ข่าวในประเทศ

ยะลาทยอยเลิกหมู่บ้านเสี่ยง – นราฯป่วยโควิดดับวันเดียว 6 ราย

ยะลายกเลิก 2 หมู่บ้านเสี่ยงในเบตง – กาบัง หลังไม่พบป่วยโควิดนานกว่า 2 สัปดาห์ ด้านปัตตานีดึงผู้ประกอบการทำอาหารปรุงสุกส่งผู้ป่วยโควิดใน HI, CI, รพ.สนาม ขณะที่โรงพยาบาลศรีสาคร เร่งฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์ ส่วนที่นราธิวาส ป่วยโควิดเสียชีวิตวันเดียว 6 ราย

วันพุธที่ 11 ส.ค.64 นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดยะลา ได้มีประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดยะลา ที่ 213/2564 , 215/2564 เรื่อง ยกเลิกพื้นที่เสี่ยงเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 ในพื้นที่จังหวัดยะลา ในพื้นที่ 2 อำเภอดังต่อไปนี้

1.บ้านลาแล (กลุ่มบ้านลาแล) ม.5 ต.กาบัง อ.กาบัง จ.ยะลา มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.64
2.บ้านบูเก็ตดาราเซ (คุ้มบ้านบูเก๊ตดาราเซ) ม.8 ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา มีผลตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค.64

สืบเนื่องจากพื้นที่ควบคุมดังกล่าว ไม่พบผู้ป่วยยืนยันและกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคเป็นระยะเวลาติดต่อกันมากกว่า 14 วัน นับตั้งแต่ที่ทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดยะลา มีคำสั่งกำหนดให้เป็นพื้นที่เสี่ยง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19

@@ปัตตานีดึงผู้ประกอบการทำอาหารปรุงสุกส่งผู้ป่วยโควิดใน HI , CI และ รพ.สนาม

covidsouth11084

นายราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า จังหวัดปัตตานีได้มอบหมายให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผู้ป่วยในพื้นที่ที่อยู่ใน HI (Home lsolation) , CI (Community Isolation) และโรงพยาบาลสนามทั้ง 12 อำเภอ ได้ประสานสมาคมธุรกิจอาหารจังหวัดปัตตานีและร้านอาหารในพื้นที่ทั้ง 12 อำเภอ ภายใต้การตกลงของสมาคมธุรกิจอาหารจังหวัดปัตตานี ที่บริหารจัดการสลับหมุนเวียนกันเอง ในการดำเนินการจัดทำอาหารปรุงสุกพร้อมรับประทาน วันละ 3 มื้อ เช้า-เที่ยง-เย็น แล้วนำส่งมอบให้แก่ผู้ป่วยในพื้นที่ที่อยู่ใน HI และ CI แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี เรื่องความสะอาดคุณภาพอาหาร และถูกสุขลักษณะของอาหารปรุงสุก

ในปัตตานีมีผู้ป่วยที่อยู่ในระบบ HI มีจำนวน 167 แห่ง ซึ่งนำร่องในพื้นที่ อ.เมืองปัตตานี ส่วนผู้ป่วยอยู่ในระบบ CI มีจำนวน 14 แห่ง ซึ่งทางสมาคมธุรกิจอาหารจังหวัดปัตตานี ได้จัดสรรให้ร้านที่เป็นสมาชิกหมุนเวียน 7 วัน/ครั้ง/ร้าน เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเปิดร้านจำหน่ายอาหารแบบนั่งทานในร้านได้

โดยในวันนี้ (11 ส.ค.) ทางสมาคมธุรกิจอาหารจังหวัดปัตตานี ได้ประกอบอาหารปรุงสุกพร้อมรับประทานส่งศูนย์พักคอย จำนวน 3 มื้อ รวม 525 กล่อง เป็นเงิน 26,250 บาท โดยให้ 6 ร้านรับไปดำเนินการ และจากนี้ทางจังหวัดปัตตานี จะเร่งดำเนินการขยายไปยังอำเภอต่างๆ อีก 11 อำเภอ โดยการดึงร้านอาหารในชุมชนที่มีผู้ป่วยอยู่ในระบบ HI และโรงพยาบาลสนาม เพื่อกระจายรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการในชุมชนและพื้นที่ต่างๆในจังหวัดต่อไป

@@โรงพยาบาลศรีสาคร เร่งฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์

ที่ห้องประชุมธีรติ โรงพยาบาลศรีสาคร ได้มีบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลมารับการฉีดบูสเตอร์ เข็มที่ 3 โดยหลักเกณฑ์ของผู้ที่ได้รับการฉีดนั้น จะเป็นไปตามที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนด คือ ผู้ที่ฉีดซิโนแวค หรือ ซิโนฟาร์ม มาแล้ว 2 เข็ม จะได้ไฟเซอร์ เป็นเข็ม 3 , ฉีดวัคซีนอื่นมาแล้ว 1 เข็มจะได้ไฟเซอร์เป็นเข็ม 2 , หากยังไม่ได้รับวัคซีนใดๆมาก่อน จะได้ไฟเซอร์ 2 เข็ม, ส่วนใครเคยติดเชื้อแต่ยังไม่เคยได้วัคซีนจะได้ไฟเซอร์ 1เข็ม

นายแพทย์ประมวล ทองอินทราช ผอ.โรงพยาบาลศรีสาคร กล่าวว่า ได้รับวัคซีนไฟเซอร์มา 34 ขวด 204 โด๊ส ซึ่งการใช้งานต้องมีการผสมน้ำเกลือ เพราะเป็นวัคซีนเข้มข้น โดยต้องผสมให้ได้ตามสัดส่วนใน 1 ขวด จะฉีดได้ 6 คน หรือหากนับเป็นจำนวนเข็มที่ได้มาคือ 204 เข็ม เป็นไปตามที่ขอรับการจัดสรรไว้ โดยการฉีดรอบนี้จะฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งโรงพยาบาลศรีสาคร ที่เข้าตามเงื่อนไขที่กำหนดมา และเป็นการรับแบบสมัครใจ ส่วนรอบถัดไปจะเป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่รองลงไปจากบุคลากรทางการแพทย์

นางนริศสา ตานีเห็ง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ตึกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลศรีสาคร กล่าวว่า ขอบคุณผู้สนับสนุนวัคซีนไฟเซอร์ในครั้งนี้ ทางโรงพยาบาลศรีสาครก็ได้รับวัคซีนไฟเซอร์แล้ว ในส่วนของการปฎิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ของเราก็มีกำลังใจตรงนี้ ก็พร้อมจะดูแลคนไข้ต่อไป

@@ชาวอำเภอเบตงจูงมือแม่และผู้สูงอายุ walk in ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มพระราชทาน

covidsouth11083

ที่โรงพยาบาลเบตง อ.เบตง จ.ยะลา นายแพทย์สวรรค์ กาญจนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเบตง พร้อมเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ที่มีรายได้น้อย ที่ทยอยเข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มพระราชทาน จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในโครงการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มพระราชทานเทิดพระเกียรติพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงให้พี่น้องชาวเบตง ระหว่างวันที่ 11 -12 ส.ค.64 โดยมีลูกหลาน จูงมือแม่ และผู้สูงอายุ walk in เข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มพระราชทานอย่างเนืองแน่น

นายแพทย์สวรรค์ กาญจนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเบตง กล่าวว่า โรงพยาบาลเบตงได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม จำนวน 6,000 โดส ในโครงการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มพระราชทานเทิดพระเกียรติพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อฉีดให้แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ที่มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบางทางสังคม ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบนัดของวัคซีน รวมถึงผู้ต้องขังในเรือนจำอำเภอเบตง เรือนจำชั่วคราวทุ่งปูโป๊ะ ต.ยะรม อ.เบตง ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระราชทานแก่ประชาชนชาวอำเภอเบตงในครั้งนี้

น.ส.วรรณวิสาข์ พจนาประเสริฐ ชาวอำเภอเบตง กล่าวว่า ตนเองรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านทรงห่วงราษฎรในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา และเชื่อว่าการฉีดวัคซีนในครั้งจะสามารถช่วยป้องกันความรุนแรงของโรคโควิด-19 ได้ อยากเชิญชวนทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ จะทำให้เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การใช้ชีวิตกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง

@@ 4 จังหวัดชายแดนใต้เตียงรับผู้ป่วยโควิดยังเหลือว่าง

covidsouth11085

ด้านรายงานข้อมูลเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ เป็นข้อมูล ณ เวลา 15.30 น. ของวันที่ 11 ส.ค.64 มีข้อมูลดังนี้

จ.สงขลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 1,033 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 789 เตียง คงเหลือ 244 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 3,824 เตียง ใช้ไป 2,705 เตียง คงเหลือ 1,119 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:193

จ.ปัตตานี โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 933 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 706 เตียง คงเหลือ 227 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 2,280 เตียง ใช้ไป 1,569 เตียง คงเหลือ 711 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:16

จ.ยะลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 791 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 592 เตียง คงเหลือ 199 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,088 เตียง ใช้ไป 655 เตียง คงเหลือ 433 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:93

จ.นราธิวาส โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 697 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 654 เตียง คงเหลือ 43 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,730 เตียง ใช้ไป 972 เตียง คงเหลือ 758 เตียง ขณะที่อัตราส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:194

@@ปัตตานี-สงขลา ผู้ติดเชื้อใหม่เกิน 200 ราย นราฯ ป่วยโควิดเสียชีวิต 6 ราย

covidsouth11086

ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันพุธที่ 11 ส.ค.64 มีดังนี้

จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 220 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 12,243 ราย รักษาหายแล้ว 8,164 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 166 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 170 ราย โรงพยาบาลสนามจังหวัด 622 ราย โรงพยาบาลสนามเรือนจำ 128 ราย โรงพยาบาลประจำอำเภอ 934 ราย โรงพยาบาลชุมชน 511 ราย โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 10 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 48 ราย สิโรรส-ปาร์ควิว Hospitel 165 ราย Home Isolation 176 ราย ส่งต่อโรงพยาบาลอื่น 1 ราย

จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ระหว่างรักษารวม 4,673 ราย แยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 2,151 ราย, อ.หนองจิก 441 ราย, อ.โคกโพธิ์ 185 ราย, อ.ยะหริ่ง 435 ราย, อ.สายบุรี 168 ราย, อ.ไม้แก่น 21 ราย, อ.แม่ลาน 26 ราย, อ.ยะรัง 592 ราย, อ.ปะนาเระ 218 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 63 ราย, อ.มายอ 278 ราย และ อ.กะพ้อ 39 ราย

จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 79 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 8,789 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 1,978 ราย รักษาหายแล้ว 6,734 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 77 ราย อยู่ระหว่างรอผล 942 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 3,343 ราย, อ.กรงปินัง 672 ราย, อ.เบตง 475 ราย, อ.รามัน 818 ราย, อ.บันนังสตา 1,614 ราย, อ.กาบัง 282 ราย อ.ธารโต 744 ราย และ อ.ยะหา 841 ราย

ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 1,978 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 197 ราย โรงพยาบาลเบตง 76 ราย รพช.6 แห่ง 319 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 68 ราย โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 627 ราย โรงพยาบาลสนามเบตง 28 ราย โรงพยาบาลสนามรามัน 234 ราย โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 89 ราย โรงพยาบาลสนามยะหา 89 ราย โรงพยาบาลสนามธารโต 5 ราย โรพยาบาลสนามกรงปินัง 101 ราย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 17 ราย รักษาตัวที่บ้าน 41 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 87 ราย

จ.นราธิวาส มีผู้ป่วยรายใหม่ 162 ราย แยกเป็น พื้นที่ อ.เมือง 18 ราย, อ.ตากใบ 1 ราย, อ.ยี่งอ 1 ราย, อ.จะแนะ 1 ราย, อ.แว้ง 3 ราย, อ.สุคิริน 1 ราย, อ.บาเจาะ 7 ราย, อ.ระแงะ 81 ราย, อ.ศรีสาคร 4 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 23 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 4 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 8,497 ราย รักษาหายสะสม 6,615 ราย ผู้เสียชีวิตใหม่ 6 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 98 ราย

ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 1,865 ราย, อ.ระแงะ 1,001 ราย, อ.รือเสาะ 452 ราย, อ.บาเจาะ 541 ราย, อ.จะแนะ 485 ราย, อ.ยี่งอ 510 ราย, อ.ตากใบ 1,079 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 560 ราย, อ.สุไหงปาดี 478 ราย, อ.ศรีสาคร 345 ราย, อ.แว้ง 523 ราย, อ.สุคิริน 252 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 406 ราย

จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 272 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ 247 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 21 รายและผู้ติดเชื้อจากโครงการคนสงขลาไม่ทิ้งกัน 4 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 14,861 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 14,838 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,932 ราย รักษาหายแล้ว 11,848 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมรวม 81 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 1,153 ราย

จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 4,108 ราย, อ.เมืองสงขลา 2,319 ราย, อ.จะนะ 1,590 ราย, อ.สิงหนคร 1,393 ราย, อ.สะเดา 953 ราย, อ.เทพา 849 ราย, อ.สะบ้าย้อย 636 ราย, อ.รัตภูมิ 382 ราย, สทิงพระ 332 ราย, อ.บางกล่ำ 287 ราย, อ.นาหม่อม 264 ราย, อ.นาทวี 229 ราย, อ.ระโนด 100 ราย, ควนเนียง 90 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 71 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 12 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,103 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 120 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย

ที่มา : https://isranews.org/article/south-news/south-slide/101429-covidsouthev.html