ข่าวในประเทศ

ไทยพุทธขยับ! รวมตัวค้านเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชายแดนใต้

yalabuddhist08100

เครือข่ายชาวไทยพุทธหลายองค์กรในยะลา จำนวนกว่า 200 คน รวมตัวยื่นหนังสือผู้ว่าฯ ส่งต่อ รมว.ยุติธรรม ค้านยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังภาคประชาสังคมอีกฝั่งเรียกร้องให้ยุติการใช้กฎหมายพิเศษโดยไม่ถามคนพุทธในพื้นที่ ครวญต้องอพยพทิ้งถิ่น ไม่เคยได้รับการเหลียวแล

หลังจากที่สภาเครือข่ายปัญญาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ INC ได้ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 6 ต.ค.66 เพื่อขอให้รัฐบาลยุติการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะสิ้นสุดการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในวันที่ 20 ต.ค.66 ที่จะถึงนี้ โดยรัฐบาลสามารถเลือกที่จะไม่ต่ออายุขยายเวลาการบังคับใช้ต่อไปได้นั้น

ล่าสุด วันอาทิตย์ที่ 8 ต.ค.66 ร.ต.อ.หิรัญย์เศรษฐ แสงเทียน ประธานสมาพันธ์ไทยพุทธจังหวัดยะลา อดีตข้าราชการตำรวจ ร่วมกับเครือข่ายไทยพุทธในพื้นที่ จ.ยะลา, เครือข่ายไทยพุทธบ้านสันติ 1-2, เครือข่ายไทยพุทธบ้านจุฬาภรณ์ 7 ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา, กลุ่มเครือข่ายไทยพุทธตำบลหน้าถ้ำ และกลุ่มชาวไทยพุทธคนรักในหลวงจังหวัดยะลา จำนวนกว่า 200 คน ได้รวมตัวกันเดินขบวนไปยังบริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดยะลา พร้อมถือป้ายเขียนข้อความคัดค้านการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และยื่นหนังสือปิดผนึกให้กับ นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อส่งต่อไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนมาตรการปกป้อง คุ้มครองชาวพุทธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

@@ แถลงการณ์ฉะแม้แต่ สส.ก็ละเลยคนพุทธ

yalabuddhist08104

เนื้อความในหนังสือเปิดผนึกที่ยื่นถึงรัฐมนตรีว่ากาากระทรวงยุติธรรม มีใจความว่า “ตามที่สภาเครือข่ายปัญญาชนจังหวัดชายแดนภาดใต้ ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 6 ต.ค.66 ขอให้รัฐบาลยุติการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ทางกลุ่มชาวไทยพุทธหลายองค์กรในพื้นที่เห็นว่าการเรียกร้องของสภาเครือข่ายฯ ดังกล่าว พิจารณาเพียงแค่การบั่นทอนเสรีภาพและไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนเท่านั้น และสภาเครือข่ายฯ ก็ไม่เคยถามกลุ่มชาวพุทธในพื้นที่เลยว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่อย่างไร

ชาวเรายังมองไม่เห็นว่าการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะช่วยให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้นอย่างไร ยังคงเห็นการถูกข่มขู่ไม่ให้ชาวพุทธเข้าบางพื้นที่ ยังคงเห็นการลอบทำร้ายชาวพุทธมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ก็ละเลย เพิกเฉยต่อโศกนาฏกรรมของชาวพุทธที่ได้รับจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงตลอดมา

อยากตั้งคำถามว่า หากเกิดเหตุชาวพุทธถูกลอบทำร้ายจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง สวนยางพารา สวนผลไม้ถูกฟันทำลาย สภาเครือข่ายฯ จะออกมารับผิดชอบหรือไม่ หรือจะมี สส.ในพื้นที่คนใดรับผิดชอบต่อการกระทำนี้บ้าง ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี บีบคั้นให้ชาวพุทธต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนของตนออกนอกพื้นที่มาโดยตลอด เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของตนและครอบครัว จนสัดส่วนการเหลืออยู่ของชาวพุทธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงเรื่อยๆ

แต่ครอบครัวชาวพุทธที่ยังคงอยู่ก็มีความหวังถึงความปลอดภัยด้วยกฎหมายพิเศษที่ทางการนำมาใช้ การเรียกร้องขอยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของสภาเครือข่ายฯ จึงเสมือนการละเลยไม่อินังขังขอบต่อความปลอดภัยของชาวพุทธ แต่กลับคำนึงถึงประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง ซึ่งแม้แต่ สส.ในพื้นที่ที่อ้างตนว่าเป็นผู้แทนของประชาชน ก็ดูเหมือนจะเพิกเฉยต่อความเป็นอยู่และความปลอดภัยของชาวพุทธ ยิ่งไปกว่านั้นยังออกมาแสดงตนสนับสนุนการยกเลิก พ.ร.ก.ดังกล่าวอย่างชัดเจน” แถลงการณ์ระบุตอนหนึ่ง

@@ คนดีไม่เดือดร้อน ลำบากแต่พวกก่อเหตุ

yalabuddhist08102

ด้าน ร.ต.อ.หิรัญย์เศรษฐ แสงเทียน ประธานสมาพันธ์ไทยพุทธ จ.ยะลา กล่าวว่า การเดินทางมายื่นจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เพื่อต้องการให้ยังคงมี พ.รก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป แม้ว่าสถานการณ์ในขณะนี้จะเบาบางลง แต่เหตุการณ์ก็ยังไม่สงบ เพื่อความสบายใจของคนไทยพุทธที่อยู่ในพื้นที่ เพราะที่ผ่านคนไทยพุทธคือเหยื่อของเหตุการณ์ที่ถูกกระทำจากผู้ก่อเหตุรุนแรง

“การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ถ้าเป็นคนดีจะไม่เดือดร้อนอะไร แต่พวกที่เดือดร้อน คือ ผู้ก่อเหตุความรุนแรง ทางเครือข่ายไทยพุทธจึงอยากให้คง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เอาไว้ก่อน เพราะเหตุรายวันยังเกิดขึ้นตลอดเวลา” ประธานสภาพันธ์ไทยพุทธ จ.ยะลา ระบุ

ร.ต.อ.หิรัญย์เศรษฐ กล่าวด้วยว่า การที่มีบางกลุ่มเสนอให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯนั้น ก็อยากให้มาถามทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ อย่างชาวไทยพุทธที่ทุกวันนี้รู้สึกเหมือนเป็นคนกลุ่มน้อยในพื้นที่อยู่แล้ว ว่าเขาอยากให้ยกเลิกหรือไม่ยกเลิก และที่มารวมตัวเรียกร้องในวันนี้อยากให้เห็นว่า เรายังต้องการความปลอดภัยในพื้นที่ และมี พ.ร.ก.ฉบับนี้ที่สามารถใช้ควบคุมสถานการณ์และสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนได้

“ผมเคยเป็นข้าราชการตำรวจที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เคยประสบเหตุการณ์ปะทะมาแล้ว ทราบในสถานการณ์ดี ถึงแม้จะเกษียณมาแล้ว แต่ก็ยังทำหน้าที่ขับเคลื่อนเพื่อให้คนไทยพุทธอยู่ในพื้นที่ได้ เพราะจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ที่ไม่ว่าเชื้อชาติใด ศาสนาไหน ก็สามารถอยู่ร่วมกัน” ประธานสมาพันธ์ไทยพุทธ จ.ยะลา กล่าวทิ้งท้าย

@@ ทบ.-กอ.รมน.เก็บข้อมูลชง กบฉ.ก่อนเสนอ ครม.

มีรายงานว่าทางกองทัพบก และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. กำลังเก็บรวบรวมข้อมูลและความเห็นของทุกฝ่าย เพื่อนำไปเสนอต่อที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. และคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ กบฉ. ซึ่งจะมีการประชุมภายในสัปดาห์หน้านี้ เพื่อลงมติและเสนอเป็นแนวทางให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ในวันอังคารที่ 17 ต.ค.66 ว่าสมควรต่ออายุขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไปอีกเป็นครั้งที่ 74 หรือไม่

ทั้งนี้ แนวโน้มความเห็นของกองทัพ และ กอ.รมน. คือต้องการให้รัฐบาลขยายเวลาการบังคับใช้ออกไปก่อน เพื่อไม่ให้กระทบกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งทำงานอย่างมีประสิทธิภาพภายในกฎหมายพิเศษฉบับนี้

ที่มา : isranews