป็น “บิ๊กเล็ก” พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ อดีตเลขาฯ สมช. ค่อนข้างแน่นอน ฉะนั้นการที่โผพลิกอีกรอบ จึงยังไม่ชัดว่า จะมีปัญหาอะไรตามมาอีกหรือไม่ (ล่าสุดของล่าสุดก็มีข่าวว่า เกิดปัญหาขึ้นแล้ว เนื่องจากกองทัพไม่ยอมรับ)

เพราะต้องไม่ลืมว่า ตำแหน่ง รมว.กลาโหม มีปัญหามาตั้งแต่แรก แต่เดิมพรรคเพื่อไทยเคยจัดเป็นโควตาให้พรรคพลังประชารัฐ และมีการเสนอชื่อ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ชื่อไม่ผ่าน เนื่องจากติดเงื่อนไขยังพ้นจากตำแหน่ง สว.ไม่ถึง 2 ปี (เคยเป็น สว.โดยตำแหน่ง ช่วงที่เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม)

ต่อมามีการเสนอชื่อ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หรือ “บิ๊กน้อย” อดีตผู้ช่วย ผบ.ทบ. แต่ชื่อก็ไม่ผ่านอีก กระทั่งมีการเสนอชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ หรือ “บิ๊กป๊อด” อดีต ผบ.ตร. น้องชายของ “บิ๊กป้อม” แต่ก็ถูกท้วงติงว่า น่าจะไม่เหมาะสม เพราะจะกลายเป็น “ส่งตำรวจไปคุมทหาร”

ภายหลังจึงมีการคืนโควตากลับมาให้พรรคเพื่อไทย แต่ก็หาตัวไม่ได้ แม้พรรคจะมี พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็น สส.ของพรรค และเป็นพลเอกเพียงหนึ่งเดียวของพรรคก็ตาม แต่ พล.อ.พิศาล เคยเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ช่วงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบ จึงน่าจะเป็นเงื่อนไข ทำให้ไม่สามารถเข้าดำรงตำแหน่งได้

ต่อมาจึงมีข่าวการประสานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ช่วยเสนอชื่อ ซึ่งก็มีข่าวว่า “บิ๊กตู่” เสนอชื่อ “บิ๊กเล็ก” และเป็นข่าวต่อเนื่องมาหลายวัน กระทั่งทุกฝ่ายคิดว่าน่าจะลงตัวแล้ว จึงต้องจับตากันต่อไปว่าลงตัวจริงหรือไม่

ที่มา: isranews.org