รพ.สนามแน่น ลุยทำ home isolation – เบตงดัน”ธารน้ำทิพย์”รับวัคซีน 70%
โรงพยาบาล ม.อ.จับมือภาคีเครือข่าย ผุดระบบ Home Isolation รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ลดความแออัดในโรงพยาบาลสนาม แก้ปัญหาเตียงเต็ม ด้าน สสจ.ยะลา เผยฉีดวัคซีนโควิดไปกว่า 35% เบตงดันธารน้ำทิพย์ หมู่บ้านต้นแบบรับวัคซีน 70%
วันจันทร์ที่ 9 ส.ค.64 ที่อาคารบริหารคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย รศ.นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ , นายแพทย์วีรพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 12 สงขลา , พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ และเครือข่ายด้านสาธารณสุขในจังหวัดสงขลา ร่วมแถลงข่าว “ความร่วมมือดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยระบบ Home Isolation ในจังหวัดสงขลา” ซึ่งผู้ป่วยที่จะเข้าสู่ระบบนี้ จะเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ที่พักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการดูแลที่เหมาะสม โดยการจัดระบบ Home Isolation
นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากสถานการณ์จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องปรับวิธีการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยขณะนี้จำนวนผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองเริ่มมีจำนวนมาก เป็นผลจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นและจากสายพันธุ์ของโรคโควิด-19 ทำให้การบริหารจัดการเตียงในโรงพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงโรงพยาบาลสนาม ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไป เป็นการรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองมากขึ้น และเพิ่มเติมระบบการดูแลผู้ป่วยที่พักรักษาตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation ขึ้นมา เพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับผู้ป่วยสีเหลือง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวควบคู่ไปด้วย
ด้านรองศาสตราจารย์นายแพทย์เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า “ศูนย์ดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ที่พักรักษาตัวที่บ้าน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์” เปิดบริการเพื่อแก้ไขปัญหาผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้โรงพยาบาลฯ ต้องปรับรูปแบบการดูแลผู้ป่วยใหม่ โดยให้ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มสีเขียว ซึ่งไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยให้พักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน แต่จะมีระบบการดูแลรักษาที่มีแพทย์คอยตรวจสอบอาการ โดยผู้ป่วยที่จะเข้าสู่ระบบ Home Isolation ของโรงพยาบาลฯ จะต้องผ่านการตรวจหาโควิดด้วยวิธี RT-PCR หรือ ตรวจด้วยชุด Antigen Test Kit เมื่อทราบผลตรวจเป็นบวก ต้องลงทะเบียนตัวเองผ่าน Application บันทึกอาการผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน ทำตามขั้นตอนและกรอกรายละเอียดและลงชื่อในใบยินยอม (Inform Consent) ที่อยู่ใน Application หลังจากนั้น ทางโรงพยาบาลจะส่ง “กล่องหายห่วง (Safe Box)” ไปให้ภายในกล่องประกอบด้วย เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจน ยาลดไข้ ยาแก้ไอและยาแก้แพ้ กรณีที่ยาหมดมีการจัดส่งยาไปให้ผู้ป่วยถึงที่บ้าน
นอกจากนี้ยังมี Application ที่จะคอยติดตามอาการรวมถึงสามารถพูดคุยและสอบถามทีมแพทย์และพยาบาลได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยได้เปิดศูนย์บัญชาการดูแลผู้ป่วย ไว้ที่องค์กรแพทย์บริเวณชั้น 2 ของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งในระยะแรกจะมีแพทย์ 3 คน พยาบาล 5 คน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนอีกจำนวนหนึ่ง คอยทำหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวทั้งในด้านการจัดส่งยา ส่งอาหาร วัสดุทางการแพทย์และสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นไปให้ ซึ่งการจัดระบบดูแลผู้ป่วยแบบ Home Isolation ในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงสมาคมสโมสรนักลงทุน ที่สนับสนุนพนักงานจัดส่ง หรือ ไรเดอร์ในการ จัดส่งสิ่งของต่างๆ ให้กับผู้ป่วยในแต่ละบ้านอีกด้วย
@@สสจ.ยะลา เผยฉีดวัคซีนโควิดไปกว่า 35 %
ในการที่แถลงข่าวการบริหารจัดการวัคซีนโควิด -19 จ.ยะลา ที่ห้องประชุมบุญสิทธิ์ โรงพยาบาลยะลา ซึ่งเป็นสถานที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นวันแรกแก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้า
นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวว่า ผลการดำเนินงานให้บริการวัคซีนโควิด -19 ณ วันที่ 8 ส.ค.64 จำนวน 123,811 ราย ร้อยละ 35.32 กลุ่มเป้าหมายรวมทุกกลุ่มจำนวน 338,640 ราย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องดำเนินการให้วัคซีนอย่างรวดเร็วทั่วถึง คือ กลุ่มผู้สูงอายุ 7 กลุ่มโรค ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง กลุ่มเป้าหมายนี้มี จำนวน 64,560 ราย ฉีดวัคซีนแล้ว 30,739 ราย ร้อยละ 47.06 อำเภอที่มีผลการดำเนินงานภาพรวมสูงสุด 3 อำเภอแรก คือ อ.เมืองยะลา ร้อยละ 62.44 อ.เบตง ร้อยละ 59.76 อ.ธารโต ร้อยละ 26.66 จะเห็นได้ว่า ช่วงนี้ประชาชนมีความสนใจและตื่นตัวในการรับบริการวัคซีนมากขึ้น จากการสื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องประกอบกับการได้รับการจัดสรรวัคซีนในจำนวนตามแผน รวดเร็วต่อเนื่องมากขึ้น
@@เบตงดันธารน้ำทิพย์เป็นหมู่บ้านต้นแบบรับวัคซีน 70%
ที่บ้านบาแตตูแง ม.2 ต.ธารน้ำทิพย์ อ.เบตง จ.ยะลา นายแพทย์สวรค์ กาญจนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเบตง นายวงศ์วิทย์ อัครวโรทัย สาธารณสุขอำเภอเบตง นำบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ออกหน่วยบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เชิงรุกให้กับประชาชนในพื้นที่ ต.ธารน้ำทิพย์ โดยมีนายมะยูโซ๊ะ สาลัง นายกเทศมนตรีตำบลธารน้ำทิพย์ เข้ารับการฉีดวัคซีนคนแรกในการออกหน่วยครั้งนี้ ซึ่งตลอดทั้งวันมีประชาชนกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 โรค หญิงตั้งครรภ์ ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์และกลุ่มประชาชนทั่วไปอายุตั้งแต่ 18-59 ปี ให้ความสนใจเข้ารับการฉีดวัคซีน กันอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้บ้านบาแตตูแง เป็นหมู่บ้านต้นแบบของ ต.ธารน้ำทิพย์ ในการฉีดวัคซีนสู่เป้าหมาย 70 % เพื่อแก้ไขปัญหาการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนในพื้นที่ ลดการติดเชื้อ ลดการป่วยรุนแรง และลดการเสียชีวิต และเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยตั้งเป้าหมายเข้ารับการฉีดวัคซีน จำนวน 600 คน และขอให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A. อย่างเคร่งครัด
@@โรงพยาบาลหลักนราฯ เตียงยังติดลบ 48 เตียง
ด้านรายงานข้อมูลเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ เป็นข้อมูล ณ เวลา 15.30 น. ของวันที่ 9 ส.ค.64 มีข้อมูลดังนี้
จ.สงขลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 1,027 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 805 เตียง คงเหลือ 222 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 3,740 เตียง ใช้ไป 2,909 เตียง คงเหลือ 831 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:207
จ.ปัตตานี โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 933 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 706 เตียง คงเหลือ 227 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 2,280 เตียง ใช้ไป 1,593 เตียง คงเหลือ 687 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:16
จ.ยะลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 791 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 623 เตียง คงเหลือ 168 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,088 เตียง ใช้ไป 741 เตียง คงเหลือ 347 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:105
จ.นราธิวาส โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 625 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 673 เตียง คงเหลือ -48 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,730 เตียง ใช้ไป 1,029 เตียง คงเหลือ 701 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:205
@@ปัตตานีติดเชื้อใหม่เกือบ 300 ราย นราฯเสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันจันทร์ที่ 9 ส.ค.64 มีดังนี้
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 296 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 11,811 ราย รักษาหายแล้ว 7,772 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 162 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 175 ราย โรงพยาบาลสนามจังหวัด 666 ราย โรงพยาบาลสนามเรือนจำ 128 ราย โรงพยาบาลประจำอำเภอ 1,011 ราย โรงพยาบาลชุมชน 465 ราย โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 10 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 53 ราย สิโรรส-ปาร์ควิว Hospitel 174 ราย Home Isolation 167 ราย ส่งต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) 7 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 4,293 ราย, อ.หนองจิก 1,485 ราย, อ.โคกโพธิ์ 587 ราย, อ.ยะหริ่ง 1,156 ราย, อ.สายบุรี 594 ราย, อ.ไม้แก่น 144 ราย, อ.แม่ลาน 219 ราย, อ.ยะรัง 1,217 ราย, อ.ปะนาเระ 551 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 261 ราย, อ.มายอ 1,033 ราย และ อ.กะพ้อ 143 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 227 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 8,645 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 2,082 ราย รักษาหายแล้ว 6,490 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 73 ราย อยู่ระหว่างรอผล 339 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 3,274 ราย, อ.กรงปินัง 666 ราย, อ.เบตง 457 ราย, อ.รามัน 812 ราย, อ.บันนังสตา 1,601 ราย, อ.กาบัง 279 ราย อ.ธารโต 739 ราย และ อ.ยะหา 817 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,082 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 209 ราย โรงพยาบาลเบตง 86 ราย รพช.6 แห่ง 328 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 78 ราย โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 716 ราย โรงพยาบาลสนามเบตง 25 ราย โรงพยาบาลสนามรามัน 2 แห่ง 229 ราย โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 86 ราย โรงพยาบาลสนามยะหา 83 ราย โรงพยาบาลสนามธารโต 3 ราย โรพยาบาลสนามกรงปินัง 87 ราย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 15 ราย รักษาตัวที่บ้าน 5 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 132 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ป่วยรายใหม่ 183 ราย แยกเป็น พื้นที่ อ.เมือง 21 ราย, อ.ตากใบ 2 ราย, อ.ยี่งอ 26 ราย, อ.จะแนะ 12 ราย, อ.แว้ง 1 ราย, อ.สุคิริน 2 ราย, อ.รือเสาะ 31 ราย, อ.ระแงะ 5 ราย, อ.ศรีสาคร 6 ราย, อ.เจาะไอร้อง 15 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 44 ราย และ อ.สุไหงปาดี 18 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 8,159 ราย รักษาหายสะสม 6,188 ราย ผู้เสียชีวิตใหม่ 3 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 89 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 1,823 ราย, อ.ระแงะ 919 ราย, อ.รือเสาะ 434 ราย, อ.บาเจาะ 519 ราย, อ.จะแนะ 473 ราย, อ.ยี่งอ 508 ราย, อ.ตากใบ 1,060 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 503 ราย, อ.สุไหงปาดี 474 ราย, อ.ศรีสาคร 331 ราย, อ.แว้ง 468 ราย, อ.สุคิริน 245 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 402 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 160 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ 134 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 26 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 14,415 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 14,392 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 3,277 ราย รักษาหายแล้ว 11,058 ราย ผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมรวม 80 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 411 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 3,963 ราย, อ.เมืองสงขลา 2,269 ราย, อ.จะนะ 1,534 ราย, อ.สิงหนคร 1,306 ราย, อ.สะเดา 937 ราย, อ.เทพา 840 ราย, อ.สะบ้าย้อย 604 ราย, อ.รัตภูมิ 355 ราย, สทิงพระ 332 ราย, อ.บางกล่ำ 286 ราย, อ.นาหม่อม 258 ราย, อ.นาทวี 228 ราย, อ.ระโนด 100 ราย, ควนเนียง 85 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 70 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 12 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,103 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 110 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย
ที่มา : https://isranews.org/article/south-news/south-slide/101353-covidsouthet.html