ข่าวต่างประเทศ

UN เสนอไทยต้องมีจุดยืนชัดเจน ไม่ให้กองทัพพม่าซื้ออาวุธผ่านระบบธนาคารไทย

13 ก.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊ก รังสิมันต์ โรม ถ่ายทอดสดออนไลน์เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา อาคารรัฐสภา แยกเกียกกาย กรุงเทพฯ  ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฎิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร โดยมี รังสิมันต์ โรม เป็นประธาน ในวาระสำคัญกรณีรายงานของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ด้านสิทธิมนุษยชนเมียนมา ซึ่งนำมาสู่ข้อสังเกตว่า ในช่วงปี 2565-2566 ระบบธนาคารไทยกำลังถูกใช้เป็นทางผ่าน เพื่อสนับสนุนการสังหารหมู่ และสงครามในประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ กมธ.ความมั่นคงฯ เชิญ ทอม แอนดรูวส์ ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนเมียนมา จากองค์การสหประชาชาติ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และธนาคารพาณิชย์ที่เกี่ยวข้อง เข้าชี้แจง เพื่อหามาตรการป้องกันและทางออกร่วมกัน

เบื้องต้น ทอม แอนดรูวส์ ได้สรุปเนื้อหารายงานว่า สิ่งที่น่ากังวลคือยอดทำธุรกรรมโดยรัฐบาลทหารเมียนมา ที่มีการทำผ่าน 5 สถาบันทางการเงินของไทย เมื่อปีงบประมาณที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจาก 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปี 2565 เป็น 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปี 2566 หรือ 2 เท่า โดยการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้น อาจถูกใช้จ่ายทั้งในการสนับสนุนซื้อเฮลิคอปเตอร์จู่โจม เครื่องบินขับไล่ และเครื่องบินขนาดเล็ก ซึ่งยุทโธปกรณ์เหล่านี้ถูกนำไปใช้โจมตีเป้าหมายของพลเรือน 

ทั้งนี้ ข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดย ‘มูลนิธิเสมสิกขาลัย’ ซึ่งทำงานรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ระบุด้วยว่า นับตั้งแต่การทำรัฐประหารปี 1 ก.พ. 2564 จนถึง 1 ม.ค. 2567 กองทัพพม่าใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศแบบไม่เลือกเป้าหมาย จำนวนรวมกว่า 1,717 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิต 940 คน และได้รับบาดเจ็บ 900 คน นอกจากนี้ การโจมตีทางอากาศบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ประชาชนชาวพม่าและชาติพันธุ์ต้องอพยพหนีภัยเข้ามาตามตะเข็บชายแดนอีกด้วย

ผู้รายงานพิเศษของ UN กล่าวยืนยันว่ายังไม่พบหลักฐานที่สามารถชี้ชัดได้ว่ารัฐบาลไทยสนับสนุน จุดมุ่งหมาย หรือมีส่วนร่วมในการทำธุรกรรมเหล่านี้โดยกองทัพเมียนมา อย่างไรก็ตาม เขาเข้าใจว่าธนาคารในประเทศไทยต่างมีการรับรู้ว่าถึงลักษณะการทำธุรกรรมที่พวกเขาอำนวยความสะดวก รวมทั้งข้อเท็จจริงที่ว่าการอำนวยความสะดวกที่ว่า เป็นการอำนวยความสะดวกให้กระทรวงกลาโหมของรัฐบาลทหารพม่าในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่จะได้รับผลประโยชน์จากการทำธุรกรรมครั้งนี้

แอนดรูวส์ ระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาอาจใช้มาตรการที่ซับซ้อน เพื่อจะหลบเลี่ยงการตรวจสอบในเรื่องนี้ เช่น การตั้งบริษัทนายหน้าขึ้นมาเพื่อประสานงานกับธนาคาร เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาทราบดีว่าเขาอยู่ในลิสต์ของ FATF (คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน) เขาคิดว่าธนาคารในประเทศไทยอาจไม่ได้รับทราบ หรือตระหนักเกี่ยวกับลักษณะของการทำธุรกรรมนี้ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง แต่สิ่งที่สำคัญคือเราจะทำอะไรได้ และอนาคตจะทำอะไรเพิ่มขึ้นอีกได้

ที่มา : prachatai.com