ข่าวสถานการณ์ชายแดนใต้ข่าวในประเทศ

คดีใหญ่ภาคใต้ : ชี้มูล ‘นายกอบจ.ปัตตานี’ มีส่วนได้เสียเช่าเหมารถบัสปรับอากาศ 2 ชั้น

“…ความเป็นเจ้าของของบริษัท เซาท์สยาม ไอ.เอ็ม.ที คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ของนายเศรษฐ์ อัลยุฟรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปของชาวบ้าน สมาชิก และเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี เพียงแต่ไม่ปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่านายเศรษฐ์ อัลยุฟรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นเจ้าของเท่านั้น…”

นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปัตตานี เป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รายล่าสุด

ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณี มีส่วนได้เสียในการดำเนินการโครงการเช่าเหมารถบัสปรับอากาศ 2 ชั้น ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งคดีใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้

โดยเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2567 ที่ โรงแรมหรรษา เจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 9 ได้แถลงผลงานชี้มูลความผิดคดีต่างๆ ประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งมีคดีกล่าวหา นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายก อบจ. ปัตตานี กรณี มีส่วนได้เสียในการดำเนินการโครงการเช่าเหมารถบัสปรับอากาศ 2 ชั้น ร่วมอยู่ด้วย

สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 9 ระบุรายละเอียดดังนี้

คดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 5 ราย ได้แก่

  1. นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1
  2. นายแวยะปา สะดี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2
  3. นายรอแม ดอเลาะ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3
  4. บริษัท เซาท์สยาม ไอ.เอ็ม.ที. คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4
  5. นายนิพนธ์ เลาะนะ กรรมการบริษัท เซาท์สยาม ไอ.เอ็ม.ที. คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5

ระบุข้อกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณี มีส่วนได้เสียในการดำเนินการโครงการเช่าเหมารถบัสปรับอากาศ 2 ชั้น (คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติรับเรื่องไว้ดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้น ในการประชุมเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 และได้มีมติมอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้น ในการประชุมครั้งที่ 93/2566 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566)

พฤติการณ์ในการกระทำความผิด

ในช่วงปี พ.ศ. 2548 – 2556 นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีรถบัสปรับอากาศ 2 ชั้น ที่มีชื่อนายเศรษฐ์ อัลยุฟรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นผู้ครอบครองและถือกรรมสิทธิ์ จำนวน 2 คัน ซึ่งรถทั้ง 2 คัน ดังกล่าวข้างต้น นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้ใช้ดำเนินการในบริษัท เซาท์สยาม ไอ.เอ็ม.ที. คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า เซาท์สยามทราเวล และใช้ในการเป็นคู่สัญญากับองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี โดยความเป็นเจ้าของของบริษัท เซาท์สยาม ไอ.เอ็ม.ที คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ของนายเศรษฐ์ อัลยุฟรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปของชาวบ้าน สมาชิก และเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี

เพียงแต่ไม่ปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่านายเศรษฐ์ อัลยุฟรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นเจ้าของเท่านั้น

นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้อนุมัติเลือกเลือกบริษัท เซาท์สยาม ไอ.เอ็ม.ที คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 เป็นคู่สัญญากับองค์การบริหารส่วนจังหวัด และอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้ กับบริษัท เซาท์สยาม ไอ.เอ็ม.ที คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 เนื่องจากบริษัท เซาท์สยาม ไอ.เอ็ม.ที คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 เป็นของนายเศรษฐ์ อัลยุฟรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 แต่ใช้ชื่อของนายนิพนธ์ เลาะนะ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 เป็นกรรมการแทน

ในการจัดจ้างโครงการเช่าเหมารถบัสปรับอากาศ 2 ชั้น ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ปรากฎว่ามีบริษัท เซาท์สยาม ไอ.เอ็ม.ที คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 เป็นคู่สัญญาเท่านั้น ยกเว้นโครงการที่ 1 และ 2 ซึ่งมีชื่อนายรอแม ดอเลาะ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และนายแวยะปา สะดี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นคู่สัญญา แต่โครงการที่ 1 และ 2 ก็ได้ดำเนินการในนามของบริษัท เซาท์สยาม ไอ.เอ็ม.ที คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ราคาจ้างเหมารถบัสปรับอากาศ 2 ชั้น ระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี กับบริษัท เซาท์สยาม ไอ.เอ็ม.ที คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 เมื่อเทียบราคากับการจ้างเหมารถบัสปรับอากาศ 2 ชั้น ในลักษณะเดียวกันของหน่วยงานอื่นๆ พบว่านายเศรษฐ์ อัลยุฟรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้อนุมัติให้จัดจ้างและอนุมัติให้เบิกจ่ายกับบริษัท เซาท์สยาม ไอ.เอ็ม.ที คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 บางรายการ มีราคาที่สูงกว่าราคาเช่าเหมารถบัสของหน่วยงานอื่นๆ

ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวน

ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนแสดงให้เห็นว่า การเช่าเหมารถบัสปรับอากาศ 2 ชั้นขององค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ในช่วงปี 2548 ถึง 2556 มีผู้รับจ้างแค่เพียงรายเดียวคือ บริษัท เซาท์สยาม ไอ.เอ็ม.ที คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ประกอบกับข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าบริษัท เซาท์สยาม ไอ.เอ็ม.ที คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 เป็นของนายเศรษฐ์ อัลยุฟรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และราคาในการจัดจ้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานีมีราคาสูงกว่าการจัดจ้างของหน่วยงานอื่นในช่วงเดียวกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการต่อรองราคาแล้ว แต่ไม่สามารถทำได้ และยังเคยเสนอเลือกผู้รับจ้างรายอื่นแต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากนายเศรษฐ์ อัลยุฟรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ไม่ยินยอม อันแสดงให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้ประโยชน์จากการที่บริษัท เซาท์สยาม ไอ.เอ็ม.ที คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ของตนเองเข้าเป็นคู่สัญญา กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ในฐานะที่ตนทำหน้าที่เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี

ดังนั้น ข้อเท็จจริงในทางไต่สวนที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดจึงรับฟังได้ว่า นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี ผู้ถูกกล่าวหา ที่ 1 มีส่วนได้เสียในการดำเนินการโครงการเช่าเหมารถบัสปรับอากาศ 2 ชั้น โดยร่วมกระทำความผิด กับนายแวยะปา สะดี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายรอแม ดอเลาะ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 บริษัท เซาท์สยาม ไอ.เอ็ม.ที.คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และนายนิพนธ์ เลาะนะ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 รวมทั้งหมด 32 โครงการ ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2548 – 2556

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาในการประชุม ครั้งที่ 35/2567 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้น โดยมีมติในกรณีกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาแต่ละรายดังนี้

การกระทำของนายเศรษฐ์ อัลยุฟรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็น เจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น ฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 152 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิดฐานเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่องค์การบริหาร ส่วนจังหวัดนั้นเป็นคู่สัญญาหรือในกิจการที่กระทำให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้นหรือที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้นจะกระทำ และฐานเป็นการละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ หรือปฏิบัติการไม่ชอบ ด้วยอำนาจหน้าที่หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 44/3 (3) และมาตรา 79

การกระทำของบริษัท เซาท์สยาม ไอ.เอ็ม.ที คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจ ในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 91

สำหรับนายแวยะปา สะดี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และนายนิพนธ์ เลาะนะ กรรมการบริษัท เซาท์สยาม ไอ.เอ็ม.ที. คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ได้ถึงแก่ความตายแล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจดำเนินการไต่สวนเพื่อดำเนินคดีอาญา หรือดำเนินการทางวินัยต่อไปได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 57 จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ

โดยให้กันนายรอแม ดอเลาะ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดีตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการกันบุคคล ไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี พ.ศ. 2561

ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับนายเศรษฐ์ อัลยุฟรีและบริษัท เซาท์สยาม ไอ.เอ็ม.ที คอร์ปอเรชั่น จำกัด และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐานและ คำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัยกับนายเศรษฐ์ อัลยุฟรี ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91(1) และ (2) และมาตรา 98 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 98 วรรคสี่ แล้วแต่กรณีต่อไป และให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทราบด้วย

ทั้งนี้ ให้แจ้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายต่อไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 82 วรรคสอง และให้แจ้งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำของบริษัท เซาท์สยาม ไอ.เอ็ม.ที คอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้กรมบัญชีกลางเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจให้เป็นผู้มีลักษณะเป็นผู้ทิ้งงาน ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

สำหรับ นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นั้น ก่อนหน้านี้ ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา เคยรายงานว่า ถูก คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดีกล่าวหาว่า นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปัตตานี นำรถของทางราชการไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว และนำรถไปจอดไว้ในโรงจอดรถบัสของ บริษัท เซาท์สยามไอเอ็มที คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่ง นายเศรษฐ์ เป็นเจ้าของบริษัท และเป็นเจ้าของสถานที่ ทั้งยังได้จัดแรลลี่ท่องเที่ยวไปยังจังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือ เหตุเกิดเมื่อราวๆ ปี 2560 โดยไม่เกี่ยวกับงานราชการ ซึ่งนอกจากเรื่องการใช้รถของทางราชการแล้ว ในส่วนของ ป.ป.ช.จังหวัดปัตตานี ยังได้สอบสวน นายกเศรษฐ์ อีกหลายกรณี มีการติดต่อเพื่อขอสัมภาษณ์ นายเศรษฐ์ เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงอีกด้านแล้ว แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้

ที่มา: isranews