สงครามยูเครนจะดำเนินไปทางไหน? ส่อง 5 เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในปี 2023
นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า ศึกตัดสินอาจเกิดขึ้นในดูใบไม้ร่วง หลังจากรัสเซียรวบรวมสรรพกำลังเสร็จสิ้นแล้ว ขณะที่บางคนก็คาดว่า ยูเครนอาจสามารถชิงดินแดนที่เสียไปกลับมาได้ทั้งหมด นอกจากนั้นยังมีความเป็นไปได้ที่ วลาดิเมียร์ ปูติน จะประกาศหยุดยิงและประกาศชัยชนะ เพราะการเลือกตั้งสำคัญกำลังใกล้เข้ามา แต่สิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นเลยคือ การที่สงครามลากยาวสู่ปี 2024
สงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียกำลังจะเข้าสู่ปีปฏิทินที่ 2 รัสเซียเปิดฉากบุกโจมตียูเครนชนิดช็อกคนทั้งโลกเมื่อ 24 ก.พ. 2022 แต่การโจมตีที่ใครๆ ก็คาดว่าจะไม่นานกลับยืดเยื้อถึงทุกวันนี้ เพราะยูเครนตอบโต้อย่างหนัก ด้วยความสนับสนุนทางการเงินและอาวุธจากยุโรปกับสหรัฐฯ
การต่อสู้ที่เกิดขึ้นทำให้พลเรือนเสียชีวิตไปแล้ว 6,826 ศพ บาดเจ็บอีกว่า 10,769 ราย ตามการประเมินของสหประชาชาติ และเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤติผู้อพยพครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 100 ปี เกิดสงครามพลังงานระหว่างสหภาพยุโรปกับรัสเซียส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งสูงไปทั่วโลก
แล้วสงครามครั้งนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไร มันจะไปจบที่ตรงไหน หรือว่าสุดท้ายแล้ว มันจะยืดเยื้อออกไปอีกจนถึงปี 2024?
รัสเซียทุ่มกำลังโจมตีรอบใหม่ในฤดูใบไม้ผลิ
ฤดูหนาวที่มาถึงทำให้กองทัพของทั้งรัสเซียและยูเครนต้องชะลอปฏิบัติการของตัวเองลง แต่ฝ่ายยูเครนที่กำลังเข้าด้ายเข้าเข็มในการต่อสู้ใกล้เมืองเครมินนา และสวาตอฟ ซึ่งอาจทำให้กองทัพรัสเซียต้องถอยร่นถึง 40 ไมล์ ไปยังแนวป้องกันตามธรรมชาติแห่งต่อไป ซึ่งใกล้กับจุดที่พวกเขาเพิ่มการรุกรานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ลังเลที่จุดหยุดนายไมเคิล คลาร์ก ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันศึกษายุทธศาสตร์ ในเมืองเอ็กซิเตอร์ ในสหราชอาณาจักร คาดว่า ยูเครนอาจต้องจำยอมหยุดปฏิบัติการในภาคตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อฟื้นฟูเมืองเคอร์ซอน แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะข้ามไปทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำดนีโปรเพื่อโจมตีรัสเซียทีเผลอ มุ่งเป้าไปยังถนนและทางรถไฟสายสำคัญที่เชื่อมกับไครเมียแต่จุดเปลี่ยนสำคัญในปี 2023 คือ ปฏิบัติการโจมตีในดูใบไม้ผลิของรัสเซีย โดยปูตินเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า มีทหารเกณฑ์ใหม่ราว 50,000 คนเท่านั้นที่ถูกส่งมาอยู่ในแนวหน้าแล้ว ขณะที่อีกว่า 250,000 นายกำลังอยู่ในระหว่างการฝึกเพื่อเข้าร่วมสงครามในปีนี้
ยูเครนชิงดินแดนกลับคืนได้
ถ้าหากว่า กำลังเสริมของรัสเซียไม่ได้สงผลกระทบขนาดนั้น สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในปี 2023 อีกอย่างหนึ่งคือ ยูเครนอาจสามารถยึดดินแดนที่ถูกรัสเซียยกครองไปนอกจากแคว้นไครเมีย กลับคืนมาได้ทั้งหมด โดยในตอนนี้พวกเขาสามารถชิงคืนพื้นที่ที่เสียไปกลับมาได้มากกว่าครึ่งแล้ว นับตั้งแต่โดนโจมตีสายฟ้าแลบเมื่อ 24 ก.พ.
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังคงถกเถียงกันว่า ยูเครนจะสามารถยึดดินแดนกลับคืนมาได้หรือไม่ แต่ยูเครนแสดงให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าว่าพวกเขามีความมุ่งมั่นขนาดไหน ทั้งในศึกป้องกันเมืองมาริอูโปล ที่ทหารจำนวนไม่มากสามารถต้านทานการปิดล้อมของรัสเซียได้นานถึง 82 วัน ซื้อเวลาล้ำค่าให้กองทัพอื่นๆ กลับไปรวมตัวกันและรับอาวุธจากชาติตะวันตก
เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กองทัพยูเครนก็เพิ่งมีการโจมตีโต้กลับอันน่าทึ่งในภาคตะวันออกละภาคใต้ จนทหารรัสเซียต้องล่าถอยออกจากเมืองคาร์คิฟ และเมืองเคอร์ซอน ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ นายฟิลิป อินแกรม อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของกองทัพเชื่อว่า การปลดปล่อยเมือง เซเวโรโดเนตสก์, เมลิโตโปล หรือแม้แต่เมืองมาริอูโปล ก็สามารถเป็นไปได้
แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือยูเครนของชาติตะวันตก เพราะหากขาดการสนับสนุนด้านอาวุธไป คงเป็นเรื่องยากที่ยูเครนจะชิงดินแดนกลับมา หรือแม้แต่ต้านทานการโจมตีจากรัสเซีย
สงครามยืดเยื้อไม่รู้จบ
นางบาร์บารา ซานเชตตา จากคณะศึกษาสงครามของวิทยาลัย คิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ระบุว่า วลาดิเมียร์ ปูติน คาดว่ายูเครนจะรับความพ่ายแพ้ไปเอง โดยไม่คาดคิดว่าจะมีประเทศอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมมากขนาดนี้ ซึ่งนั้นเป็นการคำนวณผิดมหันต์ ทำให้สงครามยืดเยื้อ และไม่รู้ว่ามันจะไปจบที่ตรงไหน
รัสเซียพยายามใช้ฤดูหนาวเป็นอาวุธ โจมตีโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานของยูเครน เพื่อทำลายขวัญกำลังใจ แต่ฝ่ายยูเครนก็พิสูจน์แล้วว่าพวกเขาจะสู้ไม่ถอย ทำให้สงครามลากยาวออกไปเรื่อยๆ ในขณะที่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเจรจาก็แทบไม่มี เพราะต้องมีอย่างน้อยหนึ่งฝ่ายที่ต้องยอมเสียข้อเรียกร้องสำคัญของตัวเอง ซึ่งไม่น่าเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้
จุดจบของสงครามแบบนี้มักจะมาถึงก็ต่อเมื่อ ความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน มากจนทำลายความมุ่งมั่นของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ผู้นำระดับสูงของรัสเซียอาจหมดกำลังใจก่อน จนเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายใน หรืออาจเป็นฝ่ายชาติตะวันตก ที่ทนแรงกดดันภายในประเทศเรื่องค่าใช้จ่ายในสงครามไม่ไหว และลดการสนับสนุนยูเครนลง
สงครามยูเครนอาจกลายเป็นการต่อสู้ทั้งในสนามรบ, สนามเศรษฐกิจ และสนามการเมืองอันยาวนาน ซึ่งอาจยังคงดำเนินต่อไปแม้ปี 2023 จะผ่านพ้นไปแล้ว
ปูตินประกาศชัยชนะ
อย่างที่ระบุไปข้างต้น รัสเซียไม่คาดคิดว่าสงครามในยูเครนจะยืดเยื้อ และปี 2023 ถือเป็นปีสำคัญมากสำหรับรัสเซีย โดยเฉพาะสำหรับ วลาดิเมียร์ ปูติน เพราะรัฐบาลของเขาต้องเตรียมตัวเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งใหญ่ปี 2024 หากเขาจัดการสงครามยูเครนได้ไม่ดี หรือยอมให้สหรัฐฯ และยูเครนมากเกินไป การหาเสียงของเขาอาจจะมีปัญหา
เหตุผลนี้อาจเพียงพอให้ปูตินมีการตัดสินใจครั้งใหญ่ คือประกาศหยุดยิงด้วยตัวเอง และประกาศชัยชนะ อ้างว่าพวกเขาประสบความสำเร็จในการปกป้องกลุ่มผู้พูดภาษารัสเซียในภูมิภาคดอนบาส ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในสงครามนี้ และสามารถยึดเส้นทางภาคพื้นดินที่เชื่อมต่อรัสเซียกับแคว้นไครเมียได้สำเร็จ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของผู้ชนะ
แต่การหยุดยิงนี้อาจอยู่ได้ไม่นาน โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนประกาศกร้าวไว้แล้วว่า พวกเขาจะยึดคืนดินแดนกลับมาทั้งหมด ขณะที่สหรัฐฯ กับนาโต ก็อาจไม่ยอมรามือ เพราะพวกเขายอมรับไม่ได้ที่จะปล่อยให้ผู้นำเผด็จการได้รับชัยชนะในสงคราม
เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการใหญ่ของนาโตเคยกล่าวเอาไว้ว่า “ราคาที่เราจ่ายคือเงิน ขณะที่ราคาที่ชาวยูเครนจ่ายคือเลือด หากรัฐบาลเผด็จการเห็นว่า การใช้กำลังนั้นได้สิ่งตอบแทน เราทั้งหมดจะต้องจ่ายเยอะกว่านี้อีกมาก และโลกจะกลายเป็นโลกที่อันตรายมากขึ้นสำหรับพวกเราทุกคน”
ยูเครนได้รับชัยชนะ
นิยามคำว่าชัยชนะของยูเครนคือ การขับไล่กองทัพรัสเซียออกจากประเทศและชิงดินแดนกลับคืนมาทั้งหมด รวมถึงแคว้นไครเมีย ที่รัสเซียผนวกรวมเป็นของตัวเองเมื่อปี 2014 ซึ่งโมเมนตัมที่ยูเครนสร้างมา ทำให้เกิดความหวังว่า พวกเขาอาจทำได้สำเร็จ แม้ตอนนี้จะยังเร็วเกินไปก็ตาม
นายเบน ฮอดจ์ส อดีตผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ประจำภูมิภาคยุโรป กล่าวว่า เขาเชื่อเหลือเกินว่ายูเครนจะทำได้ ความเคลื่อนไหวอาจช้าลงในฤดูหนาว แต่ยูเครนจะรับมือได้ดีกว่ารัสเซีย เพราะได้รับอุปกรณ์สำหรับใช้ในฤดูหนาวจากทั้ง สหราชอาณาจักร, แคนาดา และเยอรมนี
ภายในเดือนมกราคม ยูเครนอาจอยู่ในตำแหน่งที่สามารถเริ่มปฏิบัติการขั้นสุดท้ายในการปลดปล่อยไครเมียแล้ว หากพวกเขาสามารถยึดเมืองเมลิโทโปลกลับมาได้สำเร็จ เพราะมันจะทำให้กองทัพยูเครนสามารถย้ายไปยังทะเลอะซอฟ ตัดเสบียงและการสื่อสารของไครเมียได้อย่างมีประสิทธิผล
แต่ฝ่ายรัสเซียจะไม่ยอมเสียไครเมีย นั่นเป็นเหตุผลที่ตอนนี้พวกเขาเสริมกำลังที่เมืองเมลิโทโปล และหากถึงที่สุดจริงๆ ปูตินอาจตัดสินใจใช้อาวุธต้องห้ามอย่าง อาวุธเคมี หรือกระทั่งอาวุธนิวเคลียร์ ตามคำพูดของเขาในวันขึ้นปีใหม่ที่ว่า นี่เป็นการต่อสู้ที่มีอนาคตของชาติเป็นเดิมพัน
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ โดย ทิตชนม์ สว่างศรี