ข่าวสารเทคโนโลยี

ไทยส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจร 7 ต.ค.

27 ก.ย. 66 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA), อุปทูตรักษาการเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และ AIRBUS ร่วมแถลงข่าวความพร้อมของดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ของไทย ซึ่งมีกำหนดปล่อยขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 7 ต.ค.นี้ เวลา 08.36 น. (ตามเวลาประเทศไทย)

น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. กล่าวว่า ดาวเทียม THEOS-2 เป็นดาวเทียมสำรวจโลก 1 ใน 2 ดวงที่อยู่ภายใต้โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนาที่ดำเนินการโดย GISTDA มีศักยภาพถ่ายภาพและผลิตภาพสีรายละเอียดสูงมากในระดับ 50 ซม. สามารถถ่ายภาพและส่งข้อมูลกลับมายังสถานีภาคพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตร.กม./วัน

มีภารกิจหลักคือการบันทึกภาพพื้นผิวโลกทั้งในประเทศไทยและพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศให้เป็นปัจจุบันอย่างละเอียดและถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้การวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการจัดการเกษตร บริหารจัดการน้ำ จัดการภัยธรรมชาติ จัดการเมืองและทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงยังช่วยพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ

“การนำส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ครั้งนี้ ถือเป็นการส่งดาวเทียมความละเอียดสูงมากครั้งแรกของประเทศไทย”

เมื่อดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศแล้วจะใช้เวลาอีกประมาณ 5-7 วันในการปรับตัวเองให้เข้าสู่วงโคจรที่แท้จริง และจะใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือนที่จะทดสอบระบบต่าง ๆ ก่อนเปิดให้บริการ

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า การนำข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 มาใช้พัฒนาประเทศ สามารถเป็นไปได้ในหลายมิติ อาทิ

• การจัดทำแผนที่ เนื่องจากดาวเทียม THEOS-2 สามารถบันทึกภาพและความละเอียดสูงถึง 50 ซม. ต่อพิกเซล และพัฒนาให้เป็นข้อมูลสามมิติได้ จึงสามารถนำไปผลิตแผนที่มาตราส่วนใหญ่ได้ถึงมาตราส่วน 1: 1000

• การจัดการเกษตรและอาหาร ดาวเทียม THEOS-2 สามารถใช้วิเคราะห์และประเมินพื้นที่เพาะปลูก จำแนกประเภทพืชเกษตร สุขภาพพืชและคาดการณ์ผลผลิตที่จะเกิดขึ้น นำไปสู่การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจหลักอย่างน้อย 13 ชนิด

• การบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 สามารถใช้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำและประเภทของแหล่งน้ำทั่วประเทศ ใช้ตรวจสอบข้อมูลของแหล่งน้ำ คำนวณปริมาณน้ำของแหล่งน้ำต้นทุน ตรวจจับแหล่งน้ำที่มีวัชพืชหนาแน่น บริหารจัดการน้ำทุ่ง รวมถึงการบริหารจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรม

• การจัดการภัยธรรมชาติ ข้อมูลดาวเทียม THEOS-2 ที่ได้จะถูกนำไปใช้ในการวางแผน ป้องกัน แจ้งเตือน อพยพและบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติได้ทันท่วงที

• การจัดการเมือง โดยเฉพาะแนวขอบเขตที่ดินและขอบเขตชายแดน ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง การเชื่อมโยงเขตอุตสาหกรรมเดิมเข้ากับโครงสร้างพื้นฐาน

• การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 ทำให้เห็นสภาพปัญหาในมุมกว้าง เป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ จะเป็นประโยชน์ในการช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ ป้องกันการบุกรุกป่าและการบริหารจัดการป่าชุมชน รวมถึงการนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ในกระบวนการตรวจวัดและประเมินคาร์บอน

ผอ. GISTDA กล่าวอีกว่า การส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศครั้งนี้ ถือเป็นการส่งดาวเทียมระดับปฏิบัติการที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงตามภารกิจของประเทศดวงที่ 2 ของไทยในรอบ 15 ปี หลังจากส่งไทยโชตเมื่อปี 2551

ที่มา : ThaiPBS