9 นักกิจกรรมคดีชุดมลายูเข้ารายงานตัวอัยการ พร้อมยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม
มวลชนแห่ให้กำลังใจ 9 นักกิจกรรมที่จัดกิจกรรมชุดมลายูรายอที่สายบุรี ปี 2565 เข้ารายงานตัวต่ออัยการจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยทนายความ และยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ชี้คดีนี้เป็นการกลั่นแกล้ง ไม่เหมือนคดีตากใบที่มีคนตายแต่ไม่นำผู้กระทำผิดมาลงโทษ
วันนี้ (25 ก.ค.) ที่สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี นักกิจกรรมทั้ง 9 คน รัฐดำเนินคดี 2 ข้อหา คือยุยงปลุกปั่นและข้อหาอั้งยี่ซ่องโจร มาตรา 116 ในการจัดกิจกรรมชุมนุมชุดมลายู (Melayu Raya 2022) ณ หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ซึ่งจัดขึ้นในปี 2565 ได้มารายงานตัวต่ออัยการ พร้อมด้วย นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเต๊ะ ทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายมุสลิม และมีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งมาให้กำลังใจ โดยนักกิจกรรมทั้ง 9 คน ประกอบด้วย 1.นายมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ 2.นายฮาซัน ยามาดีบุ 3.นายสอบูรี สาอิ 4.นายมาหมูด บือซา 5.นายมะยุ เจ๊ะนะ 6.นายอานัส ดือเระ 7.นายซัมบรี ตาลี 8.นายซูกิฟลี กาแม และ 9.นายซาลาฮูดดีน กาดำ
นายมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ หนึ่งในนักกิจกรรม กล่าวว่า เราพยายามที่จะพูดคุยกับหลายหน่วยงาน รวมทั้งกรรมมาธิการที่สภา จะพูดคุยกันตลอดในเมื่อไม่มีการตอบรับจาก กอ.รมน.ภาค 4 เราจึงมายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง เพราะมองว่าคดีนี้มันเป็นการกลั่นแกล้ง มันไม่ใช่คดีความผิดที่ทำให้คนตายอย่างคดีตากใบ ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากแต่ไม่มีการนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ขอยืนยันว่าไม่มีเจตนาที่จะกระทำตามที่ถูกกล่าวหา
สำหรับการชุมนุมของเรา เราชุมนุมอย่างสงบ และสิ่งที่เราทำเราพยายามที่จะรักษาความเป็นตัวตนของเรา เราไม่ได้รวมตัวกันเพื่อจะแบ่งแยกดินแดน แต่เรามาเพื่อรักษาอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของเรา และเพื่อเปิดพื้นที่ทางการเมืองด้วย มันเป็นการช่วยรัฐด้วยที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เมื่อการสร้างสถานการณ์มีความพยายามสร้างเงื่อนไขใหม่ เรามีความกังวลในอนาคตความรุนแรงอาจจะกลับคืนมาใหม่ ไม่ได้ทำให้พื้นที่นี้ดีขึ้น
ด้าน นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเต๊ะ ทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายมุสลิม กล่าวว่า วันนี้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนมายื่นให้อัยการจังหวัดปัตตานี แสดงว่าขั้นตอนของตำรวจเสร็จแล้ว ผู้ต้องหาทั้ง 9 คน มารายงานตัว และจะยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ว่าการจัดกิจกรรมที่ผ่านมาไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ซึ่งให้การปฏิเสธในชั้นพนักงานสอบสวนไปแล้ว เนื้อหากล่าวอ้างแสดงให้เห็นว่าไม่มีการเจตนาจะพูดอย่างนั้น แต่อาจมีการตีความไปได้ ซึ่งจุดประสงค์การจัดการเพื่อแสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และไม่อยากให้กรณีนี้เป็นเงื่อนไขต่อการสร้างสันติภาพในพื้นที่ด้วย
เรามั่นใจในพยานหลักฐานที่ยื่นให้พนักงานสอบสวน เช่น นักวิชาการในพื้นที่ความขัดแย้ง เนื้อหาและข้อความที่ถูกกล่าวหา ได้ยืนยันไปหมดแล้ว เชื่อว่าอัยการจะพิจารณาว่ามีความเห็นที่จะให้ความเมตตากับทั้ง 9 คน และยืนยันว่าคำพูดไม่ได้ยุยงปลุกปั่นหรือก่อความวุ่นวาย ซึ่งในปีนั้นมีคนมาร่วมงานเยอะเพราะก่อนหน้านั้นมีสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่ได้มีการจัดมาหลายปี จึงมีการรวมตัวกันจำนวนมากทำให้ทางผู้จัดไม่สามารถควบคุมได้หมด ยอมรับว่าบางเรื่องหมิ่นเหม่จริงและพยายามแก้ไขหลังเห็นว่ามีปัญหา
อีกทั้งทางผู้จัดได้เข้าพบกับฝ่ายความมั่นคงเพื่อชี้แจงแล้ว ยอมรับว่ากิจกรรมที่จัดเป็นประโยชน์กับสาธารณะมากกว่า จึงอยากให้อัยการมองว่าการดำเนินคดีแบบนี้มีประโยชน์กับสาธารณะหรือไม่ จึงฝากพนักงานอัยการให้พิจารณาให้ความเป็นธรรม ซึ่งจะยื่นหนังสือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดด้วย ขณะที่สหประชาชาติหลายองค์กรส่งหนังสือมาที่อัยการจังหวัดปัตตานีด้วยความเป็นห่วงเช่นกัน
credit : mgronline