ข่าวสารเทคโนโลยี

NARIT เผยภาพ “ดาวเคราะห์น้อย” ที่อาจเป็นอันตรายต่อโลก ขณะเคลื่อนที่เฉียดโลก

NARIT จับภาพ “ดาวเคราะห์น้อย 2011 UL21” ในกลุ่มดาวเคราะห์น้อยที่อาจเป็นอันตรายต่อโลก ขณะเคลื่อนที่เฉียดโลก เผยมีโอกาสน้อยที่จะทำอันตราย

วันที่ 28 มิถุนายน 2567 มีรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์คลิปวิดีโอ พร้อมระบุข้อความว่า NARIT จับภาพดาวเคราะห์น้อย 2011 UL21 ขณะเคลื่อนที่เฉียดโลก ช่วงบ่าย 27 มิ.ย. 67 ที่ผ่านมา

ภาพถ่ายดาวเคราะห์น้อย “2011 UL21” ขณะเฉียดเข้าใกล้โลกในระยะ 6 ล้านกิโลเมตร จากกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติของ NARIT ณ หอดูดาวสปริงบรู๊ค ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 เวลา 15:22 น. ตามเวลาประเทศไทย

ดาวเคราะห์น้อย 2011 UL21 หรือที่รู้จักกันในชื่อ 415029 เป็นสมาชิกของกลุ่มดาวเคราะห์น้อยอะพอลโล (Apollo group) ซึ่งมีวงโคจรตัดผ่านทางการโคจรของโลก ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ระหว่าง 1.7 ถึง 3.9 กิโลเมตร หรือขนาดใกล้เคียงกับภูเขาเอเวอเรสต์ จึงถูกจัดให้เป็นดาวเคราะห์น้อยประเภท PHA (Potentially Hazardous Asteroid) หรือดาวเคราะห์น้อยที่อาจเป็นอันตรายต่อโลก

อย่างไรก็ดี แม้ดาวเคราะห์น้อย 2011 UL21 จะถูกจัดให้เป็นดาวเคราะห์น้อยประเภท PHA แต่ในช่วงที่ดาวเคราะห์น้อยเฉียดเข้าใกล้โลกมากที่สุด ก็มีระยะห่างจากโลกของเรามากถึง 6 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณ 15 เท่าของระยะห่างจากโลกถึงดวงจันทร์ จึงมีโอกาสน้อยมากที่ดาวเคราะห์น้อยจะทำอันตรายต่อโลกของเรา

ภาพเคลื่อนไหวได้แสดงถึงตำแหน่งของดาวเคาะห์น้อยดังกล่าว ขณะกำลังเคลื่อนที่ตัดกับดาวฤกษ์ที่เป็นฉากหลัง ซึ่งเกิดจากการรวมภาพนิ่งจำนวนหลายสิบภาพเข้าด้วยกัน เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยเคลื่อนที่ผ่านท้องฟ้าด้วยความเร็วสูงมาก จึงปรากฏเป็นเส้นสีขาวสั้นในแต่ละภาพจากการเปิดรับแสงเป็นเวลา 8 วินาที