บทความ

67 ปี หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา ถูกบังคับสูญหาย

13 สิงหาคม พ.ศ. 2497 หรือวันนี้เมื่อ 67 ปีที่แล้ว หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา ถูกบังคับสูญหายพร้อมกับลูกชายคนโตและเพื่อนรวม 4 คน ในขณะเดินทางไปยังกองบัญชาการตำรวจสันติบาลจังหวัดสงขลา

หะยีสุหลง เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2438 ที่หมู่บ้านกำปงอาเนาะรู อ.เมือง จ.ปัตตานี เป็นผู้รู้ศาสนาที่มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องเพื่อสิทธิของชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนโยบายดูดกลืนอัตลักษณ์ของรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

หะยีสุหลง ได้เคยกล่าวถึงปัญหาการถูกกดขี่จากเจ้าหน้าที่รัฐของชาวบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้เอาไว้ว่า “ราษฎรในขณะนั้นถูกเจ้าหน้าที่กดขี่เป็นอย่างหนัก หากมีอะไรที่ไม่พอใจก็ใส่ร้ายให้เป็นคดีผิดกฎหมาย โดยจับกุมพาไปยิงทิ้งกลางทาง และใส่ร้ายว่าต่อสู้เจ้าหน้าที่…เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนั้นมิใช่เกิดแก่คน 2-3 คน แต่เป็นสิบๆ คนในทุกอำเภอ ถ้าหากเราไปเจรจาโดยดีถูกต้องตามกฎหมายหรือขอร้องต่อหัวหน้าเจ้าหน้าที่ ผู้ที่ไปเจรจานั้นก็จะโดนข้อหาหนักยิ่งขึ้น…”

เมื่อการร้องเรียนจากชาวบ้านเรื่องการกดขี่ของเจ้าหน้าที่รัฐหนักขึ้น หะยีสุหลง ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี จึงตัดสินใจยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2490 ข้อเรียกร้องดังกล่าวมีทั้งหมด 7 ข้อคือ

1. ขอให้ปกครอง 4 จังหวัดนี้เป็นแคว้นหนึ่ง โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งอย่างสูงให้มีอำนาจในการศาสนาอิสลาม มีอำนาจแต่งตั้งและปลดข้าราชการออกได้ ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ต้องเป็นมุสลิมใน 4 จังหวัด
2. การศึกษาในชั้นประถมต้นจนถึงชั้นประถม 7 ให้มีการศึกษาภาษามลายู
3. ภาษีที่เก็บได้ให้ใช้ภายใน 4 จังหวัดเท่านั้น
4. ในจำนวนข้าราชการทั้งหมดขอให้มีข้าราชการชาวมลายูร้อยละ 80
5. ขอให้ใช้ภาษามลายูควบกับภาษาไทยเป็นภาษาราชการ
6. ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีเอกสิทธิ์ออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติการศาสนาอิสลามโดยความเห็นชอบของผู้มีอำนาจสูงสุด
7. ให้ศาลรับพิจารณาตามกฎหมายอิสลามแยกจากศาลจังหวัด มีโต๊ะกาลี (กอฎีหรือดะโต๊ะยุติธรรม) ตามสมควร และมีเสถียรภาพในการพิจารณาชี้ขาด

หลังได้รับข้อเรียกร้อง รัฐบาลของพลเรือตรีถวัลย์ตอบรับเพียงไม่กี่ข้อเท่านั้น เช่น การเปิดสอนภาษามลายูในโรงเรียน หรือการเพิ่มสัดส่วนของข้าราชการมลายูมุสลิม เมื่อข้อเรียกร้องไม่ได้รับการตอบรับทั้งหมด หะยีสุหลง จึงได้ก่อตั้งกลุ่มเพื่อเคลื่อนไหวให้ชาวมลายูมีสิทธิ์มีเสียงและก่อตั้งแคว้นตามขนบธรรมเนียมมลายูภายใต้ความคุ้มครองของรัฐบาลไทย

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญก็เกิดขึ้นเมื่อ พลโทผิน ชุณหะวัณ ทำรัฐประหารเข้ายึดอำนาจของรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 และรัฐบาลใหม่ที่นำโดยควง อภัยวงศ์ ได้เปลี่ยนท่าทีต่อปัญหาชายแดนภาคใต้ โดยมีนโยบายที่จะกำจัด “ตัวการที่คิดแบ่งแยกดินแดน” ซึ่งนั่นเป็นการพุ่งเป้ามาที่กลุ่มของ หะยีสุหลง

หลังจากนั้นไม่นาน หะยีสุหลง ได้ถูกจับกุมในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2491 ในข้อหา “ตระเตรียมและสมคบคิดกันคิดการจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครอง และเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไปและเพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอก” หะยีสุหลง ถูกพิพากษาให้รับโทษจำคุก 4 ปี 8 เดือน ที่เรือนจำบางขวาง ในข้อหาดูหมิ่นรัฐบาล แต่ยกฟ้องข้อหาแบ่งแยกดินแดน

หะยีสุงหลง ได้รับอิสรภาพในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2497 และอีกสองปีต่อมา หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา ก็ถูกบังคับให้สูญหายพร้อมกับลูกชายคนโตและเพื่อนอีก 2 คน ในขณะเดินทางไปยังกองบัญชาการตำรวจสันติบาลจังหวัดสงขลา

ครอบครัวของ หะยีสุงหลง ได้ออกสืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหายตัวไปของทั้ง 4 คนและคำตอบที่มีน้ำหนักที่สุดที่ได้คือข้อสรุปจากคณะกรรมการสะสางคดีในช่วงรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่บอกว่า หะยีสุงหลง ลูกชาย และเพื่อนอีก 4 คน ถูกฆ่าตาย “โดยรัดคอตาย แล้วผ่าศพผูกเสาซีเมนต์ไปทิ้งทะเลสาบสงขลา”

อ่านเรื่องราวของ หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา เพิ่มเติมได้ทาง

บีบีซีไทย : หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา : 66 ปี บังคับสูญหายผู้นำทางศาสนาและการเมืองคนสำคัญของปาตานี – https://bbc.in/3g062yu
ศิลปวัฒนธรรม : 16 ม.ค. 2491: “หะยีสุหลง” ถูกจับด้วยข้อหา “คิดการจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครอง” – https://bit.ly/3fVxihy
The Motive : TIME LINE ชีวประวัติของหะยีสุหลง – https://bit.ly/3yKXOBA