บทความ

การก่อการร้ายโลกขาลง-กลุ่มคนขาวผู้สูงส่ง (white supremacy) กำลังผงาดขึ้น

ที่มาภาพ: https://www.visionofhumanity.org/global-terrorism-index-2020-the-ten-countries-most-impacted-by-terrorism/

การบังคับใช้กฎหมายและปฏิบัติการทางทหารที่ลดลงรวมทั้งการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้กลุ่มรัฐอิสลาม (IS) และอัล-ไคดาปรับตัวเคลื่อนไหวผ่านเครือข่ายก่อการร้ายที่ฝังตัวในท้องถิ่น ขณะที่หน่วยงานต่อต้านการก่อการร้ายมุ่งความสนใจการขยายตัวของกลุ่มคนขาวผู้สูงส่ง (white supremacy) และกลุ่มหัวรุนแรงต่อต้านรัฐบาล ผลกระทบของ COVID-19 ทำให้เกิดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการก่อการร้ายที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคตหากข้อจำกัดได้รับการผ่อนคลายและการเข้าถึงเป้าหมายทำได้ง่ายขึ้น ชุมชนที่เปราะบางจาการแพร่ระบาดรวมทั้งความขัดแย้งไม่ปลอดภัยจะตกเป็นเป้าหมายของผู้ก่อการร้ายในการชักชวนสมาชิกใหม่และโฆษณาชวนเชื่อ[1]

รายงานของหน่วยเฉพาะกิจสหประชาชาติ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้ายระบุว่า อัล-ไคดาประสบปัญหาสูญเสียผู้นำระดับสูง ขณะที่ยังไม่มีประเทศใดยืนยันการเสียชีวิตของ Aiman Al-Zawahiri แต่ยืนยันการเสียชีวิตของ Abu Mohamed al-Masri รองผู้นำและการจับกุม Khalid Batarfi ในเยเมน – พื้นที่อิทธิพลของอัล-ไคดาในคาบสมุทรอาหรับ (AQAP) เครือข่ายอัล-ไคดาที่อันตรายที่สุดและเป็นภัยคุกคามระดับโลก สำหรับกลยุทธ์และทิศทางของกลุ่ม IS ภายใต้การนำของ Muhammad Sa’id Abdal-Rahman al-Mawla “ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ”

แม้กลุ่มรัฐอิสลามสูญเสียพื้นที่ควบคุมและผู้นำอัล-ไคดาถูกสังหาร แต่ทั้งสองกลุ่มยังคงรักษาอิทธิพลผ่าน เครือข่ายก่อการร้ายในแอฟริกาตะวันตก – มาลี บูร์กินาฟาโซ ลุ่มน้ำทะเลสาบชาดและซาเฮล รัฐอิสลามยังคงร่วมมือปฏิบัติการสั่นคลอนเสถียรภาพของภูมิภาค ในโซมาเลียกลุ่มอัล–ชาบับ เครือข่ายของอัล-ไคดายังคงเคลื่อนไหวโจมตีก่อการร้าย แม้จะต้องจัดการรับมือการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในชุมชน

รายงาน UN ตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มรัฐอิสลามในดินแดนซาฮารา (ISGS) สามารถสั่งการและควบคุมเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐอิสลามในแอฟริกากลาง (ISCAP) ใช้โซมาเลียเป็น “ศูนย์ส่งกำลังบำรุง” โจมตีข้ามพรมแดนครั้งแรกในแทนซาเนีย โดยพัฒนาและปฏิบัติการโจมตีในโมซัมบิก กลุ่มนี้มีขีดความสามารถในการโจมตีแบบประสานงานพร้อมกันด้วย

ในอัฟากานิสถานความร่วมมือระหว่างกลุ่มตอลิบานและอัล-ไคดาได้รับผลกระทบจากการเจรจาสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ ส่วนกลุ่มรัฐอิสลามจังหวัดโคราซาน (IS-K) อาจกำจัดกลุ่มคนที่ไม่พอใจการปรองดองและมีเจตนาก่อความรุนแรง ส่งผลให้อัฟกานิสถานยังคงเป็นประเทศที่ “ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายมากที่สุดในโลก”

สถานการณ์ก่อการร้ายดังกล่าวตรงข้ามกับความรุนแรงที่เกิดจากกลุ่มคนขาวผู้สูงส่ง กลุ่มหัวรุนแรงขวาจัด กลุ่มต่อต้านรัฐบาลและนักทฤษฎีสมคบคิด เห็นได้จากเหตุการณ์บุกยึดอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อ 6 มกราคม 2021 แม้การก่อจลาจลไม่ประสบความสำเร็จ แต่ได้รับการยกย่องจากกลุ่มหัวรุนแรงขวาจัด ปัจจุบันกลุ่มคนขาวผู้สูงส่งเรียนรู้การก่อการร้ายจากกลุ่มญิฮาดโดยเลียนแบบกลยุทธ์การเคลื่อนย้ายบุคคลากร (สมาชิก) แนวความคิดและขีดความสามารถในการเคลื่อนไหวข้ามพรมแดน

ผลกระทบของ COVID-19 ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนหลายประการเกี่ยวกับกลุ่มหัวรุนแรงขวาจัดและกลุ่มญิฮาดข้ามชาติ ตัวอย่างเช่น ในยุโรปช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการโจมตีที่ใช้เทคโนโลยีและต้นทุนต่ำมากขึ้น โดยบุคคลหรือกลุ่มเล็ก ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกลุ่ม IS หรือ อัล-ไคดา มีแนวโน้มว่าบุคคลหรือกลุ่มผู้ก่อเหตุอาจโจมตีในปารีส เดรสเดน นีซและลูกาโน รายงานสหประชาชาติระบุว่า การโจมตีในออสเตรีย (2 พฤศจิกายน 2020) เป็นฝีมือของกลุ่ม “สิงโตแห่งคาบสมุทรบอลข่าน (Lions of the Balkans)”

ด้วยข้อจำกัดจากการแพร่ระบาด COVID-19 และอุปสรรคการเข้าถึงเป้าหมายของผู้ก่อการร้ายจึงไม่น่าจะเกิดการโจมตีขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดี ขณะนี้อาจเป็นโอกาสในการวางแผนและเตรียมการโจมตีที่ซับซ้อน เมื่อมีการยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางในอนาคตอันใกล้ การที่คนหนุ่มสาวใช้เวลาออนไลน์มากขึ้นก็เป็นโอกาสของกลุ่มหัวรุนแรงในการเผยแพร่เรื่องเล่า ชักชวนสมาชิกและระดมพล

การเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน (disinformation) อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับ COVID-19 เทคโนโลยี 5G และการฉีดวัคซีนอาจก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลรุนแรงขึ้น นอกจากนี้เราอาจเห็นการเลือกปฏิบัติในชุมชน เป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด รวมทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือผู้สนับสนุนมาตรการป้องกันของรัฐบาล

ระหว่างช่วงต้นของการแพร่ระบาด พื้นที่ต่าง ๆ เช่น นิวยอร์ก ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียถูกเลือกปฏิบัติจากความเกลียดกลัวชาวต่างชาติ (xenophobia) ของผู้ที่เชื่อว่าจีนแพร่เชื้อไวรัส และอาจสลายไปเมื่อไวรัสแพร่กระจายไปทั่วโลก แต่อาจเพิ่มความตึงเครียดระหว่างชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งความเป็นไปได้ในการบรรเทาผลกระทบ

เกือบสองทศวรรษหลังการโจมตีสหรัฐฯเมื่อ 11 กันยายน 2001 ภูมิทัศน์การก่อการร้ายทั่วโลกดูกระจัดกระจายและหลากหลายมากขึ้น โดยแกนกลางของกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติถูกแทนที่ด้วยเครือข่ายในภูมิภาคที่มีความหลากหลายด้านอุดมการณ์ ขณะที่ชุมชนยังไม่หลุดพ้นจากความสูญเสียทางสังคม เศรษฐกิจและชีวิตอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาด กลุ่มหัวรุนแรงก็ยังสามารถสร้างความไม่พอใจให้กับผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติงานเนื่องจากรัฐบาลขาดแคลนทรัพยากรในการรับมือความสูญเสียจากการแพร่ระบาด

หน่วยงานต่อต้านการก่อการร้ายไม่ได้เริ่มต้นจากความว่างเปล่า แต่เรียนรู้และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมานานกว่าสองทศวรรษ ความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ความมั่นใจว่าสิ่งเหล่านี้เหมาะสมในการจัดการภัยคุกคามในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างทั้งด้านภูมิศาสตร์การเมือง เศรษฐกิจและสังคม

ที่มา: https://www.ianalysed.com/2021/03/white-supremacy.html