เรือดำน้ำไทย “เรียบร้อยโรงเรียนจีน” คำถามถึง “สุทิน” ใครคุมกลาโหม?
การตัดสินใจยอมรับ “เรือดำน้ำเครื่องยนต์จีน” ของกระทรวงกลาโหมไทย ทั้งๆ ที่ผิด TOR อย่างชัดแจ้ง กลายเป็นภาพสะท้อนปัญหาในวงการทหาร วงการค้าอาวุธ รวมถึงบทบาทรัฐมนตรีกลาโหมพลเรือนคนแรกของไทยที่ไม่ได้ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง ชำแหละปัญหาแต่ละข้อ แต่ละประการเอาไว้อย่างถึงกึ๋น
พร้อมชวนบัญญัติศัพท์ใหม่ แนวๆ ภาษาไทยวันละคำ โดยเฉพาะคำว่า “อาวุธสุทิน”
@@ เรือดำน้ำไทยเครื่องจีน: วิบากกรรมราชนาวีไทย!
การจัดซื้อจัดหาเรือดำน้ำของราชนาวีไทย กลายเป็นภาพสะท้อนของ “ความฉาวโฉ่ของอาวุธ” (arms scandal) ครั้งใหญ่ และเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองอย่างมาก
ไม่เพียงมีปัญหาจากความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อเท่านั้น หากแต่ยังมีปัญหาใหญ่ที่เกิดจากการผิดสัญญาของจีน เพราะทางการจีนโดยเงื่อนไขสัญญาไม่สามารถนำเอาเครื่องยนต์เยอรมันมาใช้ในเรือดำน้ำที่กองทัพเรือไทยสั่งต่อได้ อันทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า รัฐบาลไทยโดยกระทรวงกลาโหมจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร
ประเด็นนี้ในอีกด้านถูกจับตาจากเวทีระหว่างประเทศอย่างมากว่า รัฐบาลไทยจะหาทางออกจากปัญหานี้ได้อย่างไร แต่หลายฝ่ายคาดมาก่อนแล้วว่า ในที่สุดกองทัพเรือและกระทรวงกลาโหมไทยจะยอมตามข้อเสนอที่จะเปลี่ยนจาก “เครื่องยนต์เยอรมัน” เป็น “เครื่องยนต์จีน”
แล้วเรื่องก็จบลงอย่างไม่ผิดคาดเท่าใดนัก กระทรวงกลาโหมไทยตัดสินใจยุติปัญหา ด้วยคำตอบสุดท้ายคือ “เรือดำน้ำจีนเครื่องจีน” … อันเป็นการยอมรับสินค้าที่ผิดเงื่อนไขสัญญาใน TOR ได้อย่างง่ายๆ
จนทำให้เกิดคำถามว่า การตัดสินใจของ นายสุทิน คลังแสง ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น จะกลายเป็น “บรรทัดฐานใหม่” ของการจัดซื้อจัดหาจากต่างประเทศของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะการจัดหายุทโธปกรณ์ที่มีมูลค่าสูงในอนาคตหรือไม่
อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปในช่วงต้นเมื่อการจัดตั้งรัฐบาลนั้น หลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการเรือดำน้ำจีน เริ่มมีความหวังว่าโครงการนี้น่าจะต้องยุติลง เพราะไม่เห็นประโยชน์และความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ที่จะเอาเรือดำน้ำจีนเข้ามาประจำการ
อีกทั้งท่าทีของรัฐมนตรีเองก็ดูจะไปในแนวทาง “แลกเรือผิวน้ำ” น่าจะดีกว่า เนื่องจากโอกาสที่จะได้เครื่องยนต์เยอรมันภายใต้เงื่อนไขการเมืองโลกปัจจุบันนั้น เป็นไปไม่ได้เลย!
ต่อมาท่าทีและท่วงทำนองในการสัมภาษณ์เรื่องเรือดำน้ำดูจะเปลี่ยนไปอย่างมาก และสัญญาณของการเปลี่ยนเป็นเรือรบบนผิวน้ำค่อยๆ หายไป ซึ่งตอบได้ทันทีว่า กลุ่มผลประโยชน์ทั้งในและนอกกองทัพเรือที่แสวงประโยชน์กับเรือดำน้ำจีน ไม่มีทางยอมถอยอย่างแน่นอน
จนน่าสนใจที่จะตั้งคำถามในแบบสื่อมวลชนที่แสวงหาข้อมูลให้สังคมว่า ใครคือพ่อค้าอาวุธที่ขายเรือดำน้ำจีนให้แก่ราชนาวีไทย … ใครคือผู้รับสัญญา และการรับสัญญานี้มีการเปลี่ยนแปลงด้านงบประมาณภายในกองทัพเรืออย่างไรหรือไม่
หากมองในภาพรวม เราคงต้องยอมรับถึงสิ่งที่เป็นปัญหาด้านลบในนโยบายการทหารของไทย คือ การมีบทบาทและอิทธิพลของ “กลุ่มพ่อค้าอาวุธ” … ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า พวกเขามีอิทธิพลมากทั้งในทางการเมืองและในกองทัพ โดยพ่อค้าอาวุธเหล่านี้มีความแนบแน่นกับผู้นำทหารระดับสูงเสมอ
ในอีกด้าน จีนเองจำเป็นต้องแสดงบทบาทและกดดันในฐานะ “รัฐผู้ผลิตอาวุธทันสมัย” ที่ต้องยืนยันถึงประสิทธิภาพของอาวุธตน เพราะวันนี้จีนเองเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ ที่ขายอาวุธในตลาดโลก
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ในที่สุดกระทรวงกลาโหมไทยก็ตอบรับ “เรือดำน้ำจีน-เครื่องยนต์จีน” อย่างไม่รีรอ โดยมีคำแก้ต่างจากรัฐมนตรีกลาโหมไทยใน 3 ประการหลัก คือ
- การตอบรับนี้เป็นการดำเนินการตามความต้องการของกองทัพเรือ
- เป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ
- เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ข้อแก้ต่างนี้ทำให้เกิดคำถามในทางยุทธศาสตร์บางประการว่า
1) คำตอบดังกล่าวเท่ากับส่งสัญญาณว่า กระทรวงกลาโหมโดยนายสุทิน ไม่มียุทธศาสตร์อะไร จึงปล่อยให้การตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญเป็นเพียงการ “ตามน้ำ” ไปกับความต้องการอาวุธของฝ่ายทหาร โดยรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงไม่มีความสามารถเพียงพอที่ทำหน้าที่วินิจฉัยปัญหาได้จริง
การ “ลอยตามน้ำ” ไปกับกลุ่มอิทธิพลที่มีผลประโยชน์ทั้งในและนอกกองทัพเรือ จึงกลายเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุด ดังจะเห็นถึงท่าทีในแบบ “ทหารเอาอย่างไร สุทินเอาอย่างนั้น” ไม่ใช่ “กระทรวงกลาโหมเอาอย่างไร กองทัพเรือเอาอย่างนั้น”
2) คำตอบว่า การยืนยันที่จะซื้อเรือดำน้ำจีนที่มีเงื่อนไขผิดสัญญาเรื่องเครื่องยนต์ เป็นผลประโยชน์ของประเทศไทยนั้น ดูจะเป็นการตอบคำถามในแบบโฆษณาชวนเชื่อเป็นอย่างยิ่ง และการนำเสนอง่ายๆ ว่า ซื้อแล้วจะเป็นประโยชน์แก่ไทย ดูจะเป็นเรื่องที่รับฟังได้ยาก แต่น่าสนใจว่า การซื้อนี้เป็นประโยชน์แก่ใคร …
ปัญหาเช่นนี้คงต้องเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการการทหารของรัฐสภา เร่งตรวจสอบ และเปิดเผยข้อมูลให้สังคมได้รับรู้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย เป็นหนึ่งใน “ความฉาวโฉ่เรื่องอาวุธ” ทั้งในและนอกประเทศไทย เพราะการผิดเงื่อนไขเครื่องยนต์เรือดำน้ำ ทำให้บริษัทอาวุธในเวทีโลกเฝ้าดูถึงการตัดสินใจของรัฐบาลว่า จะเลือกเดินทางใด เพื่อที่จะแสดงถึงการเป็น “ผู้ซื้อที่ฉลาด” (smart buyer) ของไทยในตลาดอาวุธระหว่างประเทศ
4) แน่นอนว่า การผิดสัญญาเรื่องเครื่องยนต์นั้น ไทยไม่อาจใช้วิธียกเลิกสัญญากับจีนได้ ซึ่งจะเป็นการ “หักหน้าจีน” อย่างชัดเจน และอาจไม่เป็นทางเลือกที่ดีในความสัมพันธ์ไทย-จีน ซึ่งคงไม่มีรัฐบาลไทยชุดใดกล้าที่จะทำเช่นนั้นด้วย แต่การหาทางออก ต้องมิใช่ “การยอมศิโรราบ” กับจีนทั้งหมด เพราะไทยไม่ใช่ “รัฐผู้พึ่งพา” กับจีน
การยอมรับเครื่องยนต์จีนตามที่จีนเสนอมาอย่างง่ายๆ ทั้งที่เป็นการผิดเงื่อนไขสำคัญนั้น เท่ากับเป็นคำตอบในตัวเองถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐมนตรีกลาโหมไทย และเป็นการยอมจำนนต่อจีนของราชนาวีไทย
5) การกระทำเช่นนี้ในอีกมุมหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามถึง การมี “ประเด็นซ่อนเร้น” เนื่องจากการยอมรับเงื่อนไขของจีนครั้งนี้ ถูกมองว่ามีการแลกสิ่งต่างตอบแทนหรือไม่ โดยเฉพาะคำกล่าวที่ว่า มีการแลกเปลี่ยนทางการค้า และได้นำมาเป็นประเด็นประกอบการเจรจาเรื่องเรือดำน้ำ ซึ่งกระทรวงกลาโหมจะต้องแถลงให้ชัดเจนว่า มีการแลกเปลี่ยนต่างตอบแทนในเรื่องนี้อย่างไรหรือไม่ และการแลกเปลี่ยนทางการค้านี้คืออะไร
ข้อสรุปที่ชัดเจนเรื่องเรือดำน้ำไทยวันนี้คือ “เรียบร้อยโรงเรียนจีน” ภายใต้การกำกับของ “ครูสุทิน” ไปแล้ว
ดังนั้น จึงอยากขอจบเรื่องนี้ด้วยภาษาไทยวันละคำ …
ต่อไปเวลาเราซื้อของต่ำกว่าคุณภาพที่ตกลงกันไว้ในสัญญาแล้ว เราจะเรียกของสิ่งนั้นว่า ”สุทิน” เช่น เวลาบอก “อย่าสุทิน” แปลว่า “อย่ารับของคุณภาพต่ำกว่าที่ตกลงไว้” หรือ “อาวุธสุทิน” แปลว่า “อาวุธคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์” เป็นต้น
สำหรับมุมมองในทฤษฎีเปลี่ยนผ่านวิทยาของวิชารัฐศาสตร์แล้ว คุณสุทินเป็นเพียงตัวแบบด้านลบของความเป็น “รัฐมนตรีกลาโหมพลเรือน” ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเท่านั้นเอง
แต่ว่าที่จริง สังคมการเมืองไทยเองก็ไม่ได้คาดหวังอะไรกับเขาตั้งแต่ตั้งรัฐบาลแล้ว เพราะเชื่อว่าเขาทำอะไรในกลาโหมไม่ได้ !
ที่มา: isranews