จี้ ศอ.บต.สางปัญหา “โคบาลชายแดนใต้” ก่อนลุยเฟส 2
“รมช.ไชยา” ลั่นหากเดินหน้าต่อ “โคบาลชายแดนใต้” ต้องกำกับดูแลคุณภาพสัตว์ตามเงื่อนไขกรมปศุสัตว์เท่านั้น พร้อมจี้ ศอ.บต.แก้ปัญหาเฟสแรกให้จบเป็นที่พอใจของเกษตรกรก่อนลุยเฟส 2
นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่างถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาในโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” โดยเฉพาะ “โคไม่ตรงปก – โคตาย” และการเปลี่ยนตัวโค ว่า จากที่ตนได้ลงพื้นที่และติดตามปัญหาต่อเนื่อง มีบทสรุปอย่างนี้
ในเฟสแรกที่นำร่องไป 3,000 ตัว (ส่งโคให้กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดชายแดนภาคใต้) จะขอดูก่อนว่าแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ หากจะทำโครงการต่อ ตนได้คุยกับอธิบดีกรมปศุสัตว์แล้วว่า ถ้าไม่ทำตามเงื่อนไขที่กรมปศุสัตว์วางไว้ กรมฯจะไม่สนับสนุนโครงการนี้ เพราะไม่เช่นนั้น กรมปศุสัตว์จะเป็นแพะรับบาป
“ทั้งที่จริงๆ เรามีหน้าที่ในการสนับสนุนด้านวิชาการ ด้านความรู้ ดูแลสุขภาพสัตว์ แต่ว่าการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ วันนี้เหมือนกับเราต้องมารับภาระ ทั้งที่ปศุสัตว์ไม่ได้เป็นต้นเรื่อง ฉะนั้นหากไม่ทำตามเรา เราก็ไม่สามารถรับผิดชอบได้ เหตุนี้เงื่อนไขจะต้องเปลี่ยนแปลง การแก้ไขสัญญาหรืออะไรต่างๆ กรมปศุสัตว์ จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งได้คุยกันเบื้องต้นแล้ว” รมช.ไชยา ซึ่งกำกับดูแลกรมปศุสัตว์ ระบุ
ส่วนข้อเสนอการปล่อยเงินให้เกษตรกรเพื่อไปหาซื้อพันธุ์โคเองนั้น (เงินกู้จากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร) นายไชยา บอกว่า เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะเสนอศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ว่าจะต้องให้อิสระกับประชาชนมากขึ้น ต้องโปร่งใสมากขึ้น เพราะคนที่รับผิดชอบคือเกษตรกร รวมถึงโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงวัวอื่นๆ เพราะเราไม่ต้องการให้เป็นภาระของพี่น้องเกษตรกร เนื่องจากคนที่รับภาระคือเกษตรกร
“ฉะนั้นเขาต้องมีอิสระ ต้องมีความมั่นใจมากขึ้นว่า สิ่งที่เขาจะต้องดำเนินการต่อไปจะต้องไม่เป็นภาระของเขา ให้อิสระเขาเลย เงินก็คือเงินเขา ให้อิสระเขาเลย เพียงแต่ว่ากรมปศุสัตว์วางกรอบว่า จะต้องเป็นลักษณะอย่างนี้ๆ นะ” รมช.เกษตรและสหกรณ์ ระบุ พร้อมย้ำว่า กรมปศุสัตว์จะมีบทบาทในเรื่องการกำหนดมาตรฐานเพื่อตรวจสอบควบคุม
และว่า “วันนี้เราทำการบ้านแล้วว่า ถ้าหากจะเดินต่อ จะต้องเอาตามเรา เช่น จะต้องอยู่ในศูนย์กักกันของกรมปศุสัตว์ที่สามารถกำกับดูแลเรื่องของคุณภาพสัตว์ได้ ก่อนจะส่งมอบต้องชั่งน้ำหนักทั้งหน้าฟาร์มและที่ไร่ของเกษตรกร วันนี้พอดูว่า 3,000 ตัวที่เป็นล็อตแรก คุณแก้ไขอย่างไร ชาวบ้านพอใจไหม เพราะบางจังหวัดก็ยังมีปัญหาอยู่ เช่น สตูล ไปส่งมอบก่อนโดยที่เกษตรกรยังไม่ได้รับการคัดเลือกเลย อย่างนี้เป็นต้น”
“ศอ.บต.ต้องไปคุยในส่วนที่ยังไม่ถูกต้อง จะแก้ไขอย่างไร ถ้าหากว่ายังอยู่ในสัญญา อยู่ในเงื่อนไข ก็ต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อเกษตรกร หรือไม่อย่างนั้นถ้าจะเดินต่อ คุณต้องแก้ไขในเฟสแรกให้เป็นที่พอใจว่าประชาชนเขามีความต้องการ และไม่ผิดเงื่อนไข บางพื้นที่ที่อยู่ในเขต ส.ป.ก. อยู่ในเขตป่าไม้ ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้ จะแก้ไขอย่างไร” รมช.เกษตรและสหกรณ์ ระบุ
ที่มา : ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา