ข่าวสถานการณ์ชายแดนใต้ข่าวในประเทศ

“ไม่ยืดหยุ่น-ผูกมัดรัฐ” – ค้านตั้ง “บิ๊ก ขรก.” คุมพูดคุยดับไฟใต้

ทันทีที่ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน สะบัดปากกาเซ็นคำสั่งตั้งคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ แทนที่สังคมไทยจะมีหวังดับไฟความรุนแรงที่ปลายด้ามขวานที่ยืดเยื้อมานานถึง 20 ปี

แต่ไปๆ มาๆ ดูเหมือนแนวโน้มไฟใต้มอดดับจะยิ่งริบหรี่หนักขึ้่นไปอีก

เพราะการตั้งคณะพูดคุยฯ กลายเป็นจุดอ่อนใหม่ และซ้ำรอยเดิมกับ 4 คณะที่ผ่านมาในห้วงเวลา 10 ปี นับตั้งแต่เริ่มกระบวนการพูดคุยกับผู้เห็นต่างจากรัฐ แบบ “เปิดเผย – บนโต๊ะ” ไม่มีแอบคุยหลังฉาก หรือใต้โต๊ะ เมื่อ 28 ก.พ.2556

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง เขียนบทความตีแผ่ประเด็นเหล่านี้ ซึ่งเป็นข้อมูลและข้อสังเกตที่น่าสนใจยิ่งในวาระ “ไฟใต้” ของประเทศไทย ลุกโชนมายาวนานถึง 2 ทศวรรษ นานกว่าการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เสียอีก

——————————

ปัญหาที่ไม่จบในภาคใต้: ข้อพิจารณาอย่างสังเขป

บทความนี้ในส่วนแรกจะทดลองนำเสนอภาพรวมของปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไทย ซึ่งจะครบรอบ 20 ปีเต็มในวันที่ 4 มกราคม 2567 ที่กำลังจะถึงในอีกไม่นาน ในส่วนที่สองจะนำเสนอข้อพิจารณาเรื่องการแต่งตั้งบุคคลในคณะพูดคุยของปัญหา 3 จังหวัดดังกล่าว

ภาพรวมของปัญหา

1) ปีนี้เป็นปีที่ 20 เหตุการณ์ปล้นปืนในวันที่ 4 มกราคม 2547 และจะครบ 20 ปีเต็มในวันที่ 4 มกราคม 2567 ระยะเวลาของความรุนแรงชุดนี้ยาวกว่าสงคราม พคท. ที่เริ่มขึ้นจากปี 2508 และยุติลงในปี 2526 คือมีระยะเวลา 18 ปี

2) มีการก่อเหตุร้ายเกิดขึ้น 1 หมื่นกว่าครั้ง โดยมีความรุนแรงมากที่สุดในปี 2550 คือมีเหตุเกิด 1,407 ครั้ง เสียชีวิต 892 คน ส่วนปีที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงน้อยสุดคือปี 2563 (ปีที่เกิดโควิด-19) มีเหตุเกิด 57 ครั้ง เสียชีวิต 36 คน และเสียชีวิตน้อยสุดในปี 2565 คือราว 20 กว่าคน (ยังไม่มีตัวเลยของปี 2566)

3) ความรุนแรงทำให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก และเกิดกับคนทั้งพุทธและมุสลิม กล่าวคือ ตัวเลขความสูญเสียของบุคคลจากมกราคม 2547 จนถึง สิงหาคม 2566 มีผู้เสียชีวิต 5,868 บาดเจ็บ 12,657 ซึ่งน่าสนใจว่าสัดส่วนเจ้าหน้าที่รัฐ/ประชาชน เกือบเท่ากัน อัตราส่วนเช่นนี้แตกต่างจากในเวทีโลกที่การสูญเสียส่วนใหญ่ในสงครามจะเป็นประชาชน

4) งบประมาณในการแก้ปัญหาในรอบ 20 ปี ถูกใช้ไปเป็นจำนวนมหาศาล กล่าวคือ ในวงรอบ 20 ปีงบประมาณ มีการใช้งบนี้เป็นมูลค่าสูงถึง 4.9 แสนล้านบาท

5) ความรุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่ในระยะที่ผ่านมาจากปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่เกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน ตัวเลขดังกล่าวไม่เพิ่มขึ้นและ/หรือลดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่หากเปรียบเทียบกับก่อนหน้านี้ อาจจะเห็นการลดลง ซึ่งก็มิได้บ่งบอกว่ารัฐไทยแก้ปัญหาได้ถูกต้อง แต่การลดลงเช่นนี้เป็นไปตามทฤษฎีการสงคราม คือ ความอ่อนล้าของฝ่ายผู้ก่อเหตุ เนื่องจากสงครามมีระยะเวลานานเกินไป

6) ผลของการเจรจาที่เกิดขึ้นยังไม่เห็นทิศทางที่จะลดความรุนแรงลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่การเจรจายังคงต้องดำเนินการต่อไป เพราะเป็นช่องทางของการติดต่อระหว่างรัฐกับกลุ่มผู้ก่อเหตุได้อย่างเป็นทางการ

7) ข้อดีในช่วง 20 ปี คือ ความรุนแรงยังเกิดในพื้นที่จำกัด ไม่ขยายตัวออกนอกพื้นที่ และยังไม่เกิดการยกระดับของความรุนแรงมากกว่าที่เป็นอยู่

8) ปัญหาที่ฝ่ายรัฐจะต้องตอบให้ได้คือ ฝ่ายตรงข้ามบนโต๊ะเจรจาคือใคร? ใช่กลุ่ม BRN หรือไม่ … เนื่องจากการก่อเหตุในภาคใต้ไม่มีการประกาศความรับผิดชอบ แตกต่างจากต่างประเทศอย่างมาก การเห็นฝ่ายตรงข้ามได้ชัดเจนจะทำให้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์การเมืองและการทหารได้ถูกต้อง

9) ปัญหาภาคใต้ ที่มีการเจรจาเป็นองค์ประกอบสำคัญจะยังคงเป็นโจทย์ความมั่นคงที่น่าปวดหัวของทุกรัฐบาล และเป็นปัญหาสำคัญของกองทัพบกต่อไปในอนาคต

10) ปีที่ 21 เราอาจเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน เช่น บทบาทพรรคการเมืองบางพรรคที่นำเสนอการแก้ปัญหาเรื่องภาคใต้ ตลอดรวมถึงผลกระทบจากปัญหาสงครามในตะวันออกกลาง

ข้อพิจารณาเรื่องคณะผู้เจรจาฝ่ายไทย

11) หัวหน้าคณะผู้เจรจา/ทีมการเจรจาจึงมีความสำคัญที่จะต้องเข้าใจปัญหา เงื่อนไข และแรงขับเคลื่อนของความรุนแรงที่เกิดขึ้น การขาดความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ จะทำให้ไม่เข้าใจปัญหาในภาพรวม

12) การเจรจาทางการเมืองทั่วโลกตั้งอยู่บนหลักที่สำคัญคือ “รู้เขา-รู้เรา” ฉะนั้น ปัญหาคือ ฝ่ายรัฐไทยรู้จักฝ่ายตรงข้ามเพียงใดทั้งบนโต๊ะเจรจา และในสนามรบทางทหาร

13) การเจรจาทางการเมืองทุกชนิดคือ “การต่อรอง” ดังนั้น หัวหน้าคณะต้องเข้าใจและมีทักษะเรื่องนี้ ที่ผ่านมาจากคนแรกจนถึงคนปัจจุบัน ไม่ปรากฏให้เห็นถึงสิ่งเหล่านี้แต่อย่างใด เพราะเป็นการใช้คนด้วยกระบวนการทางราชการ คือ ใช้คนตามตำแหน่งทางราชการ

14) หัวหน้าคณะผู้เจรจาไม่ควรเป็นคนที่เป็นข้าราชการระดับสูงที่ยังรับราชการอยู่ โดยเฉพาะในสายงานความมั่นคง เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการเจรจา และไม่ให้เกิดการผูกมัดต่อสถานะของรัฐ

15) หัวหน้าคณะควรเป็นพลเรือน เพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ของการเจรจาที่ผูกติดอยู่กับรัฐทหารมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 (หากจะเป็นทหาร ขอทหารที่มีความรู้ เพราะไม่มีอะไรที่น่ากลัวเท่ากับคู่เจรจาฝ่ายเรา “อ่อนหัดและไม่ประสีประสา” ต่อฝ่ายตรงข้าม!)

16) ไม่มีประเทศไหนเอาองค์กรอย่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาเป็นหัวหน้าคณะเจรจา ในหลายประเทศใช้ผู้แทนพิเศษ (special envoy) ที่อาจเป็นคนที่ไม่มีสถานะทางราชการในระบบ โดยจะต้องเลิกคิดแบบรัฐราชการไทยที่ทุกอย่างต้องใช้ข้าราชการในระบบทำหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สภาความมั่นคงที่มีปัญหาในการทำงานความมั่นคงมาตลอด

17) การเอาผู้บริหาร สมช. มาทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะเจรจา จะยิ่งทำให้ สมช.ติดกับดักงานภาคใต้ แต่ สมช. มีงานอื่นๆ ที่ต้องทำ

18) ปัญหาเอกภาพทางความคิดของคณะผู้เจรจาฝ่ายเราเป็นเรื่องสำคัญ ฝ่ายรัฐไทยมองปัญหาไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ เป็นต้น

19) กอ.รมน. เป็นเพียงองค์กรทางยุทธวิธีที่ควรทำงานในระดับล่าง ไม่ใช่องค์กรที่จะต้องมีบทบาทในการเจรจาทางการเมืองในระดับบน แต่หน้าที่นี้ควรเป็นบทบาทของกองทัพบกผ่านกองทัพภาคที่ 4 การนำเอา กอ.รมน.มาใช้ จะยิ่งทำให้การปรับบทบาทขององค์กรมีปัญหามากขึ้นในอนาคต

20) ถ้าจะเจรจาให้ได้ผล คณะเจรจาของฝ่ายไทยต้องสลัดตัวเองให้หลุดจากการควบคุมทั้งทางการเมืองและทางความคิดของ “กลุ่มอำนาจเดิม” ในภาคใต้ที่มีผลประโยชน์อย่างยาวนานในกระบวนการการเจรจา และมีอิทธิพลอย่างมากต่อปัญหางานความมั่นคงในภาคใต้

และจะต้องไม่ทำให้การแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัด เป็น “เหมืองทอง” อันอุดมสมบูรณ์สำหรับผู้แสวงหาผลประโยชน์ทั้งจากฝ่ายการเมืองและฝ่ายปฏิบัติ!

ที่มา: isranews