ข่าวต่างประเทศ

ความขัดแย้งอิสราเอล-อิหร่าน รัสเซียและจีนยืนอยู่จุดไหน ?

กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านกล่าวว่าการโจมตีเมื่อต้นเดือน ต.ค. ดังกล่าวเป็นการตอบโต้การสังหารผู้นำของกลุ่มติดอาวุธ 2 กลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ได้แก่ กลุ่มฮามาสในกาซาและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน โดยกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้ยิงจรวดข้ามพรมแดนตอนเหนือของอิสราเอลนับตั้งแต่ฮามาสโจมตีอิสราเอลจากฉนวนกาซาเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2023

ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น กำลังสร้างแรงกดดันต่อความสัมพันธ์ของชาติต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงระหว่างชาติมหาอำนาจด้วยกัน

ขณะที่สหรัฐอเมริกาประกาศสนับสนุนอิสราเอล แต่สำหรับจีนกับรัสเซียแล้ว เดิมพันของพวกเขาคืออะไร และจะตอบสนองอย่างไรต่อกรณีนี้ ?

Trails of light in sky above Ashkelon, Israel, as air defences operate against Iranian missiles, 1 October 2024

รัสเซียและอิหร่านไม่ได้เป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการ แต่ความสัมพันธ์ของพวกเขาลึกซึ้งมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และทั้งสองประเทศกำลังอยู่ในขั้นตอนการสรุปข้อตกลง “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์”

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน พบกับมัสอูด เปเซชกียาน ประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่านเมื่อ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา ทั้งคู่ยังพูดถึงจุดยืนที่ใกล้ชิดของพวกเขาต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ของโลก

อิหร่านเป็นพันธมิตรกับรัสเซียอย่างแข็งขันมากในกรณียูเครน โดยทางสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรกล่าวว่า รัฐบาลเตหะรานจัดหาขีปนาวุธนำวิถีและโดรนโจมตีหลายร้อยลำให้กับมอสโก อย่างไรก็ตาม แม้ทางอิหร่านจะออกมาปฏิเสธอย่างเป็นทางการว่าไม่ได้จัดส่งขีปนาวุธดังกล่าวให้ก็ตาม แต่สมาชิกสภาผู้แทน (สส.) ของอิหร่านได้ออกมากล่าวว่าอาวุธต่าง ๆ ถูกส่งออกไปเพื่อแลกกับการนำเข้าอาหารมายังอิหร่าน

สำหรับรัสเซียแล้ว ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังช่วยเบี่ยงเบนความสนใจและทรัพยากรของชาติตะวันตกออกจากยูเครน ซึ่งกองกำลังของรัสเซียได้รุกคืบในแนวหน้าเมื่อช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ทางเครมลินจะยังคงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการโจมตีของอิสราเอลต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งในอิหร่าน เนื่องจากทางรัสเซียก็กำลังถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติอย่างหนัก ทำให้เส้นทางการส่งขายน้ำมันมีอยู่จำกัด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเส้นทางจากอินเดียผ่านไปอิหร่าน

ทางเตหะรานก็สนับสนุนกองกำลังตัวแทนหลายกลุ่มในตะวันออกกลาง รวมถึงกลุ่มติดอาวุธอิซบอเลาะห์ในเลบานอน และกลุ่มฮามาสในกาซา ดูเหมือนว่ามอสโกจะสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับฮามาสมากขึ้น โดยพบว่าคณะผู้นำสูงสุดของกลุ่มดังกล่าว ได้เดินทางมาเยือนมอสโกเมื่อต้นปีที่ผ่ามา

อย่างไรก็ดี แม้รัสเซียต้องการอิหร่านมากกว่าต้องการอิสราเอล แต่ก็พยายามรักษาความสัมพันธ์กับทั้ง 2 ประเทศไว้

ส่วนอิสราเอลนั้น แม้จะวิพากษ์วิจารณ์สงครามของรัสเซียในยูเครน รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับอิหร่าน แต่ก็ยังปฏิเสธจะส่งอาวุธให้กับยูเครนจนถึงตอนนี้ แม้ว่ามีการร้องขอมาก็ตาม

ดังนั้น รัสเซียอาจกำลังพิจารณาว่ามีความเป็นไปได้ที่อิสราเอลจะเริ่มส่งอาวุธให้กับยูเครน หากประเทศของตนเข้าข้างอิหร่านอย่างหนักแน่น

ผลประโยชน์ของรัสเซียและอิหร่านยังมีความขัดแย้งกันในคอเคซัสใต้ ซึ่งต่อมากลายเป็นศูนย์กลางการค้าและพลังงานที่สำคัญของรัสเซีย

อาเซอร์ไบจานซึ่งเป็นประเทศที่ร่ำรวยและมีประชากรมากที่สุดในภูมิภาค มีพรมแดนติดกับทั้งรัสเซียและอิหร่าน ได้ตกลงจะพัฒนาระเบียงการขนส่งระหว่างเหนือ-ใต้ เพื่อปรับปรุงถนน ทางรถไฟ และการเดินเรือระหว่างสองประเทศ

อย่างไรก็ตาม อาเซอร์ไบจานยังมีความสัมพันธ์ทางทหารที่ใกล้ชิดกับอิสราเอลซึ่งจัดหาโดรนและอาวุธขั้นสูงอื่น ๆ ให้กับประเทศมาอย่างยาวนาน โดยในเดือน ก.ย. 2023 ทางอาเซอร์ไบจานยึดคืนพื้นที่นากอร์โน-คาราบัคกลับคืนมา และจากข้อมูลการติดตามเที่ยวบินที่วิเคราะห์โดยสำนักข่าวเอพี แสดงให้เห็นว่าการขนส่งอาวุธจากอิสราเอลเพิ่มสูงขึ้นมาก ก่อนปฏิบัติการดังกล่าวจะเกิดขึ้น

ในอดีต อิหร่านยังเคยกล่าวหาอาเซอร์ไบจานว่าปล่อยให้อิสราเอลใช้สิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารเพื่อสอดแนมอิหร่าน ซึ่งทางอาเซอร์ไบจานปฏิเสธ

สำหรับรัสเซียแล้ว อาจหมายถึงความสัมพันธ์นี้ต้องเดินอย่างระมัดระวัง หากการโจมตีอีกครั้งของอิสราเอลไปยังอิหร่าน สร้างความกดดันให้กับความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับอาเซอร์ไบจาน

แต่ในความขัดแย้งนี้ ก็ไม่ได้ต่างจากเหตุขัดแย้งในที่อื่น ๆ ซึ่งรัสเซียจะรับบทเดินตามประเทศจีนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมอสโกพึ่งพาจีนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี การเมือง หรือยุทธศาสตร์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับอาวุธของตน ดังนั้น หากจีนแสดงความกังวล เราก็เชื่อได้ว่ารัสเซียจะรับฟัง

จีน: สนับสนุนอิหร่านโดยไม่ถูกลากเข้าไปในความขัดแย้ง

จีนกับอิหร่านมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมานาน ตั้งแต่หุ้นส่วนทางการทูตไปจนถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ คาดว่าจุดยืนของจีนจะไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมากหลังจากอิสราเอลโจมตีอิหร่าน และปักกิ่งมีแนวโน้มใช้วาทศิลป์สนับสนุนอิหร่านต่อไป โดยรักษาระยะห่างเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนเองถูกลากเข้าสู่ความขัดแย้งในวงกว้าง

เมื่อถูกขอให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการโจมตีอิสราเอลด้วยขีปนาวุธของอิหร่านซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ต.ค. โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนไม่ได้กล่าวถึงอิหร่านแม้แต่น้อย แต่บอกเพียงว่าปักกิ่งคัดค้าน “การละเมิดอำนาจอธิปไตยของเลบานอน” โดยอ้างถึงการรุกรานเลบานอนของอิสราเอล ซึ่งเธออ้างว่าฉนวนกาซาเป็น “สาเหตุของความวุ่นวายในตะวันออกกลาง”

แต่การเผชิญหน้าระหว่างอิสราเอลและอิหร่านจะกระตุ้นให้จีนแสดงความเห็นที่รุนแรงขึ้นหรือไม่

เราพบว่าจีนมีการลงทุนจำนวนมากในอิสราเอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี ซึ่งจีนยังคงรักษาการลงทุนต่าง ๆ เหล่านี้ไว้ท่ามกลางความขัดแย้งที่กำลังดำเนินไป

ดังนั้น จีนอาจต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการทำให้อิสราเอลรู้สึกเป็นศัตรูในฐานะพันธมิตรทางเศรษฐกิจ ด้วยการปรับตัวให้สอดคล้องเข้ากับเตหะรานอย่างเต็มที่

ในการตอบโต้รอบนี้ อิสราเอลไม่ได้โจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมันของอิหร่าน แต่ยังไม่สามารถตัดความเป็นไปได้ที่จะเกิดการโจมตีโรงงานเหล่านี้ในอนาคต

ส่วนจีนเองก็พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบเป็นอย่างมาก และ 90% ของการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านก็ถูกส่งไปยังจีน จากข้อมูลของบริษัททางการเงิน เอสแอนด์พีโกลบอล

ดังนั้น หากการตอบโต้ของอิสราเอลสร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมันที่กระทบการส่งออก ปักกิ่งน่าจะออกมาพูดอะไรบางอย่างเพื่อประณามการกระทำของอิสราเอล

จีนยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ซื้อน้ำมันจากอิหร่าน แม้จะมีการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ นอกจากนี้จีนยังเป็นตัวกลางในข้อตกลงฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอิหร่านและซาอุดิอาระเบียในปี 2023

สื่อต่าง ๆ ยังรายงานและอ้างว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ แนะนำให้วอชิงตันขอให้จีนใช้อิทธิพลที่มีเหนือเตหะรานด้วย ยกตัวอย่างเช่น เพื่อการควบคุมกลุ่มกบฏฮูติในเยเมนที่มีอิหร่านหนุนหลังอยู่ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่โจมตีการขนส่งในทะเลแดงมาจนถึงตอนนี้

แม้อาจมีคำขอเพิ่มเติมจากวอชิงตันเช่นนั้น แต่เตหะรานก็ไม่ได้ตอบสนองต่อคำขอของปักกิ่ง และจีนไม่น่ารับฟังคำขอดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นสิ่งที่มาจากสหรัฐฯ

หากไม่มีปัจจัยอื่นมาเพิ่มเติม จีนจะคว้าโอกาสนี้เพื่อวิพาก์วิจารณ์สหรัฐฯ และเพิ่มอิทธิพลของตนเองในระดับโลก ด้วยการสนับสนุนอุดมการณ์ของปาเลสไตน์ในลักษณะที่ฟังแล้วสมเหตุสมผลต่อกลุ่มประเทศโลกใต้

มีความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยสำหรับจีนในการรักษาสถานะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ในปัจจุบัน เพราะท้ายที่สุดแล้ว ปักกิ่งยังสามารถหันไปหาผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อื่น ๆ เช่น ซาอุดิอาระเบียหรือรัสเซียได้หากจำเป็น ดังนั้น ไม่ว่าเราจะได้ยินภาษาอะไรก็ตามออกจากปากรัฐบาลจีนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ดูเหมือนว่าจีนไม่น่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งอย่างมีนัยสำคัญ

https://www.bbc.com/thai/articles/cr5mmvlnej1o